คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ศาสนาเจ้าแม่ในเวียดนาม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงเราน่าจะไปเที่ยวประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเยอะๆ ผมว่าหากเรามีความสังเกตสังกาสักหน่อย เราจะได้อะไรมากโดยเฉพาะเกี่ยวกับความเชื่อและวัฒนธรรม

และนอกจากจะได้รู้จักเพื่อนบ้านแล้ว ยังจะได้ช่วยให้รู้จักตัวเราเองดีขึ้นด้วย และเมื่อรู้ว่าเราต่างมีรากฐานทางความเชื่อและวัฒนธรรมคล้ายกัน ก็จะได้ละเลิกอคติที่มีต่อกันเสียที

ผมเพิ่งกลับจากเวียดนามเหนือ (ฮานอยและฮาลอง) ไปทัศนศึกษากับบรรดาคณาจารย์และนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ โดยมีเวลาแค่สามวันเท่านั้น แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นซอกแซก เลยได้ข้อสังเกตอะไรมานิดๆ หน่อยๆ พอมาเล่าสู่กันฟัง (ประสาชะโงกทัวร์) และมีครูเป็นไกด์ชาวเวียดนามที่สื่อสารภาษาไทยและมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมตัวเองดีมากชื่อคุณบิ๊ก

ดังนั้น โปรดอย่าเพิ่งรีบเชื่อผมนะครับ เอาแค่ฟังเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อน ท่านไหนสนใจโปรดไปค้นคว้าต่อ

สิ่งแรกๆ ซึ่งสะดุดตาผมมากในเวียดนาม คือ ตามร้านค้าและศาสนสถาน ไม่ว่าจะศาลเจ้าหรือวัด จะมีถาดใส่ของไหว้อยู่ชนิดหนึ่งตั้งคู่กับผลไม้ต่างๆ เข้าไปดูใกล้ๆ คือ “ส้มโอมือ” ที่บ้านเราเอามาทำยาดมนั่นแหละครับ แต่ลูกใหญ่กว่าบ้านเรามาก

ถามคุณบิ๊กเขาก็บอกว่า เจ้าส้มโอมือนี้มันเป็นผลไม้กลิ่นหอม (แม้จะกินไม่ได้) จึงเอาตั้งไหว้พระเป็นของหอม และไม่แห้งเหี่ยวง่ายด้วย (ตั้งได้เป็นเดือนๆ) นอกจากนี้ มันยังมีรูปร่างเหมือนมือสีทองที่กำลังประนมไหว้ เหมาะควรแก่การไหว้พระ

มิน่าฝรั่งถึงเรียก Buddha hand fruit ซึ่งแปลมาจากภาษาจีนอีกที เข้าใจว่าเมืองจีนก็ใช้สิ่งนี้ไหว้พระ แต่ไม่ได้นิยมเท่าในเวียดนามแล้ว

ไกด์คุณบิ๊กเล่าถึงสถานการณ์ทางศาสนาในเวียดนามว่า ปัจจุบันนี้ มีชาวพุทธมหายานอยู่ประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นต์ มีชาวคริสต์รองลงมา ซึ่งมีจำนวนลดลงมากหลังการรวมประเทศ โดยปัจจัยทางการเมือง และมีผู้ไม่นับถือศาสนาจำนวนมาก ชาวเวียดนามแม้จะนับถือพุทธหรือไม่นับถือก็กราบไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณต่างๆ คือศาสนาพื้นเมือง และได้รับอิทธิพลทั้งเต๋าและขงจื่อจากจีนมาผสมผสาน

คืนหนึ่งเราเข้าไปชมการแสดงหุ่นกระบอกน้ำ การละเล่นเชิดหน้าชูตาของบ้านเขา รอบหนึ่งซึ่งมีชุดการแสดงสิบกว่าชุด ในโบรชัวร์ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยบอกว่ามีชุดการแสดงหนึ่งชื่อรำ “โป๊ยเซียน”

หะแรกผมก็นึกว่าจะเป็นโป๊ยเซียนแบบจีน ที่ไหนได้ เป็น “แปดนางฟ้า” คือน่าจะเรียกเซียนโกวไรงี้มากกว่า เป็นนางฟ้าแปดองค์ออกมาร่ายรำ สวยงามน่ารัก คือเป็นโป๊ยเซียนเวอร์ชั่นเวียดนามเอง

 

ครั้นไปชมอ่าวฮาลองและถ้ำมังกร คุณบิ๊กแกก็เล่าตำนานพื้นบ้านว่า มังกรซึ่งอาศัยที่มหาสมุทรรักชอบได้กันกับนางฟ้า ปรากฏว่านางฟ้าตั้งท้องมีลูกเป็นไข่หนึ่งร้อยฟอง นางฟ้าหอบลูกขึ้นไปบนภูเขาห้าสิบฟอง ทิ้งสี่สิบฟองไว้ที่ผืนน้ำ ต่อมาไข่ทั้งหมดแตกออกเป็นมนุษย์ คือบรรพบุรุษของคนเวียดนาม

ดังนั้น คนเวียดนาม (เผ่า) ที่อยู่บนภูเขาหรือที่อยู่ชายฝั่งทะเลล้วนเป็นพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันทั้งสิ้น

ฟังๆ ตำนานนี้ไปผมก็นึกถึงเรื่องนางนาคพระทอง คือมนุษย์ชายจากโลกอื่นมาสมสู่กับนางนาคแล้วเป็นบรรพชนคนเขมร แต่นี่กลับกันหน่อยตรงที่ฝ่ายมังกรเป็นชาย ฝ่ายหญิงเป็นเทพธิดา

คิดไปโดยใช้โครงเรื่องเดียวกันกับตำนานนางนาคพระทอง มังกรชายน่าจะมาจากจีนหรือเป็นตัวแทนของอารยธรรมจีน เช่นเดียวกับพระทองซึ่งสะท้อนความเป็นอินเดีย ส่วนนางฟ้าหรือเทพธิดาต่างหากที่เป็นพื้นเมือง เพราะไปที่ไหนชาวเวียดนามเขาล้วนไหว้เทพธิดาทั้งนั้น ไม่ได้กราบไหว้มังกร

ทำนองเดียวกับศาสนาในบ้านเราครับ ศาสนาผีพื้นเมืองเดิมของเวียดนามนั้นเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับเพศหญิงเป็นอย่างสูง ต่อมาแม้รับวัฒนธรรมและศาสนาจากจีนแล้ว ศาสนาพื้นเมืองก็เพียงแค่โดนฉาบไว้ด้วยรูปแบบ “คล้ายๆ จีน” เท่านั้นเอง แต่โดยแก่นยังเป็นแบบเดิมมาก

 

ผมมีโอกาสไปยังวัดเตริ่นกว๊อก ซึ่งว่ากันว่าเป็นวัดพุทธฝ่ายมหายานที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่ง สร้างในราวพุทธศตวรรษที่สิบหก มีส่วนที่สำคัญสามส่วน คือพระอุโบสถซึ่งประดิษฐานพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามคติมหายาน ที่น่าสนใจคือมีเทพเจ้าของศาสนาอื่นที่ “เป็นชาย” ประดิษฐานอยู่ด้วย เช่น กวนอู ซึ่งพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในจีนผนวกรวมเข้าไว้ในพุทธศาสนาในฐานะ “พระโพธิสัตว์วิหารบาล” (แคนั้มผ่อสัก) ผู้ปกป้องพุทธวิหาร

ส่วนที่สองคือพระสถูป ซึ่งอยู่ติดกับส่วนสำคัญที่สามคือวิหารพระบูรพาจารย์ ภายในวิหารพระบูรพาจารย์นอกจากจะมีรูปแกะสลักพระบูรพาจารย์แล้ว สองข้างของพระวิหารยังมีแท่นที่ประดิษฐาน “เจ้าแม่” ด้วยครับ

เจ้าแม่เหล่านี้ในเวียดนามเรียกว่า “เด่า เมิ้ว” (นักศึกษาเอกเวียดนามที่คณะช่วยออกเสียงให้ฟัง) ตรงกับภาษาจีนว่า “เต๋าหมู่” หรือ เจ้าแม่เต๋า คือการเชื่อมการนับถือเจ้าแม่ให้เข้ากับศาสนาเต๋าของจีน

มีองค์ที่สำคัญสามองค์ แต่ละองค์ทรงชุดต่างสีกัน ได้แก่ เจ้าแม่แห่งสวรรค์หรือฟ้า ทรงแดง เจ้าแม่แห่งแผ่นดิน ทรงเหลือง เจ้าแม่แห่งน้ำ ทรงขาว บางครั้งก็เพิ่มเจ้าแม่แห่งป่าเขา ทรงอาภรณ์เขียวเข้าไปอีกองค์

เจ้าแม่เหล่านี้คือมารดาผู้ก่อเกิดมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย บางครั้งศาสนาเจ้าแม่นี้จึงถูกเรียกว่า “ศาสนาแห่งสี่อาณาบริเวณ” คือ ท้องฟ้า แผ่นดิน ผืนน้ำ และป่าเขา

บางครั้งก็มีห้าองค์ สะท้อนธาตุทั้งห้า แต่นี่คือเจ้าแม่หลักๆ นะครับ ยังมีเจ้าแม่อีกหลายองค์ทั้งที่เป็นวีรสตรีในตำนานเวียดนาม หรือแม้แต่เทวีฮินดูในปราสาทหินบางแห่งก็ถูกแต่งองค์ทรงเครื่องกลายเป็น เด่าเมิ้ว เช่น “โป นครา” ซึ่งเดิมเป็นเทวรูป “พระทุรคาเทวี” ในปราสาทหินของจามในเวียดนามใต้ ปัจจุบันแต่งองค์ทรงเครื่องแบบจีน (เวียดนาม) จนจำไม่ได้แล้ว เว้นแต่ยังเห็นซุ้มมกรโตรณที่ติดอยู่ด้านหลังพอให้รู้ว่าเป็นเทวรูปฮินดู

ฉะนั้น ศาสนาเจ้าแม่เวียดนามก็คือศาสนาผีพื้นเมืองเวียดนามที่ถูกประดับด้วยเต๋าและอาศัยในพื้นที่ของพุทธศาสนา

 

พิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาเจ้าแม่ คือ “การเข้าทรง” ซึ่งจัดเป็นประจำ โดยคนทรงจะเข้ามาสวมชุดสีต่างๆ แล้วร่ายรำแสดงกิริยาต่างๆ กันของสตรีสมัยโบราณ ประกอบดนตรีดั้งเดิม เสร็จก็ให้พรและทำนายทายทัก

คนทรงเหล่านี้แต่เดิมเป็น “หญิง” ต่อมาก็มีคนทรงชายเพิ่มเข้ามา เพียงแต่คนทรงชายเมื่อเข้าทรงก็ต้องละทิ้งความเป็นชาย แต่งหน้าทาปากแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นหญิง และต้องฝึกฝนร่ายรำดุจเดียวกับผู้หญิงคนทรงทุกประการ

เสียดายว่าในช่วงที่ผมไปเวียดนาม เขายังไม่จัดพิธีเข้าทรงซึ่งปกติจะจัดในช่วงราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพาะปลูก

อันนี้ตรงกับช่วงเข้าทรงและไหว้ผีเดือนห้าของเรา เพราะตรงกับเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกเหมือนกัน

ในช่วงที่เวียดนามปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง พิธีกรรมเข้าทรงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในปัจจุบันอนุญาตให้กระทำได้ และเมื่อปี 2013 ยูเนสโกประกาศให้พิธีเข้าทรงเจ้าแม่ของเวียดนามเป็นมรดกโลกในทางวัฒนธรรม

สถานการณ์ของพิธีกรรมจึงเปลี่ยนไป พิธีกรรมเข้าทรงกลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาและได้รับความสนใจทั้งจากชาวเวียดนามเองและนักท่องเที่ยว ถึงขนาดมีการแสดง “เข้าทรง” ให้ชมกันในวาระพิเศษต่างๆ ด้วย เพราะรัฐบาลและนักอนุรักษ์เห็นว่า พิธีเข้าทรงมีคุณค่าสูงในทางศิลปวัฒนธรรม คือ มีทั้งดนตรี การร่ายรำ อุปกรณ์ข้าวของ เสื้อผ้าในพิธีกรรม สมควรจะภาคภูมิใจได้

ก็ได้แต่หวังว่า พิธีกรรมเข้าทรงเจ้าแม่ของเวียดนามจะไม่สูญเสียจิตวิญญาณเดิมจนกลายเป็นเพียงการแสดงให้นักท่องเที่ยวชมอย่างดาดๆ

เหมือนพิธีกรรมหลายอย่างของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ที่คุณค่าสูญหายเพราะการท่องเที่ยว

อุปส์