ปลัด มท. เปิดงานอัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival ชื่นชมพลังความสามัคคีของชาวพิบูลมังสาหาร และชาวอุบลราชธานี ในการจัดงานสงกรานต์ 30 วันตลอดทั้งเดือน

ปลัด มท. เปิดงานอัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival ชื่นชมพลังความสามัคคีของชาวพิบูลมังสาหาร และชาวอุบลราชธานี ในการจัดงานสงกรานต์ 30 วันตลอดทั้งเดือนเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี พร้อมเน้นย้ำให้ร่วมกันรักษาสิ่งที่ดีงามและถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้สืบสาน รักษา และต่อยอดสิ่งที่ดีงามนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

วันนี้ (9 เม.ย. 67) เวลา 16.00 น. ที่แก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานอัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ นายสรชาย ครองยุทธ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชน นักท่องเที่ยว และภาคีเครือข่ายกว่า 1,000 คน ร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ร่วมรับชมการแสดงหนูน้อยเริงเล่นเต้นวันสงกรานต์ โดยโรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลย์พิทยาคาร และประกอบพิธีเปิด รวมทั้งร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และร่วมเดินเยี่ยมชมให้กำลังใจผู้ประกอบการร้านค้าและทักทายนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในงาน โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความสุข ความชื่นมื่น และสนุกสนานของนักท่องเที่ยวและครอบครัว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ขอชื่นชมในความร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยท่านนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานีและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานีที่สามารถทำให้สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในรอบ 30 ปีได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะชูให้ Soft Power ได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F คือ อาหาร (Food), เทศกาลประเพณีไทย (Festival), ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting), การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ นำรายได้เข้าประเทศ

“จังหวัดอุบลราชธานี สามารถจัดงานอัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival ที่ครอบคลุมไปด้วยทุกอย่างที่เป็นเป้าประสงค์ของรัฐบาล ทั้งการประกวด Miss Queen แก่งสะพือ การทำบุญใส่บาตร การตำส้มตำ การเดินแฟชั่นผ้าไทยใส่ให้สนุก กีฬากลางแจ้งหว่านแหจับปลา และภาพรวมการจัดงานที่สามารถรองรับประชาชนทั่วสารทิศทั่วโลกให้มาชื่นชมดื่มด่ำกับงานครั้งนี้ที่เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชาวพิบูลมังสาหารและชาวอุบลราชธานีได้ตระเตรียมรับเป็นเจ้าภาพให้คนมาเล่นน้ำ มาร่วมสนุกในเทศกาลสงกรานต์ได้ทั้งเดือนเมษายน ภายหลังจากที่เมื่อก่อนเราเล่นกันแค่ 10 วันก็มีความสุขแล้ว แต่ชาวอุบลราชธานี ชาวพิบูลมังสาหารทำให้ เทศกาลสงกรานต์ (Water Festival) หรือ เทศกาลแห่งน้ำ แห่งความสดชื่น แห่งความชื่นชม สามารถรองรับผู้คนให้มาผ่อนคลายกับครอบครัว มาหาความสุข มาหาประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิตได้ถึง 30 วัน และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สรุปการจัดงานในครั้งนี้นำเสนอเพื่อคณะรัฐมนตรีได้ทราบต่อไปด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับการยืนยันจากทางจังหวัดอุบลราชธานีว่า ในแต่ละวันมีผู้คนนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอยวันนึงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และตัวเลขที่หน้าชื่นใจซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเราจัดงานกันมาไม่กี่วัน สามารถทำรายได้ทะลุ 60 กว่าล้านบาทแล้ว อันมีนัยสำคัญว่า คนพิบูลมังสาหาร คนอุบลราชธานี มีโอกาสในการใช้จุดแข็ง “แก่งสะพือ” แห่งนี้ให้ต่อเนื่องต่อไป จึงขอให้นายอำเภอพิบูลมังสาหารร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และพี่น้องประชาชน ทำนุบำรุงดูแลแก่งสะพือของเราให้มีความสะอาดสวยงามเพิ่มมากขึ้น จากที่มีความสะอาดสวยงามอยู่แล้ว เพื่อที่จะทำให้พี่น้องที่กรุณามาร่วมงานได้มีความมั่นใจว่า ในปีหน้า 30 วันแห่งความสุขของเทศกาลวันสงกรานต์ นอกจากนี้ ในวันนี้พวกเรายังได้ร่วมกันมีความสุขที่ได้มีโอกาสมาชื่นชมลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติได้แสดงออกถึงสิ่งที่เรียกว่า “เป็นผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของบ้านเรา ทั้งการแต่งกาย การเต้นรำ การแสดงประกอบเพลง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเราทุกคนมั่นใจได้ว่าในอนาคตประเทศของเรา จังหวัดอุบลราชธานีของเรา จะมีลูกหลานผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยให้ต่อเนื่องยั่งยืนขึ้นไป

“ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของการเสด็จพระราชดำเนินมาบำรุงขวัญของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้ง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เป็นสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจและร่วมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและนายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ร่วมกันอนุสรณ์ว่า แม้เดือนพฤศจิกายนน้ำจะเต็มตลิ่ง แต่ถ้าพวกเราชาวพิบูลมังสาหาร ชาวอุบลราชธานี สามารถร่วมกันจัดงานย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งนี้ ทั้งการจัดนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของลูกหลาน การแสดงแบบผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะทำให้อำเภอพิบูลมังสาหารแห่งนี้ ได้มีวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่จะหลอมรวมพลังความรู้รักสามัคคี หลอมรวมพลังแห่งความจงรักภักดีของคนในชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น และถือว่าแก่งสะพือ มีความสำคัญกับพี่น้องประชาชนชาวอุบลราชธานี และชาวพิบูลมังสาหาร เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยในปีนี้ ได้มีการขอความอนุเคราะห์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับลดระดับแม่น้ำมูล ทำให้กลับมาเห็นความสวยงามของแก่งสะพืออีกครั้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ระลึกถึงอดีตที่เคยเป็นที่นิยมและได้เล่นน้ำในแก่งสะพือ ทำให้อำเภอพิบูลมังสาหาร กลับมาคึกคักอีกครั้ง

“จังหวัดอุบลราชธานีและเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้ดำเนินการจัดงาน “อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 World Songkran Festival” ขึ้น โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ 1. สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ 2. การประกวดนางสงกรานต์ 3. การประกวดขบวนแห่ส่งเสริมวัฒนธรรม และ Soft Power 4. การประกวดนางสาวพิบูลมังสาหาร 5. การประกวดก่อเจดีย์ทราย 6. การแข่งขันเส็งกลองขนาดเล็ก และ ขนาดใหญ่ 7. การแข่งขันบักข่ง (ลูกข่าง) 8. การประกวดส้มตำลีลา 9. การประกวด Miss Queen แก่งสะพือ 10. การแข็งขันกินซาลาเปา 11. การประกวด เดี่ยวพิณ เดี่ยวแคน 12. การแข่งขันชกมวยทะเล 13. การแข่งข้นหว่านแหหาปลา และกิจกรรม “ดนตรีและสายน้ำ ชุ่มฉ่ำกันทั้งเดือน” ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 เมษายน 2567″ นายศุภศิษย์ กล่าวเพิ่มเติม