กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประชุมร่วมกับ UN และมูลนิธิ World Childhood Foundation นำเสนอการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประชุมร่วมกับ UN และมูลนิธิ World Childhood Foundation นำเสนอการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนงานด้านเด็กและสตรี

วันนี้ (3 เม.ย. 67) เวลา 16.30 น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และการเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล (Mrs.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator: UNRC) คุณแอนนา ฮัมมาร์เกรน (Ms. Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย คุณเรอโน เมเยอร์ (Mr. Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณคยองซอน คิม (Ms. Kyungsun Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ คุณมาริสา ปัณยาชีวะ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยมี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสตรีและเด็ก และคุณชเล วุทธานันท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SafeguardKids และประธานมูลนิธิ SafeguardKids ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการเตรียมการ โดยมี คุณสเวน ฟิลลิป ซอเรนเซน (Mr. Sven Philip-Sörensen) ผู้แทนมูลนิธิ World Childhood Foundation ในสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลจากประเทศสวีเดน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood Foundation ร่วมกับเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย คณะผู้แทนจากสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) มูลนิธิ World Childhood Foundation ในสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน และมูลนิธิ SafeguardKids ประเทศไทย รวมถึงได้รับเกียรติจากคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสตรีและเด็ก ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดนทรงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งพระองค์จะทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยในระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2567 นี้ โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ การดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความดูแลช่วยเหลือผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทยที่ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นบุคลากรของภาครัฐที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง และสร้างบาดแผลความบอบช้ำให้กับคนในสังคม ทั้งทางกายภาพ และทางด้านจิตใจ ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์นี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มที่แสวงหาประโยชน์ต่างพัฒนารูปแบบแอบแฝงเข้ามาหาประโยชน์ในประเทศโดยผ่านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี ปกป้องกันภัย รักษาชาติไทยให้มั่นคง ด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันและปราบปรามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของคนในสังคม กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเป้าหมายในการดูแลสวัสดิภาพให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งในมิติการป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภัยและความรุนแรงต่าง ๆ และเดินหน้าปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการค้นหาปัญหาครัวเรือนจากระบบ ThaiQM เพื่อพัฒนาคนและสังคมในทุกมิติโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน สำหรับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก นอกจากจะใช้กฎหมาย กำลังคน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้น ปัญหาการค้ามนุษย์ย่อมเป็นหนึ่งในปัญหาที่เราทุกคนไม่อาจมองข้ามไปได้ การสร้างความตระหนักรู้จะช่วยทำให้เราทุกคนได้ช่วยเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมได้ร่วมกันช่วยเหลือและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น

“การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ผู้เป็นตัวแทนของการต่อต้านการค้ามนุษย์ และใช้แรงงานเด็ก จะช่วยส่งเสริมความมีส่วนร่วม (Partnership) ของทุกหน่วยงาน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับสากล ทำให้เกิดความตระหนักรู้ และการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทั่วโลก ซึ่งโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่คณะผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ และมูลนิธิ World Childhood Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิในพระราชดำริของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ที่ทรงมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ได้รับการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพ อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการส่งเสริมการศึกษาเด็กและเยาวชนที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของกระทรวงมหาดไทย ที่น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” รวมถึงพระราชปณิธานในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่ง” ดร. วันดี กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน คุณกีต้า ซับบระวาล (Mrs.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator: UNRC) กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งตนในฐานะตัวแทนขององค์การสหประชาชาติ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทย และทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงองค์กรตุลาการ ศาลยุติธรรม และศาลเยาวชนและครอบครัว ต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ดังนั้น ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศจะขอเป็นตัวแทนไปร่วมหารือกับเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อร่วมสนับสนุนภารกิจการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมืออย่างจริงจังและสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาคมโลกรับทราบถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของคนทั้งโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

โอกาสนี้ คุณสเวน ฟิลลิป ซอเรนเซน (Mr. Sven Philip-Sörensen) ผู้แทนมูลนิธิ World Childhood Foundation ในสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน กล่าวว่า ตนชื่นชมการทำงานของภาครัฐ และภาคีเครือข่ายของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ในระดับชุมชน/หมู่บ้านไปจนถึงระดับสากล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง และสร้างโอกาสให้กับคนทั่วโลกในการป้องกันความรุนแรง และการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้แสวงหาประโยชน์เหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันปัญหานี้มิได้เกิดขึ้นแต่ในเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรี และเยาวชน แต่รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วย

คุณแอนนา ฮัมมาร์เกรน (Ms. Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย (The Ambassador of Sweden to Thailand) กล่าวว่า ตนรู้สึกขอบคุณ และเป็นเกียรติ รวมถึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสสนับสนุนความร่วมมือของทุกหน่วยงานซึ่งคาดว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน จะช่วยทำให้เกิด Momentum for Change ให้กับสังคมโลกได้อย่างแท้จริง และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถสร้าง Awareness ให้เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย อาทิ กรมการปกครองนำเสนอ เรื่อง ภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ตามมาตรการ 8 ด้าน 1) ด้านการป้องกัน 2) ด้านการสกัดกั้น 3) ด้านการปราบปราม 4) ด้านการเข้าถึงเครือข่ายค้ามนุษย์ 5) ด้านการรับแจ้งข้อมูลข่าวสารการค้ามนุษย์ 6) ด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 7) ด้านการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ 8) ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรับรู้เข้าใจ นอกจากนี้ กรมการปกครองได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการการคัดแยกเพื่อเป็นสถานที่สำหรับคุ้มครองและแสวงหาข้อเท็จจริงบุคคลที่คาดว่าจะตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความรุนแรงและการค้ามนุษย์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำเสนอ เรื่อง บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาปฐมวัย ใน 4 ด้าน 1) ด้านงบประมาณ 2) ด้านพัฒนาผู้เรียน 3) ด้านพัฒนาบุคลากร 4) ด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงภารกิจครอบคลุมด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน และเรื่องสุขภาพอนามัยขั้นปฐมภูมิ ตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนที่ส่งเสริมและพัฒนาสัมมาชีพ ในด้านการดูแลช่วยเหลือสตรีโดยกองทุนบทบาทพัฒนาสตรีอีกด้วย

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood