กรมพัฒน์ ปักหมุดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค Up Skill แรงงานรับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร ท่องเที่ยว ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะแรงงานเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ต่อยอดพัฒนากำลังคนในพื้นที่ รับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตร-อาหาร ดิจิทัลและอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากมติของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน 5 ด้าน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ นั้น กรมฯ ได้สำรวจความต้องการจากสถานประกอบกิจการในเขตพื้นที่ดังกล่าว พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมีความต้องการแรงงานในตำแหน่ง ฝ่ายผลิต นักวิจัย และพนักงานขับรถโฟร์คลิฟท์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความต้องการแรงงานในตำแหน่ง วิศวกร ช่างเทคนิค ช่างควบคุมเครื่องจักร ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีความต้องการแรงงานในตำแหน่ง พนักงานต้อนรับส่วนหน้า พนักงานบริการ พนักงานดูแลสุขภาพแบบองค์รวม สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการแรงงานในตำแหน่ง นักพัฒนาระบบ นักออกแบบระบบ เจ้าหน้าที่ส่งออกต่างประเทศ

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า จากตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่สถานประกอบกิจการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีความต้องการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบหมายให้หน่วยงานของกรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค พัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการ ทักษะที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่สถานประกอบกิจการต้องการ ซึ่งในแต่ละภาคได้กำหนดจุดเน้นที่แตกต่างกันไป ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง เน้นการพัฒนาฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ NEC – Creative LANNA ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เน้นการเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ หรือ NeEC – Bio Economy ส่วนระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี มุ่งเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทค เชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร พื้นที่โดยรอบและเขต EEC ด้วย และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ประกอบด้วย ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ที่เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติสก์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน

“เพื่อให้การพัฒนาทักษะสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 4 ภาค กรมจึงกำหนดหลักสูตรการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ดังกล่าวพร้อมตั้งเป้าหมายดำเนินการไม่น้อยกว่า 540 คน เพื่อป้อนสถานประกอบกิจการภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย” อธิบดีบุปผา กล่าวทิ้งท้าย