ปลัด มท. ย้ำ “ผ้าไทยจะยั่งยืนได้ด้วยพลังลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่” นายกฯแม่บ้าน หนุนใช้หลัก 4P

ปลัด มท. ย้ำ “ผ้าไทยจะยั่งยืนได้ด้วยพลังลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่” ด้าน นายกแม่บ้าน มท. หนุนใช้หลัก 4P : Product Price Place Promotion เป็นแนวทางพัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดผ้าไทยครบวงจร ในการโค้ชชิ่งถ่ายทอดความรู้แฟชั่นสมัยใหม่สู่การสร้างรายได้และอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน ณ มศว. ประสานมิตร

วันนี้ (17 มี.ค. 67) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศูนย์บริการวิชาการ ชั้น 15 อาคารบริการ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 5 พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า” โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายกิติพล เวชกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ดร.กรกลด คำสุข ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 120 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยและเป็นพระกรุณาคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนักมาโดยตลอด เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้พี่น้องประชาชนชนบทในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจุดเริ่มต้นของผ้าไทยเกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ทอดพระเนตรเห็นผู้ที่สวมใส่ผ้ามัดหมี่จากการทอของชาวบ้านเอง จึงเกิดเป็นแนวพระดำริในการทำให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก เกิดการรวมกลุ่มทอผ้า ก่อเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ผ้าไทยได้รับการฟื้นคืนชีพมาจนถึงปัจจุบัน

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงนำเอาสิ่งที่เคยรุ่งเรืองแต่กลับถูกหลงลืมหรือให้ความสำคัญน้อยลงไป นั่นคือ “การสวมใส่ผ้าไทย” โดยทรงลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย และพระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อผ่าทางตันผ้าไทย ที่จากเดิมเราเคยมองว่าผ้าไทยนั้นล้าสมัย ทำให้ผ้าไทยใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ทั้งการพัฒนาต่อยอดลายผ้าและพระราชทานลายพระราชทานในหลายลายหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ประกอบการผ้าได้นำไปสร้างสรรค์ออกแบบและยกระดับผลิตภัณฑ์ ทั้งยังทรงตรากตรำพระวรกาย เป็นภาพที่พวกเรามิรู้ลืม คือ พระองค์เสด็จไปทรงงานที่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และพระราชทานคำแนะนำเทคนิควิธีการปรับเปลี่ยนปรับแต่งลายผ้าโบราณ จากเดิมที่เป็นลายใหญ่ให้เป็นลายเล็ก ลายที่มีความห่างให้ใกล้ชิดกัน รวมถึงนำลายต่าง ๆ มาผสมกัน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตลอดจนใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า ใช้สี “Pantone” ในการย้อมผ้า ทำให้ผ้าไทยมีความเป็น “วาไรตี้” จากเดิมย้อมครามที่เข้มก็ทำให้อ่อนลง มีเฉดสีที่หลากหลายสวยงาม ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การโค้ชชิ่งเป็นวิธีการที่เป็นต้นน้ำของการทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม กลางน้ำคือการออกแบบดีไซน์ตัดเย็บให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส โดยมีคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยทำให้ผ้าไทยเกิดแฟชั่นใหม่ ๆ นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังได้พระราชทานแนวทางให้ผู้นำของสังคมช่วยกันเป็น “Influencer” แฟชั่นผ้าไทย ตลอดจนมุ่งมั่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้เรื่องแฟชั่น เป็นที่มาของการฝึกอบรมลูกหลานเยาวชน ทำให้กลุ่มทอผ้าได้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอันเป็นมหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญา ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลางน้ำด้วยการออกแบบตัดเย็บให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาด และปลายน้ำคือการตลาดและเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ซึ่งการโค้ชชิ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการขับเคลื่อนตามวัตถุประสงค์ของโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อส่งเสริมให้เกิดดีไซน์เนอร์ผู้มีองค์ความรู้ในแฟชั่นสมัยใหม่และสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป

“ขอให้พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ตระหนักว่า อาชีพการทอผ้าเป็นอาชีพที่จะช่วยรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้อยู่ต่อ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ และความมั่นคงด้วยการพึ่งพาตนเอง ช่วยกัน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภูมิปัญญาไทยและงานหัตถกรรมไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ข้าวของเครื่องใช้ให้กับลูกหลานของคนไทย ตลอดจนถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้อยู่กับเราตราบนานเท่านาน ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่หรืออารยเกษตร โดยมีเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จึงขอขอบคุณทุกคนที่จะช่วยกัน ทางกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยยืนยันว่า เราจะสนับสนุนน้อง ๆ ทุกคนที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงทำให้คนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยอยู่คู่ลูกหลานคนไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งภูมิปัญญาผ้าไทยต้องมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ถูกใจกับผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย และใช้ได้ในทุกโอกาส ซึ่งทั้งหมดจะยั่งยืนได้ขึ้นอยู่กับพวกเราที่เป็นลูกหลาน ที่จะมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน นำเอาคงความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีเพื่อคนไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กราบเพิ่มเติม

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบกับน้อง ๆ มศว. ได้มาอบรมโค้ชชิ่ง น้อมนำพระดำริโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระองค์ทรงเป็นดีไซเนอร์และมีแบรนด์ SIRIVANNAVARI ที่พระองค์มุ่งมั่นที่จะทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยและผู้ประกอบการผ้าด้วยการยกระดับปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้ใช้ทักษะฝีมือ ความละเอียด ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ทำให้เกิดแบรนด์ เกิดการตลาด เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีมูลค่า ดังนั้นขอให้ทุกคนได้ระลึกถึงความสำคัญของการนำองค์ความรู้ไปประกอบอาชีพ ที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ตามหลัก 4P คือ “Product” และ ราคา “Price” รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์มุ่งเน้นให้กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าได้เพิ่มคุณค่าในชิ้นงาน ทำให้ภูมิปัญญาไทยมีมูลค่าเพิ่ม เป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนช่องทางสถานที่ “Place” คือ มีช่องทางการจัดจำหน่าย และ “Promotion” โดยใช้การตลาดด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood