ปลัด มท. ตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย OTOP – ผ้าไทยใส่ให้สนุก – MOU คณะสงฆ์ ในพื้นที่อำเภอคำชะอี

ปลัด มท. ตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย OTOP – ผ้าไทยใส่ให้สนุก – MOU คณะสงฆ์ ในพื้นที่อำเภอคำชะอี เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ – นายอำเภอ เป็นผู้นำบูรณาการสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 มี.ค. 67) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์โอทอป บ้านซ่ง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่เยี่ยมชมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และงานหัตถกรรมของดี 9 ตำบล อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้ประกอบการ นักเรียน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและนำชม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม OTOP บ้านซ่ง อาทิ การทำหมวกเสื่อกกของกลุ่มทอเสื่อกก ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร กลุ่มสตรีเสื้อเย็บมือบ้านกกไฮ กลุ่มทอผ้าบ้านม่วง หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า กลุ่มทอผ้าพื้นบ้านแปรรูป หมู่ที่ 5 ตำบลคำบก กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองหนองเอี่ยนดง หมู่ที่ 9 การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากดอกช้างน้าว และให้กำลังใจนักเรียนชมรม TO BE NUMBER ONE โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องสมาชิกกลุ่ม OTOP บ้านซ่ง ผู้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้งแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” ด้วยการออกแบบลวดลายผ้าที่มีการนำลวดลายโบราณของบรรพบุรุษมาผสมผสานต่อยอดกับแบบลายผ้าพระราชทาน ทำให้ผืนผ้ามีความสวยงาม ทันสมัย และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของโลกใบเดียวนี้ ด้วยการใช้สีธรรมชาติจากดอกช้างน้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดมุกดาหาร และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร

“ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ เป็นผู้นำการหนุนเสริมสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก และ Sustainable Fashion” สู่การขยายผลในทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ที่พี่น้องประชาชนประกอบอาชีพการทอผ้า และงานหัตถกรรมทุกชนิด เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการบ่มเพาะประสบการณ์ และทักษะด้านการประกอบอาชีพ ที่จะส่งผลทำให้เกิดการพัฒนากระบวนงาน ทั้งในด้านของรูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการใช้สีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปลูกพืชพันธุ์ไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเกิดการทดแทนพันธุ์พืชให้สีธรรมชาติที่ถูกนำไปใช้ในการย้อมสีผ้า และประการที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เป็นกำลังสำคัญในการสืบสาน รักษา และต่อยอดสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ให้คงอยู่คู่อำเภอคำชะอีตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

จากนั้น เวลา 15.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปยังวัดโพธิ์ศรี บ้านดงภู่ ต.น้ำเที่ยง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยเป็นประธานถวายถ้วยรางวัลชนะเลิศการเส็งกลองกิ่ง (จึ่ง) งานบุญผะเหวดบุญเดือน 4 แด่พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี เพื่อเป็นรางวัลให้กับทีมชาวบ้านที่จะเข้าแข่งขัน ในระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2567 พร้อมทั้งรับชมการแสดงฟ้อนรำ “ออนซอนชนเผ่าชาวคำชะอี” ของกลุ่มสตรี 5 ชนเผ่าในพื้นที่ และรับชมการสาธิตเส็งกลองกิ่ง ระหว่างชุมชนบ้านดงภู่ หมู่ที่ 5 กับหมู่ที่ 11 และร่วมเส็งกลองกิ่ง กับนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และเยี่ยมชมโครงการกุฏิชีวาภิบาล ศูนย์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอกราบอนุโมทนาสาธุการพระเดชพระคุณ พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ผู้เป็นหลักชัยของพี่น้องสาธุชนตำบลน้ำเที่ยงแห่งนี้ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด “กลองกิ่ง” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นกลองที่อยู่คู่ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อำเภอคำชะอีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ไทกะเลิง ย้อ ข่า และชาวไทยอิสาน ในงานประเพณีฮีต 12 หรือเทศกาลต่าง ๆ เช่น บุญผะเหวด บุญบั้งไฟ บุญแข่งเรือ งานบุญ งานบวช งานแต่งงาน แห่กัณฑ์หลอน บุญกฐิน พิธีสืบชะตา โดยเชื่อกันว่าเสียงของกลองจะดังไปถึงพญาแถน เมื่อพญาแถนได้ยินเสียงกลองกิ่งเป็นสัญญาณให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และยังเชื่อกันว่าความดังของเสียงกลองกิ่งจะดังถึงผีสางเทวดาให้รับรู้แทนคำพูดของมนุษย์ ส่วนด้านความสัมพันธ์กับสังคม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำกลองส่วนใหญ่จะมีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม หากเป็นผู้ตีกลองก็มักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ นิสัยร่าเริง รู้จักให้อภัยผู้อื่น สำหรับช่างทำกลองเป็นผู้มีภูมิปัญญา ใช้ความสามารถและเทคนิคต่าง ๆ สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ตกแต่งวัสดุ ทำให้เกิดเสียงเพื่อเป็นสัญญาณต่าง ๆ ตลอดจนถึงการขับเคลื่อนโครงการกุฏิชีวาภิบาล ศูนย์ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่เป็นสถานที่ที่มีคุณประโยชน์ในการดูแลรักษาพระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธในขั้นปฐมภูมิ โดยมีคุณหมอ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดูแลสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอคำชะอี และในพื้นที่บริเวณวัดแห่งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ที่ได้ถูกจัดทำขึ้นระหว่างกระทรวงมหาดไทยและเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เพื่อมุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ร่วมดูแลศาสนสถานให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของคนในชุมชน

พระครูกิตติธรรมนันท์ เจ้าคณะตำบลน้ำเที่ยง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี กล่าวว่า การเส็งกลองกิ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งกลองกิ่งหรือกลองเส็ง เป็นกลองประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ลักษณะการนำไปใช้จะใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของประเพณีนั้น ๆ แต่ที่เหมือนกัน คือ กลองกิ่งเป็นกลองที่ใช้ในการแข่งขันความดัง เรียกว่า การเส็งกลอง เป็นการตีด้วยไม้ หน้ากลองขึงด้วยหนังควายหรือหนังวัว ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะหาด ไม้ประดู่ ไม้พะยุง เป็นกลองขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก ยากต่อการเคลื่อนย้าย ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการบรรเลง โดยลักษณะของกลองกิ่งเป็นกลอง 2 หน้า ทำให้เกิดเสียงด้วยการตีด้วยไม้ ตัวกลองมีรูปร่างปากกว้างก้นแคบ โดยหน้ากว้าง เรียกว่า หน้าใหญ่ ส่วนก้นที่แคบเรียกว่า หน้าน้อย ซึ่งกลองกิ่ง 1 ชุด ประกอบด้วย กลอง 2 ใบที่มีขนาดเท่ากัน

ต่อมาในเวลา 15.40 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางเยี่ยมชมครัวเรือนตัวอย่างผู้น้อมนำแนวพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของนางประภาศรี พรทอง หมู่ 1 บ้านดอนสวรรค์ ตำบลน้ำเที่ยง ซึ่งได้แปลงพื้นที่บริเวณโดยรอบบ้านให้กลายเป็นสวนพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรนานาชนิด โดยในแต่ละวันจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในบริเวณแปลงพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร มาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และยังมีพืชผักสวนครัวที่เหลือมาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านและสมาชิกในชุมชน ทำให้เกิดพลังความรักความสามัคคี ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มาอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นในเวลา 16.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จาม ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดป่าวิเวกวัฒนาราม พร้อมมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข – หมู่บ้านศีลธรรม และกิจกรรมสังฆสงเคราะห์ของคณะสงฆ์อำเภอคำชะอี โดยคณะสงฆ์ธรรมยุต – มหานิกาย และฆราวาส ร่วมเจริญสามัคคีรสธรรมร่วมกันตามหลัก บวร ราช พลัง นำโดย พระครูวิเวกธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม พร้อมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ผักแก่ภาคีเครือข่ายนำไปขยายผลในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน สถานศึกษา และครัวเรือนต่าง ๆ และมอบถุงยังชีพของแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร แก่พี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 20 ครัวเรือน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ “ภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา” โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้นำภาคศาสนาอื่น ๆ มาเป็นภาคีเครือข่าย ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล ต้องมี “ทีมพระ” ลุกขึ้นมายืนเคียงข้างฝ่ายปกครอง กำหนด “พระผู้รับผิดชอบประจำตำบล” ตามแนวทาง “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการประจำตำบล ทุกตำบล”

พระครูวิเวกธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม กล่าวว่า คณะสงฆ์อำเภอคำชะอี ยึดหลักสามัคคีธรรมรสและบูรณาการทำงานร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ตามหลักการขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณร่วมประสานกับแนวทางใหม่ โดยยึดหลักพระธรรมพระวินัย อาศัยภูมิพื้นความศรัทธา ความเชื่อ ความเคารพนับถือของแต่ละชุมชน มาเป็นหลักการในการดำเนินการเผยแผ่ระดับชุมชน/หมู่บ้าน ในด้านการเผยแผ่ระดับที่สูงขึ้นยึดหลักการตามแนวทางมหาเถรสมาคม สำหรับในด้านสาธารณูปการ มุ่งจัดการการศาสนสมบัติ การศาสนวัตถุ ทั้งพระพุทธรูปศิลปะพื้นบ้านพื้นถิ่นอีสาน บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะตามกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธา และภาวะเร่งด่วน โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มเสริมจากทางราชการ และรายได้ของวัด เช่น กฐิน ผ้าป่า นอกจากนี้ คณะสงฆ์ยังได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลบรรเทาสาธารณภัยเมื่อประสบภัย เช่น พายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ โดยคำนึงถึงศาสนวัตถุ เสนาสนะ และเครื่องประกอบเสนาสนะ อันเป็นส่วนแห่งสาธารณูปโภค ในรูปแบบโครงการต่าง ๆ ที่กระตุ้นเตือนให้รักษาสมบัติของพระพุทธศาสนา

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood