ปลัด มท. ปลุกจิตวิญญาณชาวราชสีห์ผู้จงรักภักดี มุ่งแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

ปลัด มท. ปลุกจิตวิญญาณชาวราชสีห์ผู้จงรักภักดี มุ่งแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ” ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน

วันนี้ (22 ธ.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประจำเดือนธันวาคม โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง นายช่างใหญ่ กรมที่ดิน โดยได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่เราได้มาพูดคุยกันนับเป็นครั้งสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาพวกเราทุกคนได้มีชีวิตอย่างปลอดภัยทั้งตนเองและครอบครัว เราทุกคนจึงต้องมาทบทวนทั้งการดำรงชีวิตและการทำงานในฐานะการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งท่านเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรของพระองค์ท่าน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้เป็น “ผู้นำสูงสุดในพื้นที่” เปรียบเสมือนเป็น “นายกรัฐมนตรีของจังหวัดหรืออำเภอ” ท่านยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งกว่าคนอื่น จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านต้องค้นหาทบทวนว่ารอบปีที่ผ่านมา ท่านได้ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง และมีเรื่องใดที่ประสบความสำเร็จหรือที่ยังทำอยู่และยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ทุกท่านช่วยกันนำเอาสิ่งที่สามารถทำสำเร็จแล้วมาทำต่ออย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และหากสิ่งใดที่ยังไม่สำเร็จต้องค้นหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จแล้วจะมีวิธีการดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งทุกจุดอ่อนหรือจุดแข็งของความสำเร็จหรือล้มเหลวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงาน เพราะแต่ละพื้นที่มีภูมิสังคมที่แตกต่างกัน จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนงานตามอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน

“สำนักงานจังหวัดและสำนักงานที่ทำการปกครองอำเภอ ต้องทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ ในการประมวลรวบรวมข้อมูลในการปฏิบัติราชการ โดยจัดทำหนังสือคู่มือการขับเคลื่อนงานตามภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เพื่อเป็นฐานข้อมูลทำให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงานในพื้นที่ นำไปสู่กระบวนการทำงานให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ จำนวนกว่า 5,151 โครงการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องสร้างกระบวนการร่วมพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ โดยให้มีการจัดประชุม “โต๊ะข่าว” ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของนายอำเภอ เพื่อให้ท่านได้ทำงานอย่างสบายใจได้ว่างานของท่านจะเกิดผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัด และทุกอำเภอได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ตามแนวทางที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทางไว้ให้ คือ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” และ “อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่พระแสงราชศัสตรา” การครองใจพี่น้องประชาชนได้มาจากการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ผู้นำจึงต้องมี “Passion” เพราะผลความสำเร็จจะเกิดได้ต้องมาจากหัวใจ ซึ่งปี 2567 ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีกรอบแนวทางในการปฏิบัติราชการ โดยขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายชีวิตของพวกเราคนไทยทุกคน คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งประเทศไทยจะมั่นคงได้ต้องมาจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครต้องมั่นคงก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเป็นผู้นำทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยไปขับเคลื่อนการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภายใต้โครงการ “จังหวัด/อำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ซึ่งการบูรณาการ คือ “บูรณาการคน บูรณาการงาน และบูรณาการภาคีเครือข่าย” การบูรณาการจะเกิดขึ้นได้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนทุกส่วนราชการ ต้องเตือนใจด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะเป็นกรอบในการทำงานให้กับบุคลากรในองค์กร คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยขึ้นป้ายเตือนใจเพื่อเตือนสติอยู่เสมอให้ทำงานเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ ที่ปรารถนาจะทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีความสุข เพื่อให้เราทุกคนได้ตระหนักคิดในทุกลมหายใจของเราเพื่อปฏิบัติราชการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ติดตามการทำงานตามฟังก์ชัน รวมถึงช่วยกันหาแนวทางการบูรณาการให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ขอให้หน่วยงานในส่วนกลาง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ต้องหาวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ไม่เป็นภาระของพื้นที่ และหากผู้ว่าราชการจังหวัดพบบุคลากรที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติราชการต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาบุคลากรตามความเหมาะสมและตามขั้นตอนของการปฏิบัติราชการ เพื่อช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ในสิ่งที่เป็นอยู่ในระบบราชการปัจจุบันหรือสิ่งที่หมักหมมจนทำให้เกิดปัญหา ซึ่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกประโยคมีความหมาย ทุกท่านที่เป็นผู้นำต้องนำไปขับเคลื่อนและถ่ายทอดให้กับคนในองค์กร ทำให้ประเทศชาติ และประชาชนคนไทยได้รับของขวัญที่ดีที่สุด คือ มีคนมหาดไทยที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตสำนึก และด้วยอุดมการณ์ของข้าราชที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทุกลมหายใจอยากทำสิ่งที่ดี “Change for Good” ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เป็นที่ประจักษ์ในเชิงคุณภาพต่อพี่น้องประชาชน ทำให้ประชาชนได้มีอาหารบริโภคครบ 5 หมู่ ปลอดภัยจากสารพิษ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย พร้อมทั้งทำให้ทุกหมู่บ้าน ทุกโรงเรียน ทุกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้มีความมั่นคงทางอาหาร อาทิ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสกินไข่ วันละ 2 ฟอง และผู้ใหญ่ วันละ 1 ฟอง เพื่อจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน รวมไปถึงน้ำดื่มที่สะอาดเพียงพอโดยทำให้ทุกบ้านได้มีภาชนะจัดเก็บน้ำดื่มได้ตลอดทั้งปี มีบ่อน้ำตื้นประจำครัวเรือน 1 บ่อ/กลุ่มบ้าน นอกจากนี้การสร้างความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่ม สืบสานในพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทำให้ผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้คนในชนบทห่างไกลได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี สนองพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ช่วยกันรณรงค์วัฒนธรรมการแต่งกายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของ “Demand” ไปผลักดัน “Supply” ของการผลิตสิ่งทอให้เกิดความยั่งยืน และสืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ ช่วยกันส่งเสริมอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของคนไทย สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

“ทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นต้นแบบของโลกในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ซึ่งตนได้รับเกียรติเข้าร่วมประชุม COP 28 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพราะงานทุกงานเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดังนั้น ต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะอย่างเต็มที่อย่างต่อเนื่อง และขยายผลตัวอย่างธนาคารขยะของ อบต.โก่งธนู โดยทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวางระบบให้มี “ตลาดนัดขยะทองคำ” เพื่อนำขยะของประชาชนมาเปลี่ยนเป็นมูลค่า อันจะเป็นรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน อีกทั้งต้องทำให้ประชาชนเกิดการรวมกลุ่ม คัดแยกและรวบรวมขยะไว้ขาย ซึ่งหวังว่า อปท. ทั้ง 7,849 แห่ง ไม่รวมกรุงเทพมหานคร ภายใต้การดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจะทำให้สิ่งที่ดีเหล่านี้เกิดขึ้นกับพื้นที่ของเราได้ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา ซึ่งนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วทุกท่านต้องร่วมกันแสดงออกซึ่งความรัก ความหวงแหน ความสำนึกต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง สถาวร โดยส่งเสริมให้มีการเรียนวิชา “ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม” โดยไม่เพิ่มเวลาเรียนให้กับเด็กนักเรียน และขอให้ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ร่วมกันกับภาคีเครือข่ายอย่างจริงจัง รวมไปถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก โดยใช้ “#hashtag” ที่กำหนด เพื่อให้เกิดการรับรู้และนำไปสู่การรายงานผลกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้กระทรวงมหาดไทยต่อ FAO และขอให้ผู้บริหารส่วนกลางของกระทรวงมหาดไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับโครงการในพระราชดำริอย่างรอบคอบ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันเทิดทูนสถาบันหลักของชาติอันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอฝากความหวังไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน แม้ตนเชื่อว่าทุกท่านทำงานหนักอยู่แล้วและทุกจังหวัดได้ขับเคลื่อนกิจกรรมหลากหลายมากมาย แต่ประชาชนทั่วไปส่วนน้อยที่รับรู้รับทราบว่าพวกเราชาวมหาดไทยทำอะไรต่อสังคม ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ “การพัฒนาการสื่อสารกับสังคม” ให้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ทุกพื้นที่รับรู้และนำเอาสิ่งที่ดีของพวกเราไปทำประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทย และเนื่องในโอกาสวันปีใหม่ 2567 นี้ ขออำนวยอวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส มีกำลังกายกำลังใจ ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ครอบครัวและสังคมมีความสุข มุ่งหวังประสงค์สิ่งใดให้สมหวังดังปรารถนา พบกับความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป สุขสันต์วันคริสต์มาสและวันปีใหม่กับชาวมหาดไทยทุกท่าน”