มหาดไทย กำชับ ยผ. บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่คลองปากหลง พัทลุง

 

(2 กันยายน 2566) เวลา 15.00 น. นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เปิดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) พื้นที่คลองปากหลง หมู่ที่ 7 ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายดุษฎี เจริญลาภ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง และนายประเสริฐ เลิศเดชานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพัทลุง​ ร่วมกิจกรรม เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชน ในลักษณะภาคีเครือข่าย ความร่วมมือการพัฒนา

นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน โดยจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทั่วประเทศ เน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยกิจกรรมในวันนี้จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของส่วนราชการ จิตอาสา ภาคีเครือข่าย อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอป่าบอน ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือกันนำโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมมาดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้งบประมาณน้อย และใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนภารกิจโดยยึดหลัก “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goal : SDGs) ของสหประชาชาติ มาเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (Change for Good) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาผังภูมิสังคมฯ โดยน้อมนำต้นแบบการจัดการทรัพยากรน้ำ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และน้อมนำพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มาใช้ดำเนินการภายใต้กลไกการทำงานในรูปแบบของโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ มีการประสานงานและคัดเลือกโครงการที่ไม่ใช้งบประมาณ หรือใช้งบประมาณจำนวนไม่มากมาดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือของจิตอาสา และภาคีเครือข่าย อันจะก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ (Area Based) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำผังภูมิสังคมฯ ในส่วนของจังหวัดพัทลุง ได้ดำเนินการกำหนดโครงการ/กิจกรรม ครบทั้ง 11 อำเภอ 670 ตำบล รวม 879 โครงการ ซึ่งมีโครงการขนาดเล็กดำเนินการโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและจิตอาสาโดยไม่ใช้งบประมาณ จำนวน 15 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ  จำนวน 11 โครงการ การจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาผังภูมิสังคมฯ ในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ ประเภทโครงการขนาดเล็ก ดำเนินการในพื้นที่คลองปากหลง หมู่ที่ 7 ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.7 ตารางกิโลเมตร มีชุมชน 333 ครัวเรือน รวมประชากรประมาณ 963 คน การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย การขุดลอกร่องนาความกว้างประมาณ 40 เมตร ระยะทางประมาณ 400 เมตร เพื่อเปิดทางให้น้ำสามารถไหลได้อย่างสะดวก พร้อมการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกปี และปรับปรุงสถานที่ให้มีความสวยงาม เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และจิตอาสาในพื้นที่

หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่เกิดในช่วงฤดูน้ำหลาก (น้ำท่วม) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม การดำเนินงานโครงการในวันนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพี่น้องประชาชน เกิดการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและยั่งยืน