“เด่นพิพัฒน์ ใจตรง”  นักศึกษา DPU เปิดเส้นทางไปสู่ “Startup” หลักหลายสิบล้านต่อปี    

ผู้บริหารธุรกิจ Startup ถึง 2 บริษัทที่เริ่มตั้งระหว่างเรียน สู่ผลประกอบการรวมสูงกว่า 50 ล้านบาทต่อปี จากนิสัยชอบความสะดวกสบายเรียบง่าย ครอบครัวทำประมงชายฝั่ง ชอบน้ำพริกปลาทูและอาหารสตรีทฟู้ดข้างบ้าน จนก่อเกิดเป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกสบายให้ผู้คน ตั้งตัวได้ตั้งแต่เรียน

“เด่นพิพัฒน์ ใจตรง” เริ่มทำธุรกิจจริงๆ ตั้งแต่เรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เมื่ออายุ 20 ปี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัทธุรกิจติดตั้งระบบเน็ตเวิร์กอินเทอร์เน็ตกับเพื่อนๆ ก่อนต่อยอดมาในปีที่ 2 เป็นบริษัทสตาร์ตอัพ AIRPORTELs Luggage Delivery ผู้ให้บริการขนส่งและรับฝากสัมภาระ และ  MAKESEND Same day Delivery  บริการส่งพัสดุด่วนวันเดียว  ที่สร้างผลประกอบการต่อปีหลายสิบล้านบาท

ตั้งต้นจากอุปนิสัยชอบเรียนรู้และมีความใฝ่ฝันจะสร้างอาณาจักรธุรกิจสตาร์ตอัพระหว่างเรียน ด้วยความที่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) ของ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จึงมีความสามารถด้านไอที และ วิชาในหลักสูตรเน้นเรื่อง “Innovation + Entrepreneur” ทำให้รู้ว่าจะทำอะไรต้องมีนวัตกรรมก่อน และ เอามาสร้างความแตกต่างๆ พร้อมทั้งพัฒนาสกิลทักษะแห่งโลกอนาคต ผสมตามนี้จึงจะเกิดความยั่งยืน

“ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสและสนับสนุนในเรื่องของการสร้างธุรกิจให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมีวันนี้ก็เพราะคอร์สเรียนเรื่อง Business Incubator ระยะเวลา 3 เดือน ทำให้มีความเข้าใจเรื่องของ ซัพพลายเชน การตลาด บริหารธุรกิจ วิเคราะห์การเงิน ฯลฯ ตอนนั้นอายุ 20 ปี  เรียนอยู่ปี 1 เลยเริ่มต้นทำธุรกิจได้  คือถ้าถามเรียนที่ DPU แล้วได้อะไร นี้คือสิ่งที่ผมได้” เด่นพิพัฒน์ ใจตรง หรือ เด่น  กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

Startup…ลูกชาวประมงวิ่งรถรับจ้างสู่ “มหาสมุทรความสำเร็จ”

ย้อนกลับไป 20  ปี เด่นเล่าว่า “ความฝันในวัยเด็ก” ของคนสมุทรปราการอย่างเขาคือ การเป็น “เจ้าของธุรกิจ” โดยได้ซึมและซับจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพในรูปแบบ SME โดยหน้าบ้านเป็นลานจอดรถสองแถวรับ-ส่งให้บริการคน  ส่วนหลังบ้านเป็นพื้นที่ทำประมงชายฝั่ง ขณะที่ในตัวบ้านก็ใช้สอยเป็นลานถักอวนเพื่อการประมง  รายได้จากหลายๆทาง สามารถเลี้ยงดูเขาได้เป็นอย่างดีและครอบครัวมีเวลาให้กันและกันเสมอ เพราะเป็นนายตัวเอง ทำให้ชีวิตเด่นเต็มไปด้วยความอบอุ่นจนเกิดเป็นเข็มทิศชีวิต ที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง

“จุดเริ่มต้นแรกคือที่บ้านซื้อคอมพิวเตอร์ให้ หลังได้เรียนวิชานี้ในชั้นประถม พอได้เข้าอินเตอร์เน็ตครั้งแรก รู้สึกมันเจ๋งดีนะชอบคอมฯ มากๆ เราสามารถค้นหาข้อมูลได้ทุกอย่าง เชื่อมต่อกับโลกคุยกับเพื่อนๆได้ตลอดเวลา อย่างในยุคนั้นก็ยังทัน MSN อยู่ ผมก็เลยหลงใหลมันและในช่วงมัธยมก็ชอบทำพวกงานกราฟิก เว็บไซต์ ซ่อมคอมพิวเตอร์  จนสั่งให้ทำอะไรในคอม ก็คือทำได้หมด”

และขณะที่มีความชอบคือคอมพิวเตอร์  เมื่ออายุได้ 15 ปี “ความฝันเป็นเจ้าของธุรกิจ” ก็เริ่มเติบโตตามไปด้วยโดยเริ่มตั้งหางเสือทิศทางแรกด้วยการสะสมทุนจากการไปรับจ้างหารายได้พิเศษทำเว็บไซต์ รับงานติดตั้ง Internet ตั้ง WIFI ตามบ้านช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นประจำจนจบ ม.6 หลังจากนั้นก็เลือกเข้าด้าน IT ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งที่แห่งนี้เองที่ซึ่งเด่นบอกว่าเป็นพื้นที่แห่งการให้โอกาสและเปลี่ยนให้เขามีวันนี้

“เข้ามาเรียน DPU ช่วงนั้นเรียนถึงเทอม 2 ก็มีคลาสเรียนพิเศษเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ เรียนช่วง 15.00-20.00 น. เป็นระยะ 3 เดือน เนื่องจากช่วงนั้น DPU มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ โดยให้นักศึกษาเรียนเขียนแผน สนับสนุนให้ริเริ่มธุรกิจและนำผลที่ได้มานำเสนอจบ ซึ่งจะมีความร่วมมือกับทาง บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) สามารถให้ค้ำประกันเงินกู้ จังหวะนั้นเพื่อนก็ทักมาบอกมีลูกค้าสนใจอยากให้ช่วยเดินระบบ Wi-Fi  หอพัก ขนาด 200 ห้อง ซึ่งถือเป็นโปรเจกต์ใหญ่ ผมก็หุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัท OCTA Corporation และบริหารความเสี่ยงด้วยการกู้เงินธนาคารออมสิน โดยใช้ใบรับรองจาก บสย.ค้ำประกัน ก็เลยได้เงินทุนและใช้ความรู้ ความสามารถจนกลายมาเป็นเจ้าของกิจการจริงๆ แบบฝันที่ตั้งไว้”

Design Thinking เข้ามาทำให้เจอความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามในโลกของการทำงานย่อมมี “อุปสรรค” เด่นบอกว่าพอรับงานเรื่อยๆ ต่อมาด้วยความที่ยังใหม่จึงไม่เชี่ยวชาญการทำบัญชี ทำเรื่องภาษี และด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยทำให้ยังไม่รู้จักการบริหารงานกับผู้รับเหมา  เงินทุนที่เติมลงไปในการขยายบริษัทให้เติบโตก็เริ่มไม่พอ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนบุคลากร การจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ ทำให้อยู่ดี ๆ ก็เกิดจุดไม่คุ้มทุนและเมื่อพอกพูนสะสมมากขึ้น ก็เกิดสถานการณ์ธุรกิจดิ่งลงสู่ก้นเหว เป็นหนี้หลักล้านและจำต้องปิดงานแบบขาดทุนก้อนใหญ่

“แต่ผมไม่ท้อนะ” เด่นระบุรวบรัดถึงอุปสรรคใหญ่ในครั้งนั้น ตอนนั้นเด่นก็ยังสู้คิดหาธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาโดยอาศัยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

“ด้วยอายุ ด้วยนิสัยผมด้วย พอเฟลกำลังล้มเหลว เรากลับยิ่งสู้ เรายังมีแรง เรายังมีฝัน มีเพื่อนร่วมทาง ที่สำคัญคือเราคิดว่ามันมีทางไปต่อได้ เราก็แค่ก้าวต่อไปแค่นั้นเอง พอปิดบริษัทไปอีกพักเดียวก็ได้ทำบริษัทใหม่ทันที  เพราะไปเจอเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งคุยกันเรื่องล็อคเกอร์ฝากของในรถไฟฟ้าและใต้ดิน ซึ่งตอนนั้นกระแสการท่องเที่ยวด้วยตัวเองบูมมาก เราจะเห็นภาพผู้คนลำบากลากกระเป๋าเดินทางขึ้นรถไฟฟ้า และด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เราพบปัญหาของนักท่องเที่ยวและพบว่ามีทางไม่กี่ทางในการจัดการกระเป๋าสัมภาระในตอนนั้น เช่น 1.เลือกไปที่สนามบินฝากสัมภาระก่อนแล้วค่อยเที่ยวและค่อยกลับมาสนามบินเพื่อกลับ 2.หลังเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม หลายโรงแรมไม่รับฝากของ เลยต้องแบกสัมภาระไปเที่ยวด้วย ก็เลยเริ่มทำบริษัทใหม่แก้ปัญหาในเรื่องนี้”

Airportels เกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ คือ “Hand Free Travel”คุณไม่ต้องกังวลเรื่องสัมภาระ ปล่อยให้เป็นหน้าที่เราจัดการ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก เที่ยวแบบชนิดตัวปลิว ไม่ต้องหิ้วกระเป๋าเอง แถมป้องกันของหายจากการโดนล้วง หรือลืมของเอาไว้ ซึ่งเรื่องกระเป๋าเดินทางหายเป็นข่าวที่ จส.100 ต้องประกาศตลอดทั้งวันจนเราคุ้นเคย หรือ ข่าวโจรล้วงกระเป๋ากระชากกระเป๋าออกอาละวาด ที่เป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวหวาดกลัว และ หากเจอกับตัวก็จะกลายเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายแทนความสนุก

“ผลที่เราทำออกมา ธุรกิจนี้เป็นที่ยอมรับ คือคำว่า “ความสำเร็จ” ตอนนั้นไม่ใช่กำไรหรือรายได้ แต่คือเหตุผลที่ผู้คนเลือกใช้สินค้าหรือบริการของคุณ นั้นเป็นการยอมรับคุณและซึ่งผมทำได้”

จากเริ่มต้นรายได้หลัก1,000 บาท ยอดขายก็ค่อยๆ โตขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นหลัก 10,000,0000 บาท แต่เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวอยู่ดี ๆ ก็ไม่มีสักคนเดียว! ทั้งประเทศไทย ตอนนั้นหุ้นส่วน รวมถึงเด่นและทีมงาน ก็ต้องรีบคิดหาทางใหม่ๆ เพื่อเอาบริษัทรอด  ซึ่งตอนนั้นถ้าจำได้คือทุกคนอยู่บ้าน และ ต้องสั่งของ ธุรกิจส่งของกำลังบูมมาก มีคนอยากรับงานส่งของมากมาย เหตุการณ์ตอนนั้นได้สร้างธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจบริการส่งพัสดุด่วนวันเดียวถึงชื่อ “MAKESEND Express” ที่เพิ่มรายได้อีก 1 ช่องทางเป็นเรือพ่วง โดย ณ จุดนี้เด่นถอดรหัสตัวเองนอกจาก “กุญแจ” ความคิดอีกส่วนที่สำคัญในการสร้างความสำเร็จตอนนั้นก็คือ  Economy of Trust  หรือ “กฏของความไว้เนื้อเชื่อใจ” ที่รู้จากธุรกิจก่อนหน้าแล้วว่า เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เวลามีเคสยากๆ  ขึ้นมา เราจะรับผิดชอบและทำให้ดีที่สุด แล้วตรงนี้จะเป็นพลังบวกที่ผู้คนบอกต่อมากมาย   และแน่นอนว่า ต้องใช้หลักการ “Design Thinking” และ “Digital Marketing” มาผสมผสานช่วยกัน

“กฎของความไว้เนื้อเชื่อใจ  Economy Trust เกี่ยวข้องกับทุกคน เราต้องสร้างความเชื่อมั่นกับทุกคนเหล่านั้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจราบรื่นและรวดเร็ว ทั้งทีมงาน หุ้นส่วน ซัพพลายเออร์ และที่สำคัญที่สุดคือลูกค้า  เราต้องดูเสมอว่าลูกค้าเชื่อมั่นเราแค่ไหน มั่นใจในการใช้บริการเราแค่ไหน เพราะธุรกิจเราต้องดูแลสัมภาระ ต้องรักษาความปลอดภัย ต้องตรงต่อเวลา หรือที่จะเรียกกันว่า รักษา commitment  แล้วต่อยอดด้วยรู้จักการสื่อสารกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดำเนินธุรกิจด้วยความจริงใจ โปร่งใส (Transparency) จะคิดเงินลูกค้าก็ให้ชัดเจนว่ามีค่าอะไรบ้าง กฎเกณฑ์เงื่อนไขเป็นอย่างไรต้องอธิบายให้ชัดเจน  ในขณะเดียวกันภายในเองก็ต้องชัดเจน โปร่งใสด้วย ตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์พนักงาน รับเขามาแล้วจะประเมินเขาอย่างไร งานที่ต้องรับผิดชอบ เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของเขาเป็นอย่างไร และบริษัทสามารถส่งเสริมเขาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องมี ต้องเตรียม เพื่อสร้าง Trust ให้เกิดขึ้น ในท้ายสุดมันจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้แบบ High Quality High Speed (HQHS) และมีความยั่งยืน”

นอกจากนี้เด่น ขอฝากเคล็ดลับด้านธุรกิจจากประสบการณ์ตัวเองเอาไว้ว่า ช่วงเริ่มต้นธุรกิจควรคำนึงเรื่องของ “Empathy” ความเข้าอกเข้าใจที่จะแก้ปัญหาหรือช่วยผู้คน ซึ่งหนทางที่เราจะได้เข้าใจได้ดีที่สุดคือ เราต้องเข้าใจตัวเราเองอย่างแท้จริงรู้ว่าตัวเองจะนำมาซึ่งสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า  รู้จักการทำต้นแบบ “Prototype” แปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างง่ายสุด ถูกสุด เร็วสุดเพื่อทดลองในขั้น “stage 1” หลังจากนั้นลำดับถัดมาแค่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เผชิญ พัฒนาวนลูปไปเรื่อยๆ (หรือตามหลัก Lean Startup : Build, Measure, Learn)  นอกจากนี้ควรรู้เทคนิคการทำงานให้รวดเร็ว การคุมโครงสร้างการบริหารงาน และใช้ศาสตร์การตลาดที่หลากหลายเพื่อพิชิตใจลูกค้า

“เรื่องของ Design Thinking ผมยอมรับเลยว่ามันคือ Framework ในการจัดเรียงความคิด เปลี่ยนจากก้อนๆ ใหญ่ๆ ทุบๆ ให้ความคิดแตกกระจายแล้วนำมาเรียงใหม่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน มันช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด คิดวิธีการใหม่ๆมาทดลองได้อย่างรวดเร็วที่สำคัญยังช่วยให้การทำงานเป็นทีมสนุกและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย ทีนี้เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน วิธีและหลักการบริหารที่ชัดเจน จะเกิดการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ จะเกิดความเชื่อใจวางในกันในทีมงาน ลูกค้า Partner ซัพพลายเออร์ก็  และในจังหวะที่เราแย่ๆ โควิด-19 ระบาด ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าอาจจะเห็นโอกาสใหม่ๆ  ตอนนั้นจากวิกฤตที่เราได้เจอ จนรายได้เหลือศูนย์บาทและเป็นหนี้อีกหลายล้านบาท แต่เพื่อนที่ร่วมกันสร้างบริษัทมาก็ยังอยู่อย่างพร้อมหน้า ช่วยกันคิด ช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรค และที่สำคัญเราได้รับการช่วยเหลือที่ดีจากคู่ค้าที่ให้โอกาสเรา สนับสนุนใช้บริการเรา ช่วยแนะนำลูกค้าใหม่ๆ ให้ถึงได้รอดมาและมีอย่างทุกวันนี้”

ถ้าถามว่าจะมีอะไรฝากให้คนรุ่นใหม่ เด่นฝากว่า “อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องออกไปเห็นโลกมากๆ  เนื่องจากเราจะรู้ว่าเราสร้างอะไรได้ เราต้องมีวิสัยทัศน์มาก่อนและโอกาสมันก็ต้องได้เห็นลางๆบ้างก่อน  จึงจะต่อยอดสร้างให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าคุณยังไม่เห็นอะไรเยอะคุณก็ไม่มีทางมองเห็นโอกาส อยากให้ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ลองออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ไปเที่ยวหรือไปศึกษาดูงาน ลองไปรับงาน Part-time ช่วงปิดเทอม ลองขายอะไรด้วยตัวเองสักอย่างหนึ่ง ลองทำ Freelance ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือวันว่างๆ ไปร้านกาแฟคุยกับเพื่อนคนนั้นคนนี้”

“ชีวิตกับธุรกิจมันต้องไปด้วยกัน” เด่นสรุปทิ้งท้าย แม้กระทั่งยังไม่ได้รับปริญญาตรีแต่เราทุกคน สามารถก่อตั้งธุรกิจใหม่ๆของตัวเองได้เสมอ