DPU ได้รับมอบหมายเป็นที่ปรึกษาดำเนินการปรับปรุงกระบวนการและกฎหมายส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้คนพิการ จาก สดช.

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้คนพิการ

ปัจจุบัน  สดช. มีการดำเนินการส่งเสริมคนพิการอยู่แล้วตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 โดยอยู่ในรูปแบบให้ยืมอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล แต่เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และมีข้อจำกัดมากพอสมควร ทาง สดช. จึงมีความต้องการปรับปรุงการดำเนินการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดย วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาดำเนินการในครั้งนี้ โดยมี ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดี CITE เป็นหัวหน้าโครงการ

โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีความคืบหน้าเกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษาต่าง ๆ ตั้งแต่การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการต่าง ๆ มาตรฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ แนวทางการสนับสนุนคนพิการของประเทศต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีกระบวนการส่งเสริมคนพิการที่ดีจำนวน 11 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น มีการสัมภาษณ์หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการต่าง ๆ หลายท่าน จนได้รูปแบบการสนับสนุนคนพิการเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย 4 รูปแบบ ได้แก่ การให้อุปกรณ์ การให้เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออุปกรณ์ การให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือ และการให้คูปอง โดยศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย รวมทั้งการจำลองกระบวนการและทดลองการให้บริการกับคนพิการเพื่อหาข้อดีข้อเสียที่เกิดจากการดำเนินการ  จนในที่สุดพบว่า รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือการสนับสนุนคนพิการผ่านการให้คูปอง โดยใน (ร่าง) กฎหมายใหม่นี้จะเรียกว่าการให้คูปองดิจิทัล

โดยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้แทนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่มีต่อ (ร่าง) กฎกระทรวงฉบับใหม่ และมีการจัดประชาพิจารณ์ (ร่าง) กฎกระทรวงฉบับใหม่ และกฎระเบียบและประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องวายุภักษ์ 2 ชั้น 4  โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)  เป็นประธานเปิด และมีนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้กล่าวรายงาน

ภาพโดยรวมของการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการเข้าร่วมมากกว่า 150 คน ได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นไปในแนวทางที่ดี มีการส่งเสริมเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนคนพิการมากยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนให้มีการจัดแสดงนิทรรศการหรือแสดงเทคโนโลยีของคนพิการ ซึ่งไม่ค่อยมีในประเทศไทย หรือการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของคนพิการโดยคนไทย เป็นต้น นอกเหนือจากการสนับสนุนการให้คูปองดิจิทัล ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้ (ร่าง) กฎหมายฉบับนี้ผ่านการบังคับใช้โดยเร็ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของคนพิการได้ดีกว่ารูปแบบการสนับสนุนที่มีอยู่อย่างแน่นอน