“หมู่บ้านหนองขาม หมู่บ้านแห่งความยั่งยืน” ปลัดมหาดไทยพร้อมอธิบดีกรมการปกครองและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

“หมู่บ้านหนองขาม หมู่บ้านแห่งความยั่งยืน” ปลัดมหาดไทยพร้อมอธิบดีกรมการปกครองและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน “บ้านหนองขาม” ชื่นชมนายอำเภอเบญจลักษ์เป็นนายอำเภอของประชาชนต้นแบบ พร้อมขอให้ขยายผลต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืนไปยังทุกพื้นที่ต่อไป

วันนี้ (24 ก.ค. 66) เวลา 15.30 น. ที่บ้านหนองขาม หมู่ที่ 9 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการจัดการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นางสาวสิริมา วัฒโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมตรวจเยี่ยม โดยนายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางมัลลิกา เกษกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ผลาดิศัย นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ นายธนเดช พระอารักษ์ นายอำเภอเบญจลักษ์ นายนิวัติ น้อยผาง ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและนายอำเภอเบญจลักษ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ประธานคุ้ม และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ พบปะพี่น้องประชาชนบ้านหนองขามที่มาให้การต้อนรับ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนตามคุ้มบ้านและร้านค้าชุมชน พร้อมทั้งพบปะหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้มาให้กำลังใจท่านนายอำเภอเบญจลักษ์และผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวบ้านหนองขาม อำเภอเบญจลักษ์ ผู้แสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านบ้านหนองขามให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดตั้งแต่ 2 เส้นทางของถนนในหมู่บ้าน ต่างเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร มีการละเล่นร้องรำทำเพลง มีผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมทั้งมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้รู้จักการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีข้าราชการในพื้นที่ ทั้งปลัดอำเภอ พัฒนากร ฯลฯ ตลอดจนผู้นำท้องที่ คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอเบญจลักษ์ ผู้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เป็นนายอำเภอของประชาชน ที่สามารถหลอมรวมพลังความรู้รักษาสามัคคีของพี่น้องประชาชนจนทำให้บ้านหนองขามแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านแห่งความสุข

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า การเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เราต้องมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ดังพระโอวาทของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ประทานไว้ว่า “เจ้าคุณอำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชศัสตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยความศรัทธาแล้ว ไม่มีใครถอดเจ้าคุณได้” ดังนั้น จึงต้องหมั่นลงพื้นที่โน้มตัวหาพี่น้องประชาชนเหมือนรวงข้าวสุก จนเปรียบเปรยว่าต้องลงพื้นที่เดินไปหาประชาชนจนรองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ต้องออกตรวจตราจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด เพื่อให้ภาคีเครือข่ายมีความเลื่อมใสศรัทธา เคารพนับถือนับหน้าถือตา ทำให้เราสามารถทำงานให้ประชาชนด้วยความรักสนิทสนมทำให้ประชาชนทุกคนมีความสำคัญเหมือนญาติ ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง”” ท่ามกลางสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนขึ้นควบคู่กับเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุดหน้า แต่ทว่า แม้ว่าการสื่อสารจะดีขึ้นอย่างไร ในแง่ของพี่น้องประชาชน ก็อยากเห็นสิ่งที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษคนมหาดไทยที่ได้สร้างไว้ คือ การลงไปคลุกคลีตีโมง กับพี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชนนึกอะไรไม่ออกก็มาบอกข้าราชการ มีการมีงาน มีปัญหาอะไรก็มาปรึกษา แม้จะไม่ได้เจอปลัดอำเภอหรือนายอำเภอก็ไปบอกครู บอกเกษตร บอกสาธารณสุข เพื่อส่งข้อมูลให้ถึงนายอำเภอ ดังนั้น ฝ่ายปกครองจึงต้องใช้ทุกโอกาสในการนำทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ลงไปเยี่ยมเยือนดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งการลงพื้นที่บ่อย ๆ จะทำให้ได้รู้ว่าบ้านไหนทำไมมีผู้ป่วยติดเตียง ทำไมบ้านผุพังหลังคารั่ว ทำไมเด็กคนนี้หน้าตาเศร้าหมองไม่มีเงินไปเรียน เพื่อจะได้ร่วมกันหาวิธีการและหนทางในการแก้ไขแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือ

“นอกจากนี้ ในส่วนของพี่น้องประชาชนซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำ ก็ขอให้ได้ใช้ระบบคุ้มบ้าน เป็นกลุ่มที่คอยสอดส่องดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย และเสริมสร้างพลังความรักสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งที่บ้านหนองขามแห่งนี้ก็เป็นหมู่บ้านดีเด่นหลายด้าน จึงขอให้ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องจากการได้ร่วมพัฒนาศักยภาพด้วยการกระตุ้นปลุกเร้าโดยปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนตลอดไป เช่น บ้านไหนมีกำลังเยอะก็ไปช่วยบ้านที่กำลังน้อยในการแก้ปัญหา ในการช่วยขุด ช่วยซ่อมบ้าน ช่วยปลูกผัก เป็นต้น เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน ลูก ๆ หลาน ๆ ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระดำรัสไว้ว่า “ต้องมีการถ่ายทอด มีการให้การเรียนรู้ ซึ่งวิธีการถ่ายทอดที่ดี คือ ผู้ใหญ่ทำให้เด็กดู” เช่น สอนให้ลูกหลานรู้จักสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน รู้จักไหว้บรรพบุรุษปู่ย่าตาทวด เข้าวัดทำบุญในวันพระ เพื่อให้เด็กได้ซึมซับวัฒนธรรมความเป็นไทย การเคารพนบนอบผู้อาวุโสกว่า ซึ่งผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเป็นผู้นำช่วยกันดูแลลูกหลาน รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ที่ช่วยลดรายจ่าย ทำให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมของชุมชนประเพณีอันดีงามเพื่อให้เกิดความรักสามัคคี เหมือนที่ท่านนายอำเภอกล่าวว่า บ้านหนองขาม อยากกินมะเขือไม่ต้องไปตลาด เพราะเราได้ช่วยกันปลูกในชุมชนอยู่แล้ว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในท้ายที่สุดหมู่บ้านยั่งยืนต้องปลอดภัย โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำรวจหมู่บ้าน อปพร. อส. ชรบ. ต้องช่วยกัน ซึ่งท่านนายอำเภอ ก็ต้องช่วยนำพาบุคคลเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมระเบียบวินัย ระเบียบแถว วิธีการใช้อาวุธ วิธีการคัดกรองผู้ติดยาเสพติด และต้องหมั่นลงพื้นที่ติดตามถามไถ่ตรวจเยี่ยม ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบ่อย ๆ ก็จะเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการทำผิด ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนผ่านคำขวัญกองเสือป่าที่ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย” อันหมายถึง ต้องตื่นตัวในการฝึกซ้อมทบทวน ฝึกปฏิบัติลาดตระเวนในยามปกติ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า เอ็นโดรฟินของความสุขในใจของคนที่ได้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ซึ่งคนที่เป็นจิตอาสาแล้วได้ทำสิ่งที่ดี การหลั่งสารแห่งความสุขก็จะออกมา อันสอดคล้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง “จิตอาสา” คือการทำเพื่อสังคม ทำให้สังคมมีความสะอาด สวยงามและปลอดภัย โดยไม่หวังผลตอบแทน

“ขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันดูแลชุมชน ตำบล หมู่บ้านของพวกเราให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ให้มีความรักความสามัคคี และขอฝากท่านนิวัติ น้อยผาง ชาวราชสีห์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายอำเภอเบญจลักษ์ ได้เป็น “บัณฑิตคืนถิ่น” ผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับบ้านหนองขาม รวมทั้งน้อมนำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเป็น “คลังสมองของแผ่นดิน” และพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “แม้จะเกษียณอายุราชการ แต่ก็ขอให้อยากเกษียณจากการทำความดีเพื่อส่วนรวม” ด้วยการมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้สมกับคำว่า “คนดีศรีแผ่นดิน” ช่วยทำให้เกิดพื้นที่ดีแห่งความยั่งยืนเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งจังหวัดศรีสะเกษ และประเทศไทยของพวกเราทุกคน

ด้าน นายธนเดช พระอารักษ์ นายอำเภอเบญจลักษ์ กล่าวว่า บ้านหนองขาม เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ต้นแบบ ที่ได้มีการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำท้องที่ และความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ทำให้เกิดผลผลิตเป็นรูปธรรม คือความรู้รักสามัคคี เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน โดยทางอำเภอเบญจลักษ์จะดำเนินการขยายผลโดยนำต้นแบบของบ้านหนองขาม ทำให้ทุกหมู่บ้านของอำเภอเบญจลักษ์ เป็นหมู่บ้านยั่งยืนครบทั้ง 67 หมู่บ้าน ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อพี่น้องประชาชน