ยผ.และจ.กระบี่ จัดโครงการพัฒนาการระบายน้ำ คลองอ่าวลึก

 

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) เวลา 09.30 น. กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับจังหวัดกระบี่ จัดกิจกรรมจิตอาสาโครงการพัฒนาการระบายน้ำ คลองอ่าวลึก หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ภายใต้แผนงานการพัฒนาผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) โดยมีนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน          ร่วมกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน  เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต   พี่น้องประชาชน โดยจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) ทั่วประเทศ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการและกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา

นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง  รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ขับเคลื่อนโครงการการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ทั้ง 8 อำเภอ 53 ตำบล 389 หมู่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่ตัวอย่างที่ได้นำแผนพัฒนาโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมฯ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยในวันนี้จังหวัดกระบี่ได้จัดกิจกรรมจิตอาสาโครงการพัฒนาการระบายน้ำ คลองอ่าวลึก หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เนื่องจากตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ปลายน้ำ มีสภาพเป็นที่ราบสลับกับเนินสูงต่ำ ส่งผลให้คลองอ่าวลึกน้อยมีสภาพคดเคี้ยวตามภูมิประเทศ เมื่อถึงช่วงฤดูมรสุมจะมีปริมาณน้ำไหลสะสมผ่านพื้นที่ปริมาณมาก ซึ่งมีความเร็วและรุนแรง ส่งผลให้เกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยมีระดับน้ำสูง 0.30 – 0.40 เมตร เป็นระยะเวลานาน 2 – 3 ชั่วโมงต่อครั้ง ไม่ต่ำกว่า 3 – 4 ครั้งต่อปี รวมทั้งเกิดปัญหาการกัดเซาะพังทลายของพื้นที่ริมตลิ่งในพื้นที่ชุมชน ประกอบกับบริเวณริมคลองอ่าวลึกน้อยไม่ได้รับ        การปรับปรุงสภาพให้มีความเหมาะสมกับการระบายน้ำตามทิศทางการไหลท่วมในแต่ละปี ประชาชนซึ่งมีบ้านเรือนริมคลองอ่าวลึกน้อยดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ อำเภออ่าวลึก ได้พิจารณาตามข้อเสนอกิจกรรมและโครงการจากคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับหมู่บ้านและชุมชนของอำเภออ่าวลึกน้อย เห็นควรบรรจุโครงการและกิจกรรมอยู่ในผังภูมิสังคมฯ ของอำเภออ่าวลึก เพื่อเน้นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐ และภาคเอกชน ในอำเภออ่าวลึก จึงได้นำเสนอโครงการพัฒนาการระบายน้ำคลองอ่าวลึกน้อยให้เป็นโครงการนำร่องตามผังภูมิสังคมฯ ของจังหวัดกระบี่ โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาก่อนฤดูมรสุม และเป็นความต้องการบรรเทา       และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวลึกน้อย

การดำเนินงานดังกล่าว อาศัยความร่วมมือของจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทยระดับจังหวัด องค์กรภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอ รวมประมาณ 150 คน ในการปรับแต่งพื้นที่ริมคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ความยาวประมาณ 200 เมตร       และมีการสนับสนุนเครื่องจักรในการขุดลอกเนินดินบริเวณเชิงสะพานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ และการขุดลอกบริเวณหลังฝายน้ำล้นบริเวณหลังมัสยิดนูรู้ลอิสลาม

เมื่อโครงการดังกล่าวฯ แล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่พักอาศัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ถึง 251 ครัวเรือน รวมทั้งสามารถใช้น้ำเพื่อการกักเก็บสำหรับแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้งพื้นที่ตำบลอ่าวลึกน้อยได้มากกว่า  64,000 ลูกบาศก์เมตร โดยมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 1,590 ครัวเรือน รวมทั้งเกิดการกระตุ้นให้ดำเนินการกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องจากหน่วยงานและองค์กรในระดับพื้นที่ตำบลและอำเภอ ในการพัฒนาพื้นที่โครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามผังภูมิสังคมฯ อย่างมีระบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งคาดว่าโครงการในวันนี้จะเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป