รมว.สุชาติ มอบปลัดบุญชอบ แถลงข่าวส่งตัวแทนเยาวชนไทย 24 คนลงชิงชัยในเวทีแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนที่สิงคโปร์ 12 สาขา

รมว.สุชาติ มอบปลัดบุญชอบ แถลงข่าวส่งตัวแทนเยาวชนไทย 24 คนลงชิงชัยในเวทีแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนที่สิงคโปร์ 12 สาขา

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 มีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน พร้อมเยาวชนร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ไทยส่งเยาวชนร่วมการแข่งขัน 24 คน ใน 12 สาขา กำหนดการแข่งขันระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2566 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวแถลงว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน เป็นข้อตกลงของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุก 2 ปี และบรรจุไว้เป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้พิมพ์เขียวประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและกำลังแรงงานภูมิภาคอาเซียนเกิดความตื่นตัวและสนใจที่จะพัฒนาทักษะฝีมือของตนให้ทันต่อเทคโนโลยีและทัดเทียมมาตรฐานสากล จะส่งผลให้เยาวชนได้ก้าวสู่การเป็นช่างฝีมือในตลาดแรงงาน สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการของประเทศในอนาคต ซึ่งการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 13 แข่งขันระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2566 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายบุญชอบ กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน เป็นเวทีที่เยาวชนไทยจะแสดงฝีมือให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความสามารถและทักษะฝีมือของไทยที่ได้มาตรฐานทัดเทียมมาตรฐานสากล ซึ่งต่างชาติจะได้รู้ว่าเด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่ผ่านมาเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ในเวทีแข่งขันระดับนานาชาติ อาทิ สาขาการประกอบอาหาร และสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา และสถานประกอบกิจการ ตื่นตัวในการจัดส่งเยาวชนที่มีทักษะฝีมือร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้น อีกทั้งให้การสนับสนุนตั้งแต่การเก็บตัวฝึกซ้อมและส่งตัวแทนเยาวชนไปร่วมแข่งขันในเวทีต่าง ๆ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน หากสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ ก็เป็นเครื่องชี้วัดในศักยภาพของแรงงานไทย ซึ่งมีผลต่อการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตด้วย สำหรับสิ่งที่เยาวชนจะได้รับนอกจากการก้าวไปสู่เวทีที่ใหญ่กว่านี้คือระดับนานาชาติแล้ว ประสบการณ์ที่น้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันได้รับสำคัญมากกว่าเหรียญรางวัล

“ผมขอเป็นเป็นกำลังใจให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถคว้าชัยชนะกลับมาสู่ประเทศไทยได้อย่างแน่นอน และขอเชิญชวนชาวไทยร่วมส่งแรงเชียร์ให้กับตัวแทนเยาวชนไทยที่ไปแข่งขันในครั้งนี้ด้วยครับ”

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศเจ้าภาพจัดให้มีการแข่งขันทั้งหมด 22 สาขา มีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 180 คน จาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน ลาว เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยกัมพูชาไม่ส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับประเทศไทยจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งหมด 24 คน ใน 12 สาขา ประกอบด้วย 1) สาขาเมคคาทรอนิกส์ (ทีม) 2) สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ทีม) 3) สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร 4) สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น 5) สาขาเว็บดีไซน์ 6) สาขากราฟิกดีไซน์ 7) สาขาการแต่งผม 8) สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี 9) สาขาออกแบบและเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ 10) สาขาเทคโนโลยียานยนต์ 11) สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และ 12) สาขาการประกอบอาหาร เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันมีอายุไม่เกิน 22 ปี ซึ่งแต่ละประเทศส่งผู้เข้าแข่งขันได้ไม่เกินสาขาละ 2 คน การแข่งขันจะใช้เวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2566 มีพิธีเปิดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2566 ประกาศรางวัลและปิดการแข่งขันในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 สำหรับเงินรางวัลที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัล ได้แก่ เหรียญทอง จำนวน 150,000 บาท เหรียญเงิน จำนวน 75,000 บาท เหรียญทองแดง จำนวน 40,000 บาท และเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม (รางวัลชมเชย) จำนวน 20,000 บาท