ปลัด มท.ขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม

ปลัด มท.ขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม

เปิดใจ ปลัด มท.ขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” มุ่งมั่นเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมเชิงรุก ใช้หลักธรรม ทำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยที่มา “โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2557 จากดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.9) อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาให้ตน เมื่อครั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เข้าถวายสักการะ โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทกถา ฝากให้ได้ส่งเสริมให้คนอยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล 5 และฝากฝังให้ได้ไปขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อความวัฒนาทางจิตใจด้วยธรรมะจักได้เกิดกับพี่น้องพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คนที่ 47 ได้น้อมนำโอวาทดังกล่าวไปขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย โดยมี นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 10 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระบุรีในขณะนั้น เป็นฝ่ายเลขานุการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่ คือ “ชมรมสระบุรีร่มเย็น ภายใต้การนำของนางสาวเพียรใจ โรจนสินวิไล (คุณหลีทวีกิจ) กรรมการบริหารห้างทวีกิจคอมเพล็กซ์ และประธานชมรมสระบุรีร่มเย็น” ผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา กระทั่งเกิดผลสำเร็จ เกิดมรรคเกิดผลอย่างสมบูรณ์ จนเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนก่อกำเนิดเป็น “โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5”” ของมหาเถรสมาคม ในปี 2558 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในประเทศ และเพื่อให้ประชาชนได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ” และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป โดยนำผลสำเร็จของจังหวัดสระบุรี ขยายผลครอบคลุมไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ อันแสดงให้เห็นว่า “7 ภาคีเครือข่าย” ภายใต้การนำของพระสงฆ์ผู้เป็นหลักชัยมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นอย่างยิ่ง”

“ในปี 2566 นี้ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดมีพระบัญชาแต่งตั้งให้ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี  กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  เป็นองค์ประธานอำนวยการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ประจำปี 2566  ตลอดจนมีพระมหาเถระ พระเถระ ผู้เป็นหลักชัยขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ “ศีล 5” หรือ “เบญจศีล 5” อันเป็นศีลพื้นฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิต อันประกอบด้วย ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตาเวรมณี คือ การละเว้นจากการฆ่าชีวิตสัตว์ทุกชนิด ศีลข้อที่ 2 อทินฺนาทานาเวรมณี คือ การละเว้นจากการลักทรัพย์ ลักขโมย ไปลักลอบเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิสฺฉาจาราเวรมณี คือ การละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทาเวรมณี คือ การละเว้นจากการพูดปดงดเท็จ พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย และศีลข้อที่ 5 สุราเมรยมัฌชปะมาทัตถานาเวรมณี คือ การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัยและเครื่องดองของมึนเมาทุกชนิด ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย อันจะเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม นำมาซึ่งการสร้างสันติสุขให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. ระบุ

โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ท่านได้ประทานโอวาทในการประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนโครงการฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยกำหนดกรอบ ทิศทาง แนวนโยบาย และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโครงการฯ เชิงคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชน โดยยึดหลัก “ไตรสิกขา” ธรรมะแห่งการพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจสำคัญ ได้แก่ 1) อธิศีลสิกขา คือ ศีลอันยิ่ง ศีลเป็นอาภรณ์ เป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ เป็นหลักการพัฒนาระดับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ให้ครอบครัว สังคม ชุมชน สามารถมั่นคงตั้งมั่นอยู่ในศีล มีศีล 5 เป็นเบื้องต้นนั้น สังคมก็จะเป็นสุข และยั่งยืน 2) อธิจิตตสิกขา คือ จิตอันยิ่ง มีสมาธิ อันเป็นหลักในการพัฒนาจิตใจให้มีสมรรถภาพ ประสิทธิภาพในการคิด พิจารณา ไตร่ตรอง ให้ทราบถึงเหตุและผลอันสมควร ให้ส่งเสริมการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเบื้องต้น อันเป็นการธรรมที่ควรเจริญ ให้จิตใจเกิดความสงบสุข เกิดความสมดุลในชีวิต และ 3) อธิปัญญาสิกขา คือ ปัญญาอันยิ่ง เป็นหลักพัฒนาความรู้ความเข้าใจสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะสิ่งทั้งหลายให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องเสริมสติปัญญาให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าคณะผู้ปกครอง ได้ใช้ “สำนักปฏิบัติธรรม” ที่มีในทุกจังหวัดทั้ง 1,756 แห่ง เป็นศูนย์กลางดำเนินงานโครงการฯ บูรณาการร่วมกันกับศิลปวัฒธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ความเป็นตัวตนของชุมชน การประกอบสัมมาชีพ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้การพระพุทธศาสนาดำเนินควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่สืบไป

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า “กระทรวงมหาดไทยมีกลไกการบริหารราชการขับเคลื่อนงานที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ทั้งท้องที่ และท้องถิ่น ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งแม่ทัพของจังหวัด นายอำเภอซึ่งเป็นแม่ทัพของอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนากร ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นขุนศึก ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” อย่างต่อเนื่อง เพราะคนมหาดไทยมีต้นทุนเดิม คือ “การเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่จังหวัดสระบุรีเมื่อปี 2557” และทุกจังหวัดทั่วประเทศก็ได้ขับเคลื่อนร่วมกับคณะสงฆ์ผู้เป็นหลักชัยในแต่ละพื้นที่จังหวัด พื้นที่อำเภอ

สำหรับปี 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” โดยมี 7 ภาคีเครือข่ายเป็นองค์ประกอบ ตั้งแต่คณะทำงานระดับกระทรวง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับตำบล มีกำนันเป็นประธาน ระดับหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน โดยมีเจ้าคณะผู้ปกครองแต่ละระดับเป็นที่ปรึกษา และพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะผู้ปกครองร่วมเป็นคณะทำงาน และสำหรับในด้านสถานที่ขับเคลื่อนโครงการฯ นั้น กระทรวงมหาดไทยจะได้ขอความเมตตาจากมหาเถรสมาคมได้ขยายสาขาของโครงการฯ จากศูนย์ปฏิบัติธรรมไปยังวัดทุกวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการจัดทำตัวชี้วัดการขับเคลื่อนงาน (KPIs) รวมถึงการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนร่วมกับคณะสงฆ์ โดยมี สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สนผ.สป.) เป็นศูนย์กลางการบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อกำหนดกรอบให้จังหวัด อำเภอ ได้ทำหน้าที่รณรงค์ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 และทำให้ประชาชนศาสนิกอื่น ๆ ได้ทำให้เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในศีลธรรมตามหลักธรรมความเชื่อของศาสนาควบคู่กับการขับเคลื่อนงานตามอำนาจหน้าที่ (Function) เช่น หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) หมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทางแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง (หมู่บ้านอยู่เย็น) หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นต้น โดยการประเมินในเชิงปฏิบัติเบื้องต้น คือ พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องแสดงตนเป็นพุทธมามกะที่วัด และต้องกระตุ้นปลุกเร้าให้คนในหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งจะได้แจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ ได้ดำเนินการต่อไป”

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างสังคมแห่งความสุขด้วยการส่งเสริมหลักธรรม คือ “ศีล 5” ปลูกฝังบ่มเพาะให้กับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียน 1,776 แห่ง วิทยาลัย 4 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18,309 แห่ง ส่งเสริมการเรียนรู้วิชา “หน้าที่ศีลธรรม” เป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาและเป็นการปฏิบัติในสถานศึกษา อาทิ 1) ในทุกเช้าให้นักเรียน/นักศึกษาที่เป็นพุทธศาสนิกชนได้สวดมนต์ไหว้พระและแสดงตนเป็นพุทธมามกะ 2) ส่งเสริมให้นักเรียน/นักศึกษาได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จัดทำ “หนังสือหน้าที่ศีลธรรม” ซึ่งภายในประกอบด้วย องค์ความรู้พุทธประวัติ หลักเบญจศีล เบญจธรรม หน้าที่เด็ก 10 ประการ หลักธรรมในชีวิตประจำวัน หลักหัวใจนักปราชญ์ รวมถึงวิธีปฏิบัติศาสนพิธี โดยมีรูปแบบหนังสือที่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้การเรียนรู้หลักคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ได้กลับมาเป็นวิชาที่สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ ให้ สถ. ได้ส่งเสริมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ อปท. ที่มีสรรพกำลัง ได้จัด “มหกรรมส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมหมู่บ้านศีล 5” อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยภายในมหกรรมประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประเพณีอันดีงาม เช่น การประกวดการสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ การแข่งขันบรรยายธรรม การแข่งขันประติมากรรม การแข่งขันแต่งบทร้อยกรอง การแข่งขันเรียงความ ตลอดจนการประกวดหมู่บ้านที่มีการส่งเสริมการทำบุญ ใส่บาตรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ และพระสงฆ์สาธารณูปการ อันส่งผลทำให้เป็นหมู่บ้านศีล 5