ปลัด มท. ลงพื้นที่มอบนโยบายและติดตามการขับเคลื่อนงานหน่วยงานในสังกัด ใน จ.มหาสารคาม เน้นย้ำสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำ และคนมหาดไทยต้องมีใจเป็นนายกายเป็นบ่าว

ปลัด มท. ลงพื้นที่มอบนโยบายและติดตามการขับเคลื่อนงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เน้นย้ำสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้นำ และคนมหาดไทยต้องมีใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ลงพื้นที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจประชาชน

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและติดตามการขับเคลื่อนงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมมอบนโยบายและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม นางสาวปราณี วงศ์บุตร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 13 อำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเทพาคาร 2 หอประชุมเทพาคาร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนทีมงานของจังหวัดมหาสารคามทุกหน่วยงาน ที่ทำให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ทุกท่านได้ร่วมกันเป็นผู้ทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้น ด้วยการรวมพลังของพี่น้องประชาชน และภาคีเครือข่าย ช่วยกันปลูกต้นยางนา รวมถึงพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการทำเป็นครั้งแรก แต่เป็นการสะสมการทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ท่านผู้ว่าฯ ตลอดจนนายอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการทุกท่านได้ขยายผลและติดตามให้กำลังใจพี่น้องทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพราะการปลูกต้นไม้สามารถทำได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน รวมทั้งเพิ่มเติมพันธุ์ไม้จำพวกปลูกครั้งเดียว แต่เราสามารถดูแลให้มีผลผลิตงอกงามต่อเนื่องได้ เช่น มะกรูด มะนาว มะพร้าว มะม่วง ทุเรียน จะบก และสมุนไพร พวกข่า ตะไคร้ กล้วย และขอให้ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ขยายผลในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เพื่อทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงด้านอาหาร เป็นพื้นที่แห่งการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้พัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะของข้าราชการฝ่ายปกครอง และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกสังกัด เพื่อปลุกใจ ปลุก passion “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของคนปกครองและคนมหาดไทยให้สมกับการเป็น “ราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน” เพราะกระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความตระหนักรู้ว่าเราเป็น “ผู้นำ” ที่ต้องปลุกจิตวิญญาณความเป็นคนมหาดไทย ให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณแห่งความรัก ความเมตตา ความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยมี “ใจ” ที่ต้องเป็นประธาน มี “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” อันหมายถึงการที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนตลอดเวลา โดยมีร่างกายเป็นบ่าวทำสิ่งที่ดีตามที่ใจคิด เราจึงต้องช่วยกันปลุกใจของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้นำหมายเลข 1 ของระดับพื้นที่ คือ เป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่จังหวัด และเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่อำเภอ เมื่อเป็นผู้นำสูงสุดของพื้นที่ ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติตน ทำให้คนในพื้นที่รักกันให้มากที่สุด ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปทำงานให้มาก ลงพื้นที่ไปคลุกคลีตีโมงบ่อย ๆ ทำงานร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ดังพระโอวาทขององค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานว่า “การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ต้องออกตรวจตราจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด…” ทำให้พี่น้องประชาชนเห็นเราเป็นเหมือนญาติ ดังพุทธพจน์ “วิสฺสาสปรมา ญาติ” ที่แปลว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ ทุกเรื่องจะดีได้ ต้องมี “ผู้นำที่เข้มแข็ง” และเป็นผู้นำที่น้อมนำหลักการทรงงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงใช้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจผ่านโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ คือ ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมเสนอแนะหาแนวทาง ร่วมกันลงมือทำ ร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อก่อให้เกิดการร่วมรับประโยชน์พร้อมกับทุกคน ไม่ว่าพี่น้องประชาชนคนใดประสบปัญหาความลำบากส่วนไหน เราจะได้ช่วยกัน เหมือนกับการร่วมกันปลูกต้นไม้ตลอดหลายปีนี้ก็ช่วยทำให้พื้นที่เป็นป่าชุมชนที่ร่มเย็น หรือหากบ้านไหนที่มีปัญหายาเสพติด เมื่อเกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย ปัญหาก็จะหมดไป

“พวกเราในฐานะผู้นำ นอกจาก “ต้องทำก่อน” แล้ว ยังต้องเป็นผู้นำขับเคลื่อนงานของทุกกระทรวง เพราะเราเป็นทีมเดียวกับพี่น้องข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม เนื่องจากงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็เป็นงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทั้งสิ้น สอดคล้องกับกระทรวงมหาดไทย อันมีจุดหมายปลายทาง คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำงานทุกอย่างจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ คนมหาดไทยต้องนำแนวทางการทำงานแบบ RER อันได้แก่ งานประจำตามอำนาจหน้าที่ (Routine Job) ต้องทำให้ดี มีการหมั่นซักซ้อมทำความเข้าใจ หมั่นลงพื้นที่ติดตาม ประเมิน เยี่ยมเยียนข้าราชการในสังกัด ให้เกิดการก่องาน ริเริ่มงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่ อีกทั้งต้องมีงานพิเศษเพิ่มเติม (Extra Job) ที่แม้ว่าจะไม่ใช่งานตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งตนเอง แต่หากเป็นงานที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ก็จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และสิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือ ต้องมีการสื่อสารกับผู้อื่น (Report) ทั้งการสื่อสารในลักษณะรายงานการดำเนินงาน รายงานความต่อเนื่องของงาน ทั้งต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานแล้ว ก็จะต้องรายงานผลด้านการสร้างการรับรู้ให้กับสังคม ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนงานให้กับพี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย มุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีให้มีประโยชน์กับพื้นที่ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้เกิดการรับประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

จากนั้น ในที่ประชุม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย เช่น การขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน การบริการจัดการและการสำรวจข้อมูลจากฐานข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้านในระบบ ThaiQM การขับเคลื่อนถังขยะเปียกลดโลกร้อน การส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) การบริหารจัดการขยะ การบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) การบริหารจัดการสถานการณ์สาธารณภัยในช่วงฤดูฝน เป็นต้น ซึ่งนายอำเภอเมืองมหาสารคามได้นำเสนอเรื่องพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อย่ารอให้น้ำท่วม เราต้องบูรณาการกันในการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากอีก จึงขอให้ทางจังหวัดมหาสารคามได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แก้ไขปัญหาโดยใช้งบประมาณตามอำนาจหน้าที่เพื่อป้องกันให้พร้อมรับสถานการณ์ในเบื้องต้น และในเชิงความยั่งยืน ขอให้ใช้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา และการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในมิติการป้องกันและประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนจะได้รับในระยะยาว

“ประเทศชาติจะมั่นคง ประชาชนจะมีความสุข ด้วยการใช้ชีวิตตามหลักการพึ่งพาตนเอง อันจะยังผลทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้นั้น “สถาบันนักปกครองต้องมั่นคง” ซึ่งสถาบันนักปกครองจะมั่นคงได้ พวกเราชาวกระทรวงมหาดไทย ชาวปกครองทุกคน จะต้องมีใจที่รุกรบ มี passion แห่งการเป็นผู้เสียสละ ทำงานอย่างไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของเวลา เพราะทุกเวลา 24 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาที่เราสามารถอุทิศตนเพื่อราชการ อุทิศการทำงานเพื่อประชาชน และความมุ่งมั่นตั้งใจเช่นนี้ จะทำให้เกิดความรัก ความศรัทธา ความยกย่องชมเชย และความเชื่อถือ จากพี่น้องประชาชน และจะทำให้กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ตลอดจนทุกกรม เป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่ศรัทธาของพี่น้องประชาชนคนไทยตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย