ปลัด มท. บรรยายพิเศษหลักสูตร PEP for D-CAST เน้นย้ำ “นายอำเภอที่ดี”ต้องมีหัวใจรุกรบ บูรณาการงาน บูรณาการคน เพื่อสร้างความสำเร็จของงานและทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ปลัด มท. บรรยายพิเศษหลักสูตร PEP for D-CAST เน้นย้ำ “นายอำเภอที่ดี” ต้องมีหัวใจรุกรบ บูรณาการงาน บูรณาการคน เพื่อสร้างความสำเร็จของงานและทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (12 ก.ค. 66) เวลา 09:00 น. ที่โรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง วิทยาลัยการปกครอง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ Proficiency Enhancement Program for District Change Agent Strategic Transformation (PEP for D-CAST) ประจำปี 2566 โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพุทธิพงษ์ สุริยะสิงห์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสิทธิชัย เทพภูษา อธิการวิทยาลัยการปกครอง และนายอำเภอผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 40 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ (PEP for D-CAST) เป็นโครงการสำคัญในด้าน “การพัฒนาคน” ตามนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HRD) ของกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานบุคคลในระดับพื้นที่ที่ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของ “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ผู้เป็น “นักบริหารงานท้องที่ในทุกมิติ” ไม่ว่าจะเป็นการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาในอำเภอ (Management) หรือการสรรหาทีมงานในพื้นที่ (Recruitment) รวมไปถึงการพัฒนาบุคคล (Development) เพื่อให้นายอำเภอได้มีทีมงานเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยความสบายอกสบายใจและทำได้อย่างเต็มความสามารถเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งคำว่า “การบริหาร” ประกอบด้วย การบริหารงาน การบริหารคน การบริหารงบประมาณ รวมไปถึงการรายงาน ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานปกติของทุกคน ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของผู้บริหารหรือนายอำเภอ ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลของแต่ละคนหรือหน่วยงานมีความยากและง่ายแตกต่างกันออกไป จึงเป็นที่มาของหลักการบริหารที่สำคัญของคนมหาดไทย คือ หลักการ R-E-R

“หลักการบริหารแบบ R-E-R ประกอบด้วย (R) Routine Job คือ งานที่ต้องทำเป็นประจำ ซึ่งนายอำเภอมีงานทะเบียนราษฎร์ งานบัตรประชาชน งานปกครอง งานความมั่นคง งานอำนวยความเป็นธรรม งานสำนักงาน ที่เป็นงานประจำอยู่แล้ว โดยมี “ปลัดอำเภอ” เป็นผู้ช่วยเหลืองาน ทำให้การบริหารงานบุคคลมีความสำคัญยิ่ง เพราะว่านายอำเภอมีหน้าที่ในการเสริมสร้างและพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนางานประจำที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น ดังนั้น นายอำเภอจึงต้องวางคนให้เหมาะสมกับงาน ที่พวกเราทุกคนเคยได้ยินว่า “Put the right man on the right job” กล่าวคือ ต้องทำความเข้าใจให้ผู้ที่รับผิดชอบงานรู้หน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจ โดยมีนายอำเภอทำหน้าที่คอยกำกับดูแลและหมั่นตรวจสอบการดำเนินงาน ซึ่งการที่จะสามารถทำงานให้ดีได้ต้องควบคู่กับการมี (E) Extra Job คือ ทำงานที่นอกเหนือจากงานประจำ อันเป็นการคิดและทำสิ่งที่ดีที่เราอยากจะทำให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ของเราได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสในการขับเคลื่อนโครงการในพระราชดำริ 4,741 โครงการว่า ต้องทำให้เหมาะสมกับ “ภูมิสังคม” คือ ต้องเหมาะสมกับภูมิประเทศและวัฒนธรรมประเพณีของคนในพื้นที่ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานที่เราอยากทำให้สำเร็จ คือ (R) Report หรือการรายงานผลการดำเนินงานด้วยการสื่อสารทั้งในและนอกหน่วยงาน ในรูปแบบทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้ทุกคนรับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์ในสิ่งที่เราทำ เพื่อจะได้ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน และร่วมด้วยช่วยกันส่งเสริมผลักดันให้การทำสิ่งที่ดีที่ “อยากจะทำ” ไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ดังที่พวกเราชาวมหาดไทยได้มุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางขจัดความยากจนในครัวเรือนแบบพุ่งเป้าตามข้อมูลระบบ TPMAP และ ThaiQM โดยมีนายอำเภอ 878 อำเภอ ทำหน้าที่บูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (ศจพ.อ.) ในการระดมสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้มาช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไทย ทำให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้มีบ้านอาศัยทั่วประเทศโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ รวมกว่า 2 แสนหลัง ซึ่งมีที่มาจากภูมิสังคมของไทย คือ นิสัยของคนไทย ที่เป็น “ผู้ให้” ด้วยจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยการทำบุญทำทานเป็นปกติ ดังนั้น นายอำเภอ จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรหรืองบประมาณจำนวนมากในการบริหารงาน แต่ขึ้นอยู่กับ “เราว่ามีหัวใจรุกรบที่จะทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนของเรา” แสดงให้เห็นว่าพวกเราชาวมหาดไทยผู้เป็นราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน เป็นผู้มีใจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีนโยบายเป็นกรอบในการกระตุ้น จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนมหาดไทย เราสามารถบริหารงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชนในภาวะจำกัดได้ และทำได้ดีด้วย เป็นตัวอย่างของคนมหาดไทยที่อยากทำสิ่งที่ดี โดยมีแรงปรารถนา (Passion) และอุดมการณ์ (Attitude) และความอยากจะทำ กล่าวคือ เราทุกคนมีหัวใจรุกรบ ที่อยากจะทำสิ่งที่ดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“นายอำเภอจึงเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วยการสร้างทีมภาคีเครือข่าย ตามโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” (D-CAST) ซึ่งคำว่า “บูรณาการ” คือ การบูรณาการคน ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย และการบูรณาการงานทุกงานของทุกกระทรวงมาสู่พี่น้องประชาชน เพราะว่านโยบายของทุกหน่วยงานนั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน แต่ “นายอำเภอทำคนเดียวไม่ได้” ดังนั้น ขอให้นายอำเภอทุกคนที่มาอบรมในวันนี้ ที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ได้มารวบรวม ประมวลองค์ความรู้ เพื่อนำกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ไปทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ” (CEO) ที่ต้องดูองค์รวมทุกงานของอำเภอ ด้วยการบูรณาการงาน และบูรณาการคนไปพร้อมกันกับการเป็นโฟร์แมน (Foreman) คือ คนที่นำแนวนโยบายมาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะ “ทุกท่านเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการดูแลพี่น้องประชาชน” และตนมั่นใจว่าคนมหาดไทยจะมีใจรุกรบในการใช้โอกาสที่ดีของชีวิต Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า “ความสำเร็จอย่างยั่งยืน” ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้ถอดบทเรียนจากการดำเนินโครงการในพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ จะต้องประกอบด้วย 4 วิธีการ คือ 1) ร่วมพูดคุย 2) ร่วมคิด 3) ร่วมทำ และ 4) ร่วมรับประโยชน์ และทุกข้อต้องอาศัยการทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่แบบองค์รวม เริ่มจากการแบ่งกลุ่มบ้าน เป็น “คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน กลุ่มบ้าน” อย่างเป็นระบบแบบเดียวกับระบบที่มีอยู่แล้ว เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีโครงสร้างการทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อขับเคลื่อนทำให้กลุ่มบ้านมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

“ขอให้พวกเราใช้เวลาในช่วงอบรมนี้ มาประมวล รวบรวม กระตุก “ต่อมความอยาก” ในการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการทบทวนจุดแข็งจุดอ่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการบริหารงานบุคคลตามระบบของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมสมรรถภาพของคน ซึ่งตนและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยขอส่งความปรารถนาดีเพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านในความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานปฏิบัติราชการ เพื่อให้ทุกท่านได้นำเอาแนวทางและองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็น “แม่ทัพที่อำเภอ” นั่งอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชน ทำสิ่งที่ดีตามที่ทุกท่านปรารถนา และใช้เวลาทุกนาทีของการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดินให้มีคุณค่าอย่างภาคภูมิใจ เพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย