การศึกษานโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

การศึกษานโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน: การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำคณะผู้บริหาร อว. พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยไทย เข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการ Think Tank Forum ครั้งที่ 3 (The 3rd Think Tank Forum) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อ “Ten Years of the Belt and Road: China-Thailand Partnership for Sustainable Development” โดยมีสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และ Professor Gao Xiang ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสายงานวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)  ได้นําเสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย และจีน โดยการฉายภาพความสําเร็จของนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนเปรียบเทียบกับ นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย ซึ่งจีนสามารถขจัดความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีจํานวนคนยากจนเท่ากับศูนย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสําเร็จ อยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย ประกอบด้วย นโยบายจากผู้นํามีความจริงจัง มาตรการมีความเฉพาะเจาะจง(Targeted Poverty Eradication: TPE) การสนับสนุนให้พึ่งตนเองในระยะยาว และ ใช้วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี

ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ได้กล่าวถึงปัญหาความยากจนว่า “เป็นปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างระดับชาติของประเทศไทย ที่สั่งสมกันมานาน จนเป็นอุปสรรคสําคัญต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศไทยได้มีการกําหนดให้การแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศเป็นปัญหาเร่งด่วนของชาติ และผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยการผนึกกําลังของทุกภาคส่วนในสังคม และให้มีการดําเนินงานด้วยการพร้อมกันทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น และชุมชน จากการทบทวนวรรณกรรมและจากแหล่งข้อมูล ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นแผนฯ ฉบับที่ 13 แล้ว รวมไปจนถึงการศึกษาอื่นๆ และจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ การศึกษาการแก้ไขปัญหาความยากจน พบว่าได้มีความพยายามผลักดันในทุกสมัย จากตัวเลขทางสถิติพบว่า ตัวเลขที่แสดงถึงอัตราเฉลี่ยของประชากรที่มีความยากจนในประเทศไทยมีอัตราที่ลดลงจริงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา จนถึงปี 2559 และมีอัตราจำนวนของประชากรที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงของความยากจนในช่วงระยะเวลานั้นของประเทศไทย จากข้อมูลของ TDRI ได้กล่าวไว้ว่า อัตราการลดลงของความยากจนในประเทศไทยที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีจำนวนของประชากรที่มีความยากจนลดลงอย่างแท้จริง แต่เป็นด้วยปัจจัยอื่นเช่น เศรษฐกิจในขณะนั้นมีภาวะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นต้น”

“เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบกับความสำเร็จของประเทศจีน โดยประเทศจีนได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนเช่นเดียวกัน ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนในเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2563 อย่างเบ็ดเสร็จ (Absolutely Poverty Eradication) โดยใช้มาตรการการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด (Targeted Poverty Eradication: TPE) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนโยบายสำคัญ และใช้เวลาเพียง 7 ปีเท่านั้นในการขจัดความยากจนให้เหลือ 0 คน ซึ่งต่างจากความยากจนสําหรับประเทศไทย ที่มีการคํานวณจากค่าใช้จ่ายของบุคคลหนึ่ง ๆ สําหรับการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าจําเป็น โดยคํานวณจากปริมาณอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคที่จําเป็นขั้นต่ำ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นอกจากนั้นในบริบทความยากจนของคนไทย คนยากจนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทโดยมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 86.2 ของคนยากจนทั้งหมด และความยากจนเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมที่หมักหมมมานาน ที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกทางต่อไปโดยเร่งด่วน”  ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล กล่าว

“ประเทศจีนดำเนินนโยบายขจัดความยากจนให้เหลือ 0 คน ในปี พ.ศ. 2563 จากจำนวนคนยากจน 83 ล้านคน (ร้อยละ 8.5 ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด) ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นนโยบาย ทั้งนี้ พบว่านโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้ คือ 1) นโยบายจากผู้นำมีความจริงจัง และต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายระดับประเทศที่ชัดเจนโดยทุกหน่วยงาน 2) มีเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) และเชื่อมโยงมาตรการขจัดความยากจนของทุกหน่วยงานให้มีการบูรณาการอย่างชัดเจน 3) การออกแบบมาตรการอย่างเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย  4) ทุกมาตรการต้องยึดหลักสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว (Sustainability)  และ 5) การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขจัดความยากจน (Innovation against poverty) โดยท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มีแนวคิดการดำเนินนโยบายลดความยากจนของประเทศจีน 4 แนวคิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังต่อไปนี้คือ

  1. การพิสูจน์อย่างตรงจุด เป็นการพิสูจน์ครอบครัวที่ยากจนและหมู่บ้านที่ยากจนเพื่อสร้างเป็นประวัติ โดยผ่านกระบวนการยื่นคำขอรับพิจารณา ประกาศต่อสาธารณะ การสุ่มตรวจและตรวจสอบซ้ำ โดยมีเกณฑ์การพิสูจน์ครอบครัวยากจนในชนบท กำหนดเส้นแบ่งความยากจนที่รายได้ 2,736 หยวนต่อคนต่อปี (หรือ 12,400 บาท/คน/ปี โดยประมาณ) แต่ละมณฑลสามารถคัดเลือกจำนวนครอบครัวที่มีฐานะยากจนได้ตามสัดส่วนคนจน (Poverty Incidence) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศไว้เป็นรายมณฑลและบวกเพิ่มอีก 10% การสร้างประวัติครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ จะมีการบันทึกข้อมูลครอบครัวทั่วไป
  2. การช่วยเหลือเพื่อลดความยากจนอย่างตรงจุด เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกในสาเหตุที่ทำให้ยากจนของครอบครัวและหมู่บ้านที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว หลังจากนั้น กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการช่วยเหลือลดความยากจนรายครอบครัวและรายหมู่บ้าน พร้อมระดมกำลังดำเนินการโดยรัฐบาลระดับเมืองและมณฑล มีการเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ทำงานในคณะทำงาน มีการใช้คณะทำงานประจำหมู่บ้าน และมีการทำงานของรัฐบาลระดับเมืองและมณฑล
  3. การบริหารจัดการอย่างตรงจุด เป็นการติดตามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือพ้นจากความยากจนอย่างใกล้ชิด สร้างเครือข่ายฐานข้อมูลการลดความยากจนระดับประเทศ เพื่อแสดงพลวัตความก้าวหน้าในการลดความยากจน
  4. การตรวจสอบอย่างตรงจุด เป็นการตรวจสอบเชิงปริมาณในผลการทำงานตั้งแต่การพิสูจน์ครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน การช่วยเหลือและบริหารจัดการลดความยากจนอย่างตรงจุด เพื่อรับรองการปฏิบัติงานในทุกการใช้นโยบายลดความยากจน”