ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยม “บ้านไร่ (ศิลาทอง)” ต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน เน้นย้ำ ทุกกลไกมหาดไทยในพื้นที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยม “บ้านไร่ (ศิลาทอง)” ต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน เน้นย้ำ ทุกกลไกมหาดไทยในพื้นที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ขยายผลสิ่งที่ดี ที่เป็นต้นแบบ ทำให้ทุกหมู่บ้านของจังหวัดลำปางเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”

วันนี้ (9 ก.ค. 66) เวลา 13.00 น. ที่วัดบ้านไร่ (ศิลาทอง) ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนหมู่บ้านเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยมี นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ นายธนารัฐ สายเทพ นายอำเภอเมืองลำปาง นายสมจิตร จุลเจริญ นายอำเภองาว พร้อมด้วยนายอำเภอในพื้นที่จังหวัดลำปาง ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลพิชัย ร่วมให้การต้อนรับ โดยได้รับเมตตาจากพระครูสถิตธรรมวิภัช เจ้าคณะตำบลพิชัย เขต 3 เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ (ศิลาทอง) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป และ ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ชุดที่ 25 ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบสักการะพระประธานในอุโบสถวัดบ้านไร่ และกราบนมัสการ พระครูสถิตธรรมวิภัช เจ้าคณะตำบลพิชัย เขต 3 เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ (ศิลาทอง) จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนงานบ้านไร่ (ศิลาทอง) ต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของตำบลพิชัย อาทิ ผลงานการพัฒนาทักษะการทอผ้าตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการทอผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา เพื่อเตรียมส่งเข้าประกวดผ้าลายดอกรักราชกัญญา ผลิตภัณฑ์กลุ่มสานเส้นพลาสติกเทียมใจ ผลิตภัณฑ์กลุ่มสร้อยทิพย์เซรามิค กาแฟสับปะรด วิสาหกิจชุมชนเด็กน้อยพอเพียง กลุ่มสับปะรดบ้านเสด็จ กลุ่มหมอนบ้านไร่ศิลาทอง กลุ่มครกหินบ้านไร่ศิลาทอง เป็นต้น และร่วมปลูกต้นขนุนในศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านไร่ศิลาทอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านรักษาศีล 5 ของจังหวัดลำปาง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พี่น้องประชาชนชาวบ้านไร่ (ศิลาทอง) ตำบลพิชัยแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่โชคดีที่มีพระเดชพระคุณ พระครูสถิตธรรมวิภัช เจ้าคณะตำบลพิชัย เขต 3 เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ (ศิลาทอง) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา ผู้เป็นหลักชัยเมตตานำพี่น้องประชาชนศรัทธาญาติโยมทุกครัวเรือน ดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง ด้วยการช่วยกันทำให้บ้านเรือนสะอาด ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” มาพัฒนาพี่น้องประชาชนให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับหลักการสากลที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

“ในเรื่องแรกที่พวกเราชาวกระทรวงมหาดไทยได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมและนำผลงานของพวกเราทั้ง 76 จังหวัดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี 4 จังหวัดแรกเป็นจังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดเลย ลำพูน สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ สามารถช่วยกันพูดคุยกันทุกครัวเรือนในจังหวัด ทำให้พี่น้องประชาชนเห็นความสำคัญของการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand) ซึ่งถังขยะเปียกลดโลกร้อน จัดทำได้ง่าย ๆ เพราะสามารถใช้ถังพลาสติกใบเก่า เช่น ถังสี ถังน้ำเก่า ๆ มาตัดก้นของถัง แล้วขุดหลุมเป็นรูปลิ่ม ให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง แล้ววางถังพร้อมฝาปิดลงไปบนหลุม แล้วนำเอาขยะเปียก ทั้งเศษใบตอง ใบเตย แตงโม ใบไม้ ใบหญ้า พวกเศษอาหาร เศษสับปะรด อาหารที่เหลือ มาใส่ในถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อจะได้เกิดกระบวนการย่อยสลาย และปุ๋ยหมักเหล่านั้นจะกลายเป็นสารบำรุงดินชั้นดี ต้นไม้ พืชผักก็จะงอกงามมาก เพราะได้น้ำหมักจากขยะเปียก ส่วนก๊าซเสียก็จะไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะถูกดินดูดซับไปหมด และฝาถังที่ปิดก็กันไม่ให้กลิ่น ไม่ให้ก๊าซเสียลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และดินก็จะดูดไปเป็นอาหารให้ต้นไม้ ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จ คือ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน ซึ่งในเฟสแรก สามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง และขณะนี้กำลังทำระยะที่ 2 จำนวน 22 จังหวัด อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า พวกเรากำลังช่วยกัน Change for Good เสริมสร้างสภาวะแวดล้อม ทำให้อายุของโลกยืนยาว ทำให้อากาศไม่แปรปรวน เพราะการที่เราทำให้ก๊าซเสียไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศไปรวมตัวด้านบนเป็นเกราะแก้วกระจกห่อหุ้มโลก จนเกิดเป็นภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) ไปสะสมรวมอยู่ด้านบน ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนซึ่งปกป้องผิวโลก จนปัจจุบันนี้อากาศร้อนกว่าในอดีต เพราะการดำเนินชีวิตของพวกเรา ดังนั้น เราทุกคนต้องร่วมกันเป็น “มนุษย์ 3Rs (3ช)” คือ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่)” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และพระราชทานพระดำรัสว่า “กระทรวงมหาดไทยต้องทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ต้องทำให้เกิด Sustainable Village” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้นำแนวพระดำริดังกล่าวมาขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการ “พึ่งพาตนเอง” ซึ่งเรามีหน้าที่จะต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน คือ 1) น้อมนำแนวพระราชดำริด้านความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และเสริมเรื่องเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ 2) ทำให้พี่น้องประชาชนรวมคนรวมกลุ่มเป็นคุ้มบ้าน เป็นหย่อมบ้าน เป็นกลุ่มบ้าน มีคณะกรรมการคุ้มพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนกัน และมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่เข้มแข็ง โดยมีปลัดอำเภอ ซึ่งเป็นปลัดประจำตำบล หมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียน พูดคุยสอบถาม ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน และพบปะพี่น้องประชาชน เพื่อติดตามถามไถ่ ดูแลคุณภาพชีวิตสมาชิกในตำบลอย่างต่อเนื่อง บ้านไหนมีคนเจ็บป่วยติดเตียง บ้านไหนกำลังประสบปัญหาด้านอาชีพ บ้านไหนกำลังเจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ก็จะมีกลไกเหล่านี้เป็นผู้ดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำ 3) มีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน สมาชิกในหมู่บ้านชุมชนมีการคัดแยกขยะ และบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน 4) มีการส่งเสริมประเพณี ค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม อันเสริมสร้างความรู้รักสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูล และความปรองดองสมานฉันท์ให้กับคนในหมู่บ้านชุมชน

“ในเรื่องการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ขอให้กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนากร ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้บูรณาการร่วมกันโดยใช้ “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” สร้างทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน ทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืนเฉกเช่นบ้านไร่ศิลาทองแห่งนี้ที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบ “หมู่บ้านยั่งยืน” ทำให้ทุกหมู่บ้านของอำเภอเมืองลำปาง และทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านยั่งยืน พร้อมทั้งถ่ายทอดส่งเสริมสิ่งดี ๆ เหล่านี้ ไปสู่ลูก ๆ หลาน ๆ เด็กและเยาวชน ให้พวกเขาได้ซึมซับสิ่งที่ดี และนำสิ่งที่ดีเหล่านี้ไปเลียนแบบไปทำตาม เพื่อที่จะทำให้เกิดเป็นความยั่งยืน ยังผลให้พี่น้องประชาชนชาวลำปางทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

พระครูสถิตธรรมวิภัช กล่าวว่า บ้านไร่ศิลาทอง ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างพลังความรักสามัคคีของญาติโยมสาธุชนในหมู่บ้าน ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอเมืองลำปาง ทีมปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาประชุมร่วมกันจัดทำแผนที่การพัฒนาทั้งท้องถิ่นและชุมชน มุ่งแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือ เริ่มจากในป่าด้วยการเริ่มทำฝาย ปลูกต้นไม้ บวชป่า โดยไม่มีงบประมาณ ก็ตั้งกองผ้าป่า ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการแก้ปัญหาหมอกควันก็ทำมาโดยตลอด จากสมัยก่อนต้นไม้มีน้อยมาก ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น และยังได้ปลุกเร้าคนในชุมชนให้มีกำลังใจร่วมกันทำจนเป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่แรกของจังหวัดลำปาง

“ในเรื่องการจัดการขยะ จะเห็นว่าในหมู่บ้านนี้ไม่มีถังขยะ เพราะคนในชุมชนช่วยกันแยกขยะ และได้นำโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนเข้ามา ซึ่งอำเภอเมืองลำปางสามารถขับเคลื่อนได้ 100% โดยอาตมาภาพได้ลงไปร่วมกับทีมของอำเภอ ไปติดตามและแนะนำให้กำลังใจชาวบ้าน และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้นำหลักพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ มาปฏิบัติจนเกิดมรรคผลอยู่รอดปลอดภัย นอกจากนี้ในเรื่องพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ที่วัดก็ได้เป็นผู้นำขับเคลื่อนมาโดยตลอดและส่งเสริมให้ประชาชนครัวเรือนในพื้นที่ช่วยกันทำให้ชีวิตมีความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนบ้านไร่ (ศิลาทอง) มีสุขภาวะ กาย จิต ปัญญา และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” พระครูสถิตธรรมวิภัช กล่าว

พระครูสถิตธรรมวิภัช กล่าวเพิ่มเติมว่า วัดบ้านไร่ (ศิลาทอง) ไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่ทำพิธีกรรม แต่เป็นที่สร้างคนให้มีสุขภาวะที่ดี และที่สำคัญที่สุด เราจะทำให้วัดและชุมชนเกิดความยั่งยืน โดยมีหน่วยงานราชการเป็นส่วนเสริมสนับสนุนสร้างความยั่งยืนด้วยความเข้มแข็งของคนที่อยู่ในชุมชน เพราะพวกเราทุกคนต้องการร่วมกันตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ตอบแทนบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนา เพื่อทำให้สังคมของเรายังคงอยู่ แผ่นดินไทยของเรายังคงเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง แผ่นดินแห่งความผาสุก ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานและศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนสร้างพลังสามัคคีแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าตลอดไป