ปลัด มท. ชื่นชมพ่อเมืองเลยต้นแบบผู้นำต้องทำก่อนกันพื้นที่ในจวนผู้ว่าฯ สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา แหล่งเรียนรู้ให้ประชาชน

ปลัดมหาดไทยชื่นชมพ่อเมืองเลยต้นแบบผู้นำต้องทำก่อนกันพื้นที่ในจวนผู้ว่าฯ สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา แหล่งเรียนรู้ให้ประชาชน ย้ำต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะทำเป็นสวนพืชผักครัวกลางเมืองแบ่งปันให้ชาวบ้าน สั่งเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมและมีทักษะในการดำรงชีวิต “พึ่งพาตนเอง”

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 เวลา 15.15 น. ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชม “ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย” พื้นที่ต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน ในพื้นที่ จำนวน 1 ไร่ โดยมี นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สิบเอก กิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดเลย นายณฐพงษ์ วงศ์สง่า หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเลย นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและนำชม โดย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ด้วย

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมกันปลูก “ต้นรวงผึ้ง” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เยี่ยมชมนิทรรศการการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนอำเภอผาขาว อาทิ มะม่วงอาร์ทูอีทู ซึ่งเป็นมะม่วงพันธุ์ที่มีเนื้อแน่น และถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธรเบอร์ 1 (ถั่วช้าง) เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้เป็น “ผู้นำที่ทำก่อน” เพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนเมืองเลย ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โดยริเริ่มจากการใช้พื้นที่ว่างในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้เกิดประโยชน์ ทำให้เป็นพื้นที่ต้นแบบศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม ทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว การทำนา ปลูกข้าว การเลี้ยงปลา การปลูกไม้ยืนต้น ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง (ป่า 5 ระดับ) รวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นการนำประโยชน์นานาประการมาผสมผสานและจัดสรรพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ ให้เป็นต้นแบบพื้นที่แห่งความยั่งยืนสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง

“ป่าไม้ 5 ระดับ ประกอบด้วย 1) ไม้สูง คือ ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ที่ปลูกเพื่อเป็นร่มเงา มีลำต้นใหญ่มั่นคงแข็งแรง เช่น ต้นสัก ต้นพยุง ต้นโมก ยางนา ประดู่ 2) ไม้กลาง คือ ไม้ที่มีความสูงเป็นรองกลุ่มไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน ทุกชนิด มีผลกินได้ เช่น มะพร้าว มะม่วง ขี้เหล็ก มะขาม 3) ไม้เตี้ย ต้นไม้ที่มีทรงพุ่มเตี้ย ไม้ดอก พืชสมุนไพร เช่น พริก มะเขือ กะเพรา ตะไคร้ ข้าว 4) ไม้เรี่ยดินและไม้เลื้อย พืชผักสวนครัว เช่น บวบ น้ำเต้า ถั่ว แตง มะระ ตำลึง ผักบุ้ง 5) ไม้หัวใต้ดิน เป็นไม้ที่มีหัวอยู่ ใต้ดิน สามารถทำเป็นอาหาร เช่น ขิง ข่า หัวหอม กระเทียม สายบัว เผือก มัน ถั่วลิสง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกหม่อน ปลูกฝ้ายที่มาจากกรมวิชาการเกษตรพันธุ์ตากฟ้า มีเส้นใยสีน้ำตาลในโทนสีระดับต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปย้อมสีทอผ้า รวมถึงการจัดการขยะจากเศษอาหาร โดยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องต่อยอดและขยายผลให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชน คือ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นสวนพืชผัก ซึ่งจะเป็นครัวกลางเมืองที่สามารถแบ่งปันให้ชาวบ้าน ให้ประชาชนในพื้นที่ ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ตามสภาพภูมิสังคม รวมทั้งขยายผลแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม และมีทักษะในการดำรงชีวิต ที่เป็นการส่งเสริมหลักการ “พึ่งพาตนเอง” นอกจากนี้ คือการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ การทำคลองไส้ไก่ การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน การทำกังหันน้ำเพิ่มออกซิเจนให้น้ำ ลดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารในน้ำด้วยการเลี้ยงปลา พลิกฟื้นแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทองอีกครั้งหนึ่ง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพและเป็นแหล่งกำเนิดอาหารที่สมบูรณ์ มีพืชผลธัญญาหารงอกเงย เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้กับพวกเรา เพื่อหล่อเลี้ยงคนไทย เป็นแบบอย่างให้เราทุกคนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ต่อยอดไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งผลให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทำให้เกิดเป็นชุมชนและหมู่บ้านที่ยั่งยืน (Sustainable Village) ที่จะทำให้จังหวัดเลยเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน

“ถ้าเราทำให้พื้นที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแห่งนี้ เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงด้านอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแห่งนี้ก็จะสามารถเลี้ยงอาหารคนได้ทั้งชุมชน เป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ เมื่อพี่น้องในชุมชนร่วมกันทำเฉกเช่นเดียวกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ก็จะทำให้สามารถเลี้ยงอาหารคนได้ทั้งอำเภอเมืองเลย ถ้าคนทั้งอำเภอเมืองเลยช่วยกันทำ ก็จะทำให้เลี้ยงคนได้ทั้งจังหวัดเลย ถ้าคนทั้งจังหวัดเลยช่วยกันทำ ก็จะสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ตลอดจนรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการทุกคน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ขยายผลการเสริมสร้างสิ่งที่ดีเหล่านี้ ไปยังพี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้านชุมชน เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนเมืองเลย ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีสุขภาพดี ชีวีปลอดภัย ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดีแล้ว ก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย