ปลัด มท.เปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2566 สืบสานประเพณีท้องถิ่นเมืองเลยให้คงอยู่ตลอดไป

ปลัดมหาดไทยเปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2566 สืบสานประเพณีท้องถิ่นเมืองเลยให้คงอยู่ตลอดไป พร้อมทั้งปลุกการท่องเที่ยวให้คึกคักได้ซึมซับวัฒนธรรมอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นเพียงปีละครั้ง ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่เวทีกลางลานวัฒนธรรมอำเภอ ที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2566 โดยมี นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะผู้บริหารจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำด้านวัฒนธรรมของอำเภอด่านซ้าย พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเลย และนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ เข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” ซึ่งล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระราชดำริว่า “ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต จึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป”

“การแห่ขบวนผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่ผสมผสานกันทั้งเรื่องความศรัทธาและความสนุกสนาน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นงานประเพณีที่ผู้คนทั้งในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นรอคอยที่จะมาร่วมงาน โดยผู้ร่วมงานจะได้พบกับขบวนแห่ของชาวบ้าน ที่พร้อมใจกันแต่งกายคล้ายผีและปีศาจตามจินตนาการ โดยการใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ที่มีการสร้างสรรค์ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม มีสีสันงดงาม แปลกตา แตกต่างกันไป และการละเล่นเต้นรำกันอย่างสนุกสนานไปตามท้องถนนมีขบวนแห่ต่าง ๆ เข้าร่วม 11 ขบวน ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 ขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนที่ 2 ขบวนพระเวสสันดร ขบวนที่ 3 ขบวนนางรำ ขบวนที่ 4 ขบวนเจ้าพ่อกวน ขบวนที่ 5 ขบวนเจ้าแม่นางเทียมและคณะพ่อแสนนางแต่ง ขบวนที่ 6 – 10 เป็นขบวนของกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ ดินแดนลุ่มน้ำหมัน ดินแดนแห่งขุนเขา ดินแดนแห่งแก้วมังกร ด่านซ้ายบ้านเฮา ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี และขบวนที่ 11 ขบวนจากภาคเอกชนสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยจากการคาดการณ์ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและภาคีเครือข่ายผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้มาร่วมงานประมาณ 80,000 – 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้เราได้ชื่นใจว่า จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดข้างเคียงอีกด้วย ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวส (บ้านเจ้าพ่อกวน) ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย ขบวนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองถึงบริเวณวัดโพนชัย แห่รอบโบสถ์สามรอบ พิธีอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าโบสถ์ พิธีจุดบั้งไฟพญาแถนเพื่อขอฝน พิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขน (ท่าวังเวิน) พิธีเจริญพระพุทธมนต์ (เทศน์พระมาลัยหมื่นแสน) และร่วมรับชมดนตรีและปาร์ตี้ผีตาโขนจากกลุ่มอิสระหน้ากากสวยงาม ณ บริเวณเวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย แห่งนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดเลย ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยามดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด” มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งมีของดี ของฝาก ให้แก่นักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ซึ่งสร้างรายได้ สร้างงาน ให้แก่ชาวจังหวัดเลยเป็นอย่างดี ดังนั้น การที่จังหวัดเลย โดยอำเภอด่านช้าย ซึ่งได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิสัยทัศน์การพัฒนาของจังหวัดเลย ในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี “เป็นการชู Soft Power อันเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่” สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมในการจัดงานครั้งนี้
.
“การอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม ของท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเลยผ่านการจัด “งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ของคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเลือกหาผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ หัตถศิลป์ หัตถกรรม ผ้าไทย ให้ได้เลือกซื้อเลือกหา นำไปเป็นของฝากให้แก่ญาติพี่น้องเพื่อเป็นที่ระลึกว่าได้มาร่วมงานงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในวันนี้ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้มีรายได้จากหัตถกรรมที่ทำจากสองมือของพวกเขา เป็นการทำให้เกิดการต่อลมหายใจงานหัตถศิลป์หัตถกรรม เป็นการสานต่อกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับประชาชนในท้องถิ่นที่อำเภอด่านซ้าย และขอเป็นกำลังใจให้การจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกคน และต้องร่วมกันถ่ายทอดส่งต่อการจัดกิจกรรมดีๆเหล่านี้ให้แก่คนรุ่นต่อไป ให้การจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เป็นประเภทนี้ที่ยิ่งใหญ่ คู่กับพี่น้องชาวด่านซ้าย คู่กับจังหวัดเลย และขอเชิญพี่น้องร่วมงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย ประจำปี 2566 ซึ่งทักท่องเที่ยวทุกท่านจะพบกับความอบอุ่นเเละความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ประจำถิ่นของประเทศไทยเรา พร้อมกับความตื่นเต้นสีสันแห่งความสนุกของขบวนแห่ผีตาโขน ที่เนรมิตการแต่งกายให้คล้ายผีและปีศาจ ด้วยการสวมใส่หน้ากากที่มีลวดลายเฉพาะตัว สัมผัสพลังศรัทธาของชาวชุมชนที่สืบทอดและรักษาประเพณีแห่ผีตาโขนมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นชวนออกไปสร้างประสบการณ์การเดินทางอันทรงคุณค่าในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเลยในทุกสถานที่เพื่อความสุขของนักท่องเที่ยวและความสุขของคนเมืองเลยที่ได้ร่วมต้อนรับและดูแลอย่างอบอุ่น” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงจังหวัดเลย มีความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้อย่างยาวนาน ทำให้เห็นถึงรากเหง้าวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จึงต้องขอขอบคุณคณะกรรมการจัดงานฯ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวทุกคน ที่ให้การสนับสนุนในการจัดงาน ตลอดจนพี่น้องชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทุกคน ที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนการจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนของอำเภอด่านซ้าย ขอให้การจัดงานสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ สมเจตนารมณ์ ของทุกฝ่าย ขออำนาจความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระธาตุศรีสองรัก โปรดประทานพรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเลยและนักท่องเที่ยว จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ ตลอดไป
.
ด้าน นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยว่า งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื่องจากได้นำเอาบุญประเพณีสองอย่างมารวมกัน กล่าวคือ “งานบุญพระเวส” (ฮีตเดือนสี่) และ “งานบุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้น เป็นงานบุญที่จัดขึ้น เพื่อฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือว่าจะได้อนิสงส์แรงกล้าบันดาลให้พบ พระศรีอาริยะเมตไตรย ในชาติหน้าส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้น เพื่อบูชาอารักษ์ หลักเมืองและถือเป็นประเพณี การขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ในงานบุญหลวงนี้ จะมีกองทัพ “ผีตาโขน” ออกวาดลวดลาย และร่วมสร้างความสนุกสนานครื้นเครงให้กับขบวนแห่พระเวสสันดร โดยถือว่า “ผีตาโขน” เป็นสัญลักษณ์แทน คนป่าหรือภูตผี ที่ศรัทธาในพระบารมีขององค์พระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรเสด็จกลับเข้าเมือง เหล่าผีตาโขน จึงตามมาส่งและเกิดเป็นการละเล่น “ผีตาโขน” สืบต่อมา การจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ของอำเภอด่านซ้าย ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และในปี 2566 นี้ กำหนดให้มีการจัดงาน รวม 5 วัน ระหว่างวันที่ 21 – 25 มิถุนายน 2566 โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 1. การประกวดวาดหน้ากากผีตาโขน ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ 2. ชมขบวนแห่ผีตาโขนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 11 แห่ง และกลุ่มผีตาโขนอิสระที่มีหน้ากากและชุดที่สวยงามและสร้างสรรค์มากกว่า 30 กลุ่ม 3. กิจกรรมการประกวดเต้นผีตาโขนน้อยของนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอด่านซ้ายในระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2566 4. กิจกรรมการโดดร่มจากชมรมเครื่องพาราเพลน จังหวัดลพบุรี และ 5. กิจกรรมการแสดงดนตรี