จักรวาลศิลปกรรมแห่งโอกาสที่ยั่งยืน “WHY TO PUNK” ศิลปนิพนธ์นักศึกษาที่ทำได้จริง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดนิทรรศการศิลปนิพนธ์ “WHY TO PUNK” ประจำปีการศึกษา 2565 ต่อยอดเพิ่มโอกาสให้นักศึกษา เติมเต็มประสบการณ์การแสดงงานต่อสาธารณชน เชื่อมโยงนำทฤษฎีศิลปะที่เรียนมาประยุกต์ใช้จริงกับชิ้นงาน สื่อสารแก้ปัญหาให้สังคมอย่าง “ยั่งยืน”

คณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ “WHY TO PUNK” ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความภาคภูมิใจในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เปิดพื้นที่เวทีแห่งการสร้างโอกาสต่างๆ ให้กับว่าที่บัณฑิตรุ่นล่าสุด ในธีมงาน ‘WHY TO PUNK’ ซึ่งเป็นการเล่นคำจาก Y2K ที่เป็นกระแสที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง และดึงคำว่า PUNK มาเป็นตัวแทนของความคิดนอกกรอบ และการนำเสนอความเป็นตัวตนผ่านผลงานศิลปนิพนธ์แต่ละชิ้น โดยนักศึกษาได้แสดงศักยภาพ ทักษะความรู้ความสามารถในการสื่อสารผ่านงานศิลป์ หลังต้องเผชิญกับปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดช่วงระยะเวลา 3 ปี แม้การเรียนของนักศึกษาช่วงนั้นจะต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ แต่หลายๆกิจกรรมที่สถาบันจัดให้ก็ยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างความตระหนักรู้และรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด

โดยนิทรรศการศิลปนิพนธ์ “WHY TO PUNK” เป็นผลงานของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์สามสาขาได้แก่ 1.สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก 2.สาขาการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น 3.สาขาการออกแบบภายใน จัดแสดงโชว์ที่ชั้น 4 หอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20-25 มิถุนายน 2566 นี้เป็นต้นไป

อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยว่า ช่วงสถานการณการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้จะสร้างอุปสรรคและข้อจำกัดในการเรียนรู้ของนักศึกษาในการเรียน การปฏิบัติ การพัฒนาทักษะความสามารถ แต่ในทางกลับกันก็ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักศึกษาในเรื่องของการปรับตัว การประยุกต์และเชื่อมโยงองค์ความรู้ในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตัวเอง มีเวลาและโอกาสบ่มเพาะทักษะความชำนาญในการสร้างสรรค์ผ่านสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่เราต้องการส่งเสริมนักศึกษา

“เราได้เรียนรู้ผ่านวิกฤตและตกผลึกเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย “โอกาส” เราสามารถสร้างขึ้นได้ในทุกวินาทีของวันเวลา เพราะบัณฑิตรุ่นนี้เรียนออนไลน์เป็นหลักตั้งแต่ปี 1-3 ทำให้หลายๆ อย่างในวิชาเรียนอาจจะแตกต่างจากสถานการณ์ปกติ แต่ทุกคนก็สามารถปรับตัว พัฒนาทักษะใหม่ๆ และทำผลงานต่างๆ ออกมาได้เป็นอย่างดีเยี่ยมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเก็บข้อมูล การคิด การพัฒนารูปแบบ การผลิตออกมาเป็นผลงานสำเร็จ จนถึงขั้นตอนการนำเสนอผลงานที่ต้องดำเนินงานประสานระหว่างนักศึกษาทั้ง 3 สาขา สถานที่ ธีมงาน ในการนำเสนองานต่อสายตาสังคมด้วยตัวเอง แสดงถึงวุฒิภาวะที่เติบโต ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน และซอฟท์สกิลต่างๆ ที่แสดงถึงความพร้อมในการก้าวต่อไปสู่วงการวิชาชีพ”

“การที่นักศึกษาสามารถประยุกต์และเชื่อมองค์ความรู้จากสิ่งที่แต่ละคนสนใจ จากสิ่งที่ชอบและรัก เลือกเป็นหัวข้อที่จะต้องหาข้อมูลในเชิงลึก เรียนเพิ่มด้วยตัวเองนอกชั้นเรียน สู่การสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวตนของตนเองอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง นำไปใช้แก้ปัญหา หรือช่วยสังคมได้จริง สิ่งนี้เป็นก้าวที่สำคัญก้าวแรกที่จะเข้าสู่โลกการทำงานอย่างยั่งยืนในฐานะบัณฑิตที่มีคุณค่า ซึ่งผลงานของนักศึกษาต่างได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการหลากหลายหน่วยงาน โดยได้มีการประสานติดต่อในการร่วมทำธุรกิจในอนาคตต่อไป”

ปีการศึกษาใหม่ 2566 จึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนการสอนทฤษฎีวิชาและการเรียนที่เน้นปฏิบัติที่อัดแน่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาให้มีคุณภาพ แต่ยังมีการเพิ่ม “โอกาส” ในทุกจังหวะ จากคณาจารย์ นักศึกษารุ่นพี่ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 4U Plus องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายศิลปินในวงการศิลปะการออกแบบทั้งไทยและต่างชาติ ที่จะเสริมเติมกันและกัน ในรูปแบบของงานเวิร์คชอป งานอีเว้นท์ นิทรรศการศิลปะและการออกแบบ กิจกรรมเสวนา ฯลฯ ให้กับนักศึกษาที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น โดยการเชื่อมทั้งในวงการวิชาการและวิชาชีพซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษา ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ทุกคนมีความพร้อมทุกมิติที่จะรับกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบในอนาคต

“บทบาทของสถาบันศึกษาเราไม่ได้เน้นแค่การสร้างนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างเดียว หรือมุ่งแต่การผลักให้มีเพียงแค่ผลงานเรียนดีเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีพัฒนาทุกคนในหลากหลายมิติ ต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่าย ต้องมีการพัฒนาอาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการออกแบบ และต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมนอกเหนือจากนักศึกษา ก็มีความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งสิ้น การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็ว ความหลากหลายในมุมมองของศิลปะกับเทคโนโลยีดิจิทัล ศิลปะกับประเด็นทางสังคมต่างๆ การดำเนินงานร่วมหน่วยงานองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดจักรวาลการเรียนที่ครอบคลุมเพื่อเห็นโอกาสต่างๆ ทางวิชาชีพที่แตกต่อยอดไม่ใช่เพียง 1 งานหรือ 2 งานแล้วจบเพียงเท่านั้น แต่ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบจะแฝงไปด้วยโอกาสใหม่ๆ ของการทำงานทั้งสิ้น”

“ในปี 2566 จะคึกคักมากกว่าปีก่อนหน้านี้ สำหรับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะการออกแบบ จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย และสร้างให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมองเห็นโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ คือ “ทุกสิ่งอย่างที่เห็น ทุกก้าวที่เดิน สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่า” ให้ตัวเอง ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นงาน “Creat(e) Talk” กิจกรรมที่นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม นักศึกษาจะได้แลกเปลี่ยนผลงาน ทัศนคติ เทคนิคต่างๆ ในเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นกระแสของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ทุกๆ เดือนทั้งปี กับรุ่นพี่ รุ่นน้อง ศิษย์เก่า และวิทยากรในเครือข่ายของคณะที่มีความเชี่ยวชาญเหมือนงานที่ผ่านมา มาแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านวิชาการและการทำงานออกแบบ ให้นักศึกษาของเราได้อัพเดทอยู่ตลอดเวลา ในการตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมความยั่งยืนโลก”

ทั้งนี้ผู้ใดสนใจรับชมหรือสอบถามรายละเอียดผลงานศิลปนิพนธ์หรือกิจกรรมดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์