MarTech ขับเคลื่อนการตลาด โดย ดร.จิราพร ชมสวน

MarTech ขับเคลื่อนการตลาด โดย ดร.จิราพร ชมสวน หัวหน้าหลักสูตรการตลาดยุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

เราอาจเคยได้ยินว่าประโยคที่ว่า “การตลาดเป็นพลวัต” หลายคนจึงมีคำถามถึงความเป็นพลวัตของการตลาด หรือ “การตลาดที่เป็นพลวัต” นั้นมีความหมายอย่างไร? ความเป็นพลวัตการตลาดนั้นหมายถึงการตลาดจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ ซึ่งโลกในความหมายของนักการตลาดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

ผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆตลอดเวลา อาทิ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางประชากร รสนิยม รูปแบบการดำรงชีวิต ค่านิยม และอื่นๆอีกมากมายโดยท้ายที่สุดความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการจะเปลี่ยนแปลงไป

อะไรที่เป็นแรงผลักดันหรือ แรงบีบอัดให้ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไป?
คำตอบคือปัจจัยสภาพแวดล้อมนั่นเอง ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อชีวิตของผู้บริโภคคือ ปัจจัยทางเทคโนโลยี

เมื่อโลกของผู้บริโภคเปลี่ยนไป นักการตลาดไม่เพียงแต่ต้องก้าวตามให้ทันหากแต่บ่อยครั้งที่นักการตลาดจะต้องก้าวล้ำไปก่อน กรุยทางให้ผู้บริโภคเดินตามในทิศทางที่สร้างไว้อีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ปัจจัยทางเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการตลาด คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ อันเป็นการผสมผสาน 4 ศาสตร์ เข้าด้วยกันได้แก่ อิเล็คทรอนิกส์ โทรคมนาคม และข่าวสาร (Electronics , Computer ,Telecommunication and Information หรือเรียกย่อๆ ว่า ECTI ) ทำให้ขอบเขตการทำการตลาดของนักการตลาดถูกขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง การทำการตลาดแบบดั้งเดิมบนแพลตฟอร์มออฟไลน์ถูกขยายสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ พลิกโฉมหน้าการทำการตลาดไปโดยสิ้นเชิง

เทคโนโลยีทั้งในโลกปัจจุบันและอนาคตมีหลากหลายแขนง หากแต่เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนความเป็นพลวัตของตลาด คงจะต้องกล่าวถึง Martech

Marketing Technology หรือเรียกสั้นว่า MarTech เป็นคำสมาสของคำสองคำ Marketing และ Technology

MarTech คือเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดนวัตกรรมการตลาด นักการตลาดสามารถเข้าใจลูกค้า มีปฎิสัมพันธ์ ส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้มากขึ้น ดีขึ้น

อ้างอิงจากบทความของ The Wisdom Academy และ Content Shifu กล่าวว่า ประเภทเครื่องมือ MarTech ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการทำการตลาดอย่างมากมายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีมากเป็นหมื่นเครื่องมือ หากแต่สามารถรวบรวมเป็นหมวดหมู่ตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ 6 ลักษณะ ได้แก่

1.หมวดข้อมูล (Data) หมวดนี้ไว้ใช้ในวัตถุประสงค์ของการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เช่น Google Analytics หรือ Google Data Studio ที่ใช้สร้างแดชบอร์ด

2.หมวดโฆษณาและส่งเสริมการตลาด (Advertising & Promotion) เครื่องมือที่เราคุ้นเคย เช่น Google Ads, Facebook Ads

3.หมวดการสร้างคอนเทนต์และประสบการณ์ (Content & Experience) เครื่องมือของหมวดนี้ทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเว็บไซต์ในด้านของเนื้อหาและประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค เช่น Canva, WordPress, Umbraco

4.หมวดสิ่อสังคมและความสัมพันธ์ลูกค้า (Social & Relationships) หมวดนี้จะช่วยในการจัดการกับสือสังคมออนไลน์หรือจัดการลูกค้าสัมพันธ์ เช่น Sendible, Plbler หรือ Zoho, Salesforce

5.หมวดบริหารจัดการ (Collaboration & Management) หมวดนี้ใช้เพื่อบริหารจัดการและการทำงานร่วมกัน ตัวอย่าง โปรแกรมเพื่อบริหารจัดการโปรเจค Asana หรือ การติดต่อสื่อสาร Microsoft team เป็นต้น

6. หมวดการขาย (Commerce & Sales) หมวดหมู่นี้เป็นหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับการขายระบบ e-commerce หรือตะกร้าสินค้าอย่าง LiteCart หรือระบบ Chat Commerce ที่ช่วยให้ขายของผ่าน Social Media อย่าง Amity Bot

ทั้งหมดทั้งมวลจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการตลาดทั้งหลายที่นักการตลาดนำมาใช้นั้นมีลำดับขั้นของการพัฒนา หลายเครื่องมือเราคุ้นเคยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การพัฒนาไม่มีหยุดยั้งทำให้จะมีเครื่องมือใหม่ๆออกมาให้นักการตลาดได้เลือกใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการตลาด (Martech) คือเครื่องยืนยันความเป็นพลวัตการตลาด ที่ทำให้นักการตลาดทั้งหลายต้องเร่งฝีเท้าก้าวให้ทันและ เร่งฝีมือจับตลาดให้อยู่หมัด

ในแวดวงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาการตลาดเองก็ต้องเผชิญความเป็นพลวัตเช่นกัน ต้องปรับตัวอย่างมากโดยปรับ หลักสูตร เนื้อหาในการเรียนให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านั้นได้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานในอนาคต