มท.1 ลงพื้นที่ประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เน้นย้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนบูรณาการงานอย่างเต็มศักยภาพ

มท.1 ลงพื้นที่ประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เน้นย้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนบูรณาการงานอย่างเต็มศักยภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน

วันนี้ (11 มิ.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม Bon-Maithon โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมประชุม

“ขอเป็นกำลังใจให้จังหวัดภูเก็ตทุกภาคส่วนที่ได้เตรียมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand ซึ่งจากการได้เคยลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า นับว่าพื้นที่ที่กำหนดไว้มีความเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบการจัดการน้ำเสียที่มีมาตรฐาน จึงขอร่วมสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตได้รับโหวตเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงานจากประเทศสมาชิก” มท.1 กล่าวในช่วงต้น

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญในการบริหารราชการจังหวัด เพื่อที่จะยังประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน ต้องมี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในฐานะพ่อเมือง ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญ ทำหน้าที่บูรณาการประสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ดังนั้นไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้ว่าราชการจังหวัดคือตำแหน่งที่มีความสำคัญกับจังหวัดและประเทศไทย

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ติดตามการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการขยะและการจัดการน้ำเสีย ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด ต้องกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มจากต้นทาง คือ รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน ตามหลัก 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพราะ “การจัดการขยะ ถ้าทำได้ตั้งแต่ต้นทาง คือ แยกขยะ ปลายทาง คือ อปท. ก็จะกำจัดง่าย แต่ถ้าทำไม่สำเร็จตั้งแต่ต้นทาง ปลายทางก็จะประสบปัญหา” โดยเฉพาะอย่างในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ขยะก็จะลงสู่ระบบระบายน้ำ สุดท้ายก็จะลงสู่ทะเลกลายเป็นขยะทะเล (Marine debris) ซึ่ง “ขยะที่อยู่ในระบบ 3Rs แยกตั้งแต่ต้นทาง เพื่อปลายทางจัดเก็บ ถือว่าในขณะนี้มีความก้าวหน้าและสร้างจิตสำนึกให้กับพี่น้องประชาชนได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ขยะที่ไม่อยู่ในระบบ ที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง สุดท้ายก็จะลงท่อระบายน้ำ กลายเป็นขยะลงสู่ทะเล กลายเป็นขยะทะเล (Marine debris) และอีกเรื่องสำคัญที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญ คือ การจัดการน้ำเสีย ที่ต้องรณรงค์ให้บ้านจัดสรรและสถานประกอบการ ทั้งโรงแรม โรงงาน ติดตั้งถังดักไขมันระบบบริหารจัดการน้ำเสียที่ได้มาตรฐานสากล” 2) การเตือนภัยและความพร้อมในการรับมือภัยสึนามิ ที่ขณะนี้เรามีหอเตือนภัยมากกว่า 130 หอ และมีทุ่นที่ได้มาตรฐาน จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้สำรวจและใช้หอกระจายข่าวให้เป็นช่องทางสื่อสารเพิ่มเติม เพราะมีอยู่ในทุกพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งขอให้หมั่นตรวจระบบแจ้งเตือนให้มีความพร้อมและใช้งานได้ตลอดเวลา การติดตั้งป้ายเตือนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงที่หลบภัย (shelter) ต้องพร้อม และประชาชน/นักท่องเที่ยวต้องรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อได้รับการแจ้งเตือนภัย 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ซึ่งภาคเอกชนมีความสำคัญที่ต้องร่วมกับภาครัฐโดยกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยว ยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน “โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจับมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ความสำคัญของความซื่อสัตย์ของผู้ประกอบการ ระบบขนส่งสาธารณะ สร้างจิตสำนึกให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยมิตรไมตรีและน้ำใสใจจริง เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นที่ประทับใจและทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศของเราได้อีก ขึ้นอยู่กับคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกคน” 4) การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนด้วยกลไก ศจพ. ที่พวกเราชาวมหาดไทยได้ใช้แพลตฟอร์ม ThaiQM สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมนั้น การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ “ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เป็นผู้นำบูรณาการขับเคลื่อน” จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกมิติ ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และ 5) การจัดที่ดินทำกินให้ประชาชน ขอให้ได้นำแนวทางของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้ง warroom ของจังหวัด และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และภาคีเครือข่าย มาหารือร่วมกัน รวมทั้งใช้กลไก คทช. ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีที่ดินทำกินเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการขยะ โดยในส่วนของการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นับตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ช่วยกันขับเคลื่อนการจัดการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ใน Phase แรก 7 จังหวัด และเพิ่มเติมอีก 22 จังหวัด เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ถังขยะเปียกลดโลกร้อนในการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ได้รับซื้อ เป็นเงิน 260 บาทต่อตัน โดยเงินจำนวนนี้จะกลับไปที่ อปท. เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยขอให้ทางจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกับภาคเอกชน หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือส่วนตัว เรือยอร์ช ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น ซึ่งหากเราทำสำเร็จจะสามารถดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและประเทศไทย นอกจากนี้ ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เน้นย้ำท่านนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. ครู อสม. รพ.สต. ฯลฯ ช่วยกันสร้างการรับรู้ขยายผล “แอปพลิเคชัน ThaiD” ให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลายขึ้น เพื่อประชาชนทุกช่วงวัยจะได้ใช้ประโยชน์ เพราะเป็นประโยชน์ในด้านการยืนยันตัวตน ซึ่งขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 3 ล้านคน และเมื่อคนไทยทุกคนใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 50 จะได้มีการพัฒนาสู่ระบบกระเป๋าเอกสารราชการภาครัฐแบบดิจิทัล ทำให้เราสามารถอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชน และเป็นประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง

“สำหรับในเรื่องการสำรวจความเดือดร้อนประชาชนด้วยระบบ ThaiQM ขณะนี้ สภาพปัญหาที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกพื้นที่กำลังประสบ คือ ประชาชนไม่มีบ้าน หรือมีแต่ไม่มั่นคงแข็งแรง มีสภาพชำรุดทรุดโทรม และยังมีเด็กไม่ได้เรียนตามเกณฑ์เป็นจำนวนมาก จึงขอให้ได้เร่งบูรณาการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนให้สำเร็จ ด้วยกลไกทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อทำให้ความเดือดร้อนของคนหมดไป รวมถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจพบว่ามีมากถึง 8,022 ปัญหา ทำให้ขาดโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน เช่น บ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ป่า จึงขอให้พวกเราได้ช่วยกันตั้ง warroom จังหวัด แล้วเชิญหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมเจ้าท่า และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาหารือกับผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. เพื่อหาทางแก้ไขการใช้ที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป พร้อมทั้งยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 มกราคม 2566 เพื่อ “แก้ไขในสิ่งผิด” คืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเพิ่มเติมการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ และหมั่นลงพื้นที่ไปช่วยกันตรวจเยี่ยมแหล่งน้ำที่ได้มีการปรับปรุงแล้ว ให้ได้มีสภาพที่สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย น้ำมีคุณภาพ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชน เพื่อที่จะคงสภาพความยั่งยืน ยังผลต่อการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนทุกคน
.
ด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการจัดงาน Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานตามแนวคิดจัดงาน Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity ชีวิตแห่งอนาคต-แบ่งปันความรุ่งเรือง โดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 มิติ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) มาถอดรหัสออกแบบ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของโลก และจะมีแพลตฟอร์มที่ประเทศสมาชิกสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ จึงถือได้ว่า Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand เป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวยั่งยืนจังหวัดภูเก็ตระยะ 5 ปีต่อเนื่องจากการที่ ครม. เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยมีสถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต ทั้งนี้ Specialised Expo เป็นงาน Expo ที่มีขนาดย่อมจาก World Expo โดยปกติจะจัด 5 ปี/ครั้ง และในการจัดงานปี 2028 มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ รวม 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เซอร์เบีย สเปน อาร์เจนตินา และภูเก็ต (ประเทศไทย) ซึ่งในขั้นตอนหลังจากนี้ กำลังเข้าสู่การเตรียมนำเสนอความพร้อมของประเทศ (Country Presentation) ต่อคณะกรรมการ Bureau International des Expositions (BIE) ในวันที่ 20-21 มิถุนายน 2566 นี้ และจะมีการโหวตสนับสนุนจากประเทศสมาชิก รวม 124 ประเทศ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ประเทศฝรั่งเศส