ทักษะดิจิทัล กับ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

ทักษะดิจิทัล กับ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโดย ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)

ปัจจุบัน ภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรไปอย่างมากด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานในทุกๆ แผนก ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูล เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล การปรับตัวดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากต้องการผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านในแต่ละศาสตร์เหมือนที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญในการผลิตบุคลากรคนรุ่นใหม่ป้อนให้กับภาคธุรกิจ แม้ว่าที่ผ่านมา ทักษะด้านดิจิทัลจะถูกหยิบยกมาให้เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญสำหรับนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยและผลสะท้อนจากผู้ประกอบการ พบว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่ปี ก็ต้องการกลับมาเพิ่มพูนความรู้ใหม่ หรือที่เรียกว่า RUN (Re-skills Up-skills New Skills) อันประกอบด้วยการปรับปรุงทักษะ (Re-skills) การเพิ่มทักษะ (Up-skills) รวมทั้งการสร้างทักษะใหม่ (New Skills) เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ทักษะที่มาเพิ่มพูนกันนั้นคือทักษะด้านดิจิทัล โดยทักษะดังกล่าวยังคงความสำคัญและจะทวีความสำคัญในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับมหาวิทยาลัย มุมมองหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดทักษะด้านดิจิทัล สามารถดำเนินการได้ใน 3 แนวทาง ได้แก่

1. การกำหนดให้ทุกรายวิชาในหลักสูตร มีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการใช้ AI มาใช้และช่วยในการเรียนการสอน พร้อมกับลดสัดส่วนการสอนแบบเลคเชอร์ที่เน้นภาคทฤษฎี แล้วเพิ่มการฝึกปฏิบัติผ่านซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาให้มากขึ้น อีกทั้งควรเปลี่ยนวิธีการวัดผลการเรียนรู้จากการสอบข้อเขียนที่เป็นทฤษฎี มาสู่การวัดผลโดยการทำโปรเจ็ค ผ่านซอฟท์แวร์และการวิเคราะห์เหตุการณ์จำลองทางธุรกิจที่สอดคล้องกับรายวิชานั้นๆ

2. จัดการเรียนการสอนให้เป็นลักษณะโมดูล กล่าวคือ การเรียนแบบกลุ่มรายวิชาที่สอดคล้องกัน เรียนพร้อมกันในเทอมการศึกษาเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสอดคล้องกันของเนื้อหาวิชา และสามารถฝึกการใช้ซอฟท์แวร์ด้านดิจิทัลที่ในกลุ่มโปรแกรมเดียวกันได้ เป็นการเพิ่มการฝึกฝนและต่อยอดการปฏิบัติในชุดซอฟท์แวร์นั้นให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะใช้การทำโปรเจ็คเดียววัดองค์ความรู้ของทุกรายวิชาในโมดูล โดยจะเป็นโปรเจ็คที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น

3. การเรียนและทำโปรเจ็คแบบข้ามหลักสูตร มหาวิทยาลัยควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากหลักสูตรที่แตกต่างกัน มาเรียนรู้ทฤษฎีและทำโปรเจ็คร่วมกัน เพื่อฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกัน และเห็นแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานทางธุรกิจที่หลากหลาย เนื่องจากในโลกปัจจุบัน นักศึกษาจำเป็นต้องรู้กว้างและรู้รอบ แทนที่จะรู้ลึกในศาสตร์เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น การจัดรายวิชา ที่ให้ นักศึกษาวิศวกรรม บริหารธุรกิจ ศิลปกรรมหรือ นิเทศฯ มาเรียนรู้และส่งเสริมให้ทำโปรเจ็คที่เน้นการสร้างธุรกิจที่นักศึกษาสนใจ ในลักษณะนี้ นักศึกษาจะได้ฝึกฝนการแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานจากหลายมุมมอง ฝึกทักษะการวางแผนและจัดการแบ่งงาน รวมทั้งเห็นการเชื่อมโยงของทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลจากหลายศาสตร์ อันเป็นการสะท้อนการทำงานในเชิงธุรกิจในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ให้กับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือด้านดิจิทัลในการเรียนการสอนและฝึกการใช้เครื่องมือเหล่านั้นให้มาก โดยปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมา นอกจากนั้นแล้ว หลักสูตรที่มีการฝึกงาน ทางมหาวิทยาลัยควรประสานกับสถานประกอบการ เพื่อมอบหมายให้นักศึกษามีโอกาสใช้ทักษะด้านดิจิทัลในสถานการณ์การทำงานที่แท้จริง อันจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะได้อย่างยั่งยืนต่อไป

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรตั้งแต่ปี 2560 ที่เน้นการเรียนการสอนที่พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงในปี 2566 มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานด้านดิจิทัล ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการส่งเสริมนักศึกษาให้มีทักษะและความสามารถในด้านดิจิทัล เพื่อให้นักศึกษาของเราสามารถสร้างธุรกิจ และปรับตัวเข้ากับองค์กรธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ต้องการทักษะดิจิทัลมาขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างยั่งยืน