อธิบดี พช.ชื่นชม “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดนครราชสีมา ที่บ้านโนนลาวต้นแบบแห่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

อธิบดี พช.ชื่นชม “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดนครราชสีมา ที่บ้านโนนลาวต้นแบบแห่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางสงวน มะเสนา และนายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายประดิษฐ์ นัดทะยาย เลขานุการกรม นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น นายโดมทอง ดิเรกศิลป์ พัฒนาการจังหวัดชัยภูมิ นายสรวิทย์ เหล่านิล นายอำเภอโนนสูง ร่วมกิจกรรมฯ ณ ครัวเรือนศูนย์เรียนรู้ฯ ต้นแบบ นายนาวี ไชยมี บ้านโนนลาว หมู่ที่ 6 ตำบลลำคอหงส์ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานของครัวเรือนศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา ในภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา จากการจัดเก็บข้อมูลด้านรายได้ของศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ได้รับงบประมาณปี 2564 และ 2565 ทั้ง 491 แห่ง มีรายได้รวมประมาณ 4,028,038 บาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยแปลงละ 1,231.06 บาท/เดือน ศูนย์เรียนรู้ให้บริการคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก ครัวเรือนสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชุมชน ให้เกิดอย่างยั่งยืนในอนาคต และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยในปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาให้มีการสร้างเครือข่าย ครัวเรือน โคก หนอง นา ทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัด เพื่อเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และทิศทางการพัฒนาศูนย์เรียนรู้โคกหนอง นา ให้เกิดความยั่งยืน เป็นศูนย์เรียนที่มีชีวิตรวมกันพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชุมชน โดยมีแนวทาง 1) การส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา โดยพัฒนาพื้นที่ตามกลยุทธ์ “5 P” ประกอบด้วยการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (Place) พัฒนากลไกและเครือข่าย (People) พัฒนาผลิตผลและผลิตภัณฑ์ (Product) ส่งเสริมการตลาด (Promotion) เผยแพร่และขยายผล (Pass on Perfect) 2) ประสาน 7 ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ วิชาการ ผู้นำศาสนา เอกชน ประชาชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน ร่วมบูรณาการ สนับสนุนกิจกรรม พัฒนาต่อยอด ทั้ง คน งาน งบประมาณ และวิชาการ 3) จัดกิจกรรมการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายฯ อาทิ จัดประชุมสัญจรเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ และจัดกิจกรรม “หิ้วปิ่นโต เอามื้อสามัคคี” จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่ายและขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ส่งเสริมการผลิต/แปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การจำหน่าย จัดหาช่องทางการตลาด รวมกลุ่มจัดตลาดนัดสีเขียว เชื่อมโยงตลาด จัดกิจกรรมแสดงผลสำเร็จ โคก หนอง นา จัดหาเงินทุนดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายฯ 4) เชื่อมโยงโคกหนองนา กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ 5) ยกระดับการพัฒนาของศูนย์ฯ ให้มี ระดับ A เพิ่มขึ้น

“หลักการสำคัญคือการพึ่งพาตนเองได้ เป็นการสนับสนุนให้ครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ให้พอมี พอกิน พออยู่ พอร่มเย็น พอแล้วก็แบ่งปันให้คนอื่น และรวมตัวกันเป็นเครือข่าย หาเพื่อนเพื่อช่วยเหลือกันแบ่งปันกัน รวมทั้ง เป็นต้นแบบให้ครัวเรือนอื่น ๆ ให้มีการขยายผลส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นและสามารถผลิตได้เอง เริ่มจากปัจจัย 4 สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การสร้างความสัมพันธ์กันที่ดีในชุมชน ก่อให้เกิดความปลอดภัยในชุมชน พัฒนาแปลงให้เกิดผลผลิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ และยั่งยืน” นายอรรษิษฐ์ กล่าว

ด้านนายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา มีการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการโคกหนองนา พัฒนาชุมชน โดยดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2564 – 2566 จำนวน 491 แห่ง แยกเป็น งบเงินกู้ 26 แปลง/หมู่บ้าน งบยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนฯ 465 แปลง/หมู่บ้าน เงื่อนไขในการคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อม และมีครัวเรือนที่สมัครใจที่จะพัฒนาพื้นให้เป็นศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา 1 หมู่บ้าน 1 แปลง” ดำเนินการในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 3 ไร่ โดยต้องยิมยอมให้ใช้พื้นเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ระยะ 5 ปี ซึ่งมีการขับเคลื่อนการพัฒนา

ดังนี้ 1) จังหวัดรับสมัครครัวเรือนที่พร้อมพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ และหมู่บ้านเป้าหมาย 2) จังหวัดจัดฝึกอบรมครัวเรือนที่สมัครใจพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ “โคก หนอง นา” เพื่อปรับกระบวนการทางความคิด สร้างความตระหนักความสำคัญและการบริหารจัดการพื้นที่ และให้ผู้แทนครัวเรือนไปขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับครัวเรือน 3) ครัวเรือนดำเนินการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โดยกรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุบงบประมาณสำหรับการปรับปรุงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ตามรูปแบบแปลนขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ลดรายจ่ายครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 45,200 บาท หรือขนาดพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อการพึ่งตนเองขั้นพื้นฐาน วงเงินงบประมาณ 104,000 บาท เพื่อขุดปรับพื้นที่ตามภูมิสังคม รวมทั้งจัดหาพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ 4) ครัวเรือน “โคก หนอง นา” จะต้องพัฒนาพื้นที่เป็นฐานเรียนรู้ ด้านการเรียนรู้หลักทฤษฎีใหม่และศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ การสาธิตกิจกรรมการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการให้บริการประชาชนในชุมชน ตลอดจนเกื้อกูลคนด้อยโอกาสในชุมชน 5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์เรียนรู้ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต มีกิจกรรมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย มีรายได้ มีการบูรณาการงานร่วมกับภาคีการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมองค์ความรู้ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การเอามื้อสามัคคี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์ฯ อื่น ๆ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย 6) ประเมินศักยภาพของศูนย์เรียนรู้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ ให้มีศักยภาพสูงขึ้น และ 7) สร้างเครือข่าย ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อสานพลังความเข้มแข็งให้กับชาวโคก หนอง นา

“การดำเนินงานตามโครงการ “ โคก หนอง นา” จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 491 แห่ง ก็มีการประเมินเพื่อจัดระดับการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา” เพื่อจะได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมให้ตามสภาพภูมิสังคมและความพร้อมของศูนย์เรียนรู้ โดยประเมินแปลงดำเนินการในปี 2564-2565 จำนวน 435 แปลง มีผลประเมิน ระดับ A จำนวน 11 แปลง ระดับ B จำนวน 37 แปลง และระดับ C จำนวน 387 แปลง” นายศุภภิมิตร เปาริก รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ทางด้านนายนาวี ไชยมี เจ้าของศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา” บ้านโนนลาว หมู่ที่ 6 ตำบลลำคอหงษ์ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้รับงบประมาณ เมื่อ ปี 2564 ดำเนินการในพื้นที่ 3 ไร่ หลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว ได้ดำเนินการขุดปรับพื้นที่เป็นสระน้ำ 2 บ่อ แต่ไม่สามารถขุดสระได้ตามความลึกที่ได้กำหนดไว้เนื่องจากขุดพบดินดาน ในปีแรกต้นไม้ที่ปลูกไม่เจริญเติบโต จึงใช้ความรู้ที่มีปรับปรุง บำรุงดิน มาโดยตลอด โดยการ ห่มฟาง ตัดหญ้าคลุมดิน ใช้มูลไก่/หมู/วัว บำรุงดิน ปัจจุบันพืชผล ต้นไม้ เจริญเติบโตดี สระน้ำเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง มีฐานการเรียนรู้ 12 ฐาน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ การเลี้ยงหมูหลุมอย่างง่ายได้ปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ การทำดินปลูก การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี การเลี้ยงเป็ดไข่อินทรีย์ การเลี้ยงโคเนื้อ การปลูกผักสวนครัว การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง การทำปุ๋ยอินทรีย์สังเคราะห์แสง การปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการทำแซนวิชปลา

“ศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ผลผลิตเริ่มมีการแปรรูป เช่น ไข่เค็ม กล้วยฉาบ มะขามแช่อิ่ม ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท และมีผู้สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน และได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ฯ ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์การประเมิน ระดับ B สร้างเสริมสู่ต้นแบบ และจะพัฒนาให้เป็นระดับ A ในปีนี้ ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ผลักดันให้เกิดศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ขึ้น” นายนาวี ไชยมี กล่าว

จากนั้น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา นายสรวิศ เหล่านิล นายอำเภอโนนสูง ได้ร่วมกันปลูกต้นขนุนในพื้นที่แปลงของ นายนาวี ไชยมี ซึ่งเป็นต้นไม้มงคลหนุนเนื่อง บุญบารมี เงินทอง เกื้อหนุน และอุดหนุนจุนเจือ เพื่อความเป็นศิริมงคล และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบต้นไม้ให้กับเครือข่ายและครัวโคก หนอง นา ที่เข้าร่วมกิจกรรม

#โคกหนองนา #โคกหนองนาพัฒนาชุมชน #หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
#วันดินโลก #WorldSoilDay #EarthDay
#จังหวัดนครราชสีมา
#MOI #กระทรวงมหาดไทย #SDGTH #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#CDD #กรมการพัฒนาชุมชน #ChangeforGood