ปลัด มท. ปิดการอบรมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หลักสูตร MOI CAST เน้นย้ำ การทำงานทุกเรื่องต้องบูรณาการคนมหาดไทยด้วยกันแล้วขยายผลไปยังภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี

ปลัดมหาดไทยปิดการอบรมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย หลักสูตร MOI CAST เน้นย้ำ การทำงานทุกเรื่องต้องบูรณาการคนมหาดไทยด้วยกันแล้วขยายผลไปยังภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนักถึงบริบทภูมิสังคม เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

วันนี้ (1 มิ.ย. 66) เวลา 13.00 น. ที่ห้อง War room กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (MOI CAST (Ministry of Interior for Change Agent for Strategic Transformation)) ระดับกระทรวง ผ่านระบบ Zoom ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก และศาลากลางจังหวัด ทุกจังหวัด โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่าสาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ร่วมงาน โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 96 คน ได้แก่ รองอธิบดี หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยที่เข้ารับการอบรม ซึ่งจากการร่วมรับฟังการนำเสนอตลอด 3 วันนั้น ทุกคนต้องทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และตีโจทย์ของการขับเคลื่อนงานให้กระจ่างก่อนว่า “เราต้องทำให้พี่น้องประชาชนเลื่อมใสศรัทธา” ด้วยการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาด้วยกลไก 357 คือ 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่/ชุมชน จังหวัด สู่ระดับประเทศ 5 กลไก ได้แก่ ประสานงานภาคีเครือข่าย บูรณาการแผน ติดตามประเมินผล การจัดการความรู้ และสื่อสารสังคม และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารสังคม ด้วยการทำงานเป็นทีม เริ่มจากการบูรณาการงานทุกกรม รัฐวิสาหกิจ และขยายไปยังทุกกระทรวง เพราะกฎหมายและแบบแผนประเพณีการบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่อดีตรวมถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชนได้ให้การยกย่องและให้เกียรติว่า “คนมหาดไทยคือผู้นำสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ” ทั้งที่ที่ว่าการอำเภอ มี “นายอำเภอ” เป็นผู้นำ ที่ศาลากลางจังหวัดมี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้นำ ซึ่งคำว่า “ผู้นำ” มีนัยว่าต้องเป็น “คนนำทาง” ที่เดินไปด้วยกันกับภาคีเครือข่าย จึงต้องแสดงให้เห็นชัดว่าเรามีความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริงในการที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน Change for Good ให้ได้รับสิ่งที่ดีในทุกด้าน “เพราะหัวใจของเราคือพี่น้องประชาชน”

“การฝึกอบรมเป็นการฟื้นฟูจิตใจ ฟื้นฟูจิตสำนึกของคนมหาดไทยให้มุ่งมั่นตั้งใจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และมุ่งมั่นในการทำพาทีมคนมหาดไทยและภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีไปทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้ “ทุกคนก็จะรักเรา” โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่เป็นเป้าหมายการทำงานของเรา ประการต่อมา เราจะเลือกพื้นที่การทำงานไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่รวมทั้งอำเภอ และจะมีแค่ตำแหน่งที่สำคัญแต่เพียงนายอำเภอไม่ได้ ต้องมีปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ข้าราชการประจำอำเภอ โดยให้ “1 ตำบลมี 1 ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบการบูรณาการทีมงาน” ซึ่งแตกต่างจากหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่เราเลือกหมู่บ้านที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด 1 หมู่บ้านใน 7,255 ตำบล และได้เสริมเพิ่มเติมว่า เราต้องทำในทุกหมู่บ้านด้วย ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ทีมของแต่ละตำบลต้องทำให้ทุกหมู่บ้านมีทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้ครบทุกหมู่บ้าน แบ่งเป็น ทีมที่เป็นทางการ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมที่ไม่เป็นทางการ คือ ทีมจิตอาสา ต้องมีระบบคุ้ม ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ที่เกิดจากการรวมตัวจิตอาสาในการดูแลซึ่งกันและกัน โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องเกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ และต้องมีการสื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ข้อเตือนใจที่สำคัญต้องเข้าใจว่า เราจะมีเพื่อนมาก คนมหาดไทยต้องมุ่งมั่นทำงาน ทำให้พี่น้องประชาชนรัก ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ให้ “รองเท้าสึกก่อนเป้ากางเกงขาด” แสดงความรัก ความปรารถนาดี ด้วยการ “ทำสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์” ให้กับประชาชน ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ททมาโน ปิโย โหติ : เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” ด้วยการต้องหมั่นลงพื้นที่ทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งงานราชการ งานพระศาสนา งานสังคม งานศิลปะ วัฒนธรรม งานประเพณี เพื่อให้ความรัก ความใกล้ชิด ความอบอุ่น เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ที่จะบอกกล่าวเล่าสิบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เรากำลังทำกำลังแก้ มีความหวัง ซึ่งถ้าหากเราช่วยกันสร้างทีมและพาทีมลงไปในพื้นที่เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะบังเกิดประโยชน์กับพวกเราทุกคนใน 3 ประการ คือ 1) มีความสุข 2) ได้รับความรักความศรัทธาจากพี่น้องประชาชน และ 3) ได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ต้องพึงรำลึกนึกถึงปณิธานที่สำคัญของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ด้วยการกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ท่านได้รักษา ได้สร้างสมคุณงามความดี จนทำให้กระทรวงมหาดไทยเป็นที่พึ่ง เป็นบ้านที่เราได้มาอยู่อาศัยเพื่อทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน และหนุนเสริมให้สถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความมั่นคงวัฒนาสถาพร เพื่อให้คนรุ่นต่อไปมีความสำเร็จต่อไป ซึ่งความสำเร็จอยู่ที่ทุกท่านและต้องช่วยกันทำทันที โดย “ในด้านการบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์” สิ่งที่ต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญไปสู่การบูรณาการ คือ “ทุกข์ของพี่น้องประชาชน” ที่ได้สะท้อนผ่านการสำรวจโดยระบบ ThaiQM ที่เสริมเติมเต็มระบบ TPMAP อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้นำในระดับพื้นที่ นำโดยท่านนายอำเภอ ได้บูรณาการหน่วยงานพุ่งเป้าลงไปแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องของพี่น้องประชาชน ด้วยการนำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง ไม่ทำงานแยกส่วนเป็นไซโล ต้องมานั่งจับเข่าคุยกันเพื่อบูรณาการจัดทำแผนอย่างแท้จริง ทั้งแผนที่เสนอจากพื้นที่ขึ้นมา (Bottom up) ที่ทำให้เราเห็นปัญหาประชาชน และลักษณะการสั่งการไปยังพื้นที่ (Top down) เพื่อทำให้เราสามารถกำหนดกรอบทิศทางในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ “ในด้านการหนุนเสริมและประเมินผล” ทุกหน่วยงานต้องรู้ยุทธศาสตร์และปรับตัว Transform งานมหาดไทยครบทั้งระบบ ทั้งเรื่องคน ด้วยการปลุกจิตสำนึกคนมหาดไทยให้ขึ้นมามีทั้งภาวะผู้นำและการยอมรับนับถือด้านความรู้ความสามารถของทีม รวมทั้งระบบของการทำงานที่ต้องเท้าติดดินและลงไปทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนเป็นที่พึ่งของตนเองเพื่อให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน คือ แม้ไม่มีข้าราชการ ประชาชนก็สามารถดูแลคนในหมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงการประเมินผล การสื่อสาร ต้อง Transform ทั้งหมด และต้อง “ทำทันที”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านกลไกการจัดการความรู้ วิจัยและพัฒนาบุคลากร ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรคนมหาดไทยจะมีความรู้และนำใช้อย่างถูกที่ถูกทาง เพราะ “ความสำเร็จของงานขึ้นอยู่กับคน” ที่มีลักษณะที่พึงประสงค์ คือ มีอุดมการณ์ (Passion) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี ตามด้วยความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) เพื่อเป็นต้นแบบให้กับข้าราชการรุ่นใหม่ เป็นเบ้าให้กับคนที่มาอยู่ใหม่ และเป็นทีมงานที่ดีของผู้บังคับบัญชา เพื่อร่วมกันพาองค์กรไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืน และในประเด็นสุดท้าย คือ “กลไกการสื่อสารสร้างความเข้าใจสังคมเชิงรุก” ทุกคนต้องเข้าใจให้ดีก่อนว่า “การสื่อสารคือการกระทำ” และ “ต้องทำควบคู่ไปกับการเผยแพร่เผยข้อมูลข่าวสาร” เริ่มตั้งแต่ภายในองค์กร คือ คนในแผนกเดียวกัน องค์กรเดียวกันต้องรับรู้ข้อมูลรับรู้สิ่งในสิ่งประโยชน์กับงานที่ทำ และช่วยกันนำเสนอข้อมูล หรือกล่าวโดยง่ายว่า ชาวมหาดไทยต้องเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญถ้าหากเราไม่เป็นทั้งคนส่งสารและรับสาร ไม่มีการพูดคุยประชาสัมพันธ์ในเรื่องนโยบายที่สำคัญ ก็จะทำให้ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเกิดขึ้น แต่ถ้าเราช่วยกันรับสารและส่งสารก็จะทำให้การประชาสัมพันธ์ของเรานั้นเป็นวงกว้าง โดยสิ่งที่สำคัญคือ “ต้องทำอย่างต่อเนื่อง” เพราะความต่อเนื่องคือพลังที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืน หรือที่เราเรียกว่าการสื่อสารคือพลัง ด้วยการสื่อสารผ่านพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจ หรือที่เรียกว่า “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความสนิทสนมเป็นญาติอย่างยิ่ง” ดังนั้นถ้าเราสนิทสนมแล้ว การสื่อสารจะทำได้โดยง่าย ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการน้อมนำหลักการทรงงานที่ได้พระราชทานถึงการสื่อสารที่สำคัญ คือ ต้องสื่อสารทุกกระบวนการขั้นตอนด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ฝึกปฏิบัติ เฉกเช่นล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสไปยังนานาประเทศ และประพาสตามหัวเมืองต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิดกับราษฎร ซึ่งพระองค์ท่านทรงทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ ความเชื่อมั่นศรัทธาจากราษฎรอย่างแท้จริง

“การสื่อสารที่ดีที่เราต้องเร่งสร้างการรับรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ 1) ทำให้ประชาชนรับรู้ ทำให้คนรับรู้ หรือเรียกว่า สร้างความตระหนักให้ประชาชนรับรู้ (Awareness) เช่น สร้างการรับรู้วิธีการทำให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง วิธีป้องกันภัยช่วงน้ำท่วม เป็นต้น 2) สื่อสารให้คนมีความสนใจ 3) สร้างนักสื่อสารสังคมในระดับอำเภอ ตำบล/หมู่บ้าน ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการจัดทำสื่อ เช่น การประกวดประขัน การรณรงค์ ฯลฯ โดยดูภูมิสังคมและสรรหาคนมาช่วยงานให้มาก ๆ และสุดท้าย คือ การสื่อสารแต่ละครั้งจะมี Feedback เพื่อให้เราสามารถประเมินผลปรับปรุงการสื่อสารได้ ซึ่งข้อที่ต้องทำอยู่เสมอคือ “ต้องทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน” ด้วยการประชุม พูดคุย แนะนำ พาให้พี่น้องประชาชนร่วมทำ เพื่อให้เป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ทำตาม และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการไปสร้างภาคีเครือข่าย โดยเริ่มจากการบูรณาการคนมหาดไทยด้วยกันขยายผลไปยังทีมภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่ให้สร้างความตระหนักถึงบริบทภูมิสังคม เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และขอให้รำลึกนึกถึงเสมอว่าอนาคตของกระทรวงมหาดไทยอยู่ที่พวกเรา อนาคตที่ดีที่สดใสของพี่น้องประชาชนอยู่ที่พวกเรา และขอให้นำสิ่งดี ๆ ที่คณะวิทยากรและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยได้ให้ข้อแนะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกระทรวงมหาดไทยและทางราชการ อันจะยังประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย