เผยแพร่ |
---|
จากเด็กเรียนภาพยนตร์ สู่ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดแพลตฟอร์ม “Order Plus” ที่มีฟีเจอร์สุดเจ๋งแก้ปัญหาหลังบ้านคนขายของออนไลน์อันดับ 1 เมืองไทย และ เป็นวิทยากรด้านดิจิทัลมาร์เกตติ้ง ที่มีคนติดตามหลายหมื่นคน
“บ๊วยบ๊วย-วรกิตย์ จิตรหมั่น” คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จก่อนวัยด้วยอายุเพียง 27 ปี จากนักศึกษาสาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำความรู้ที่ตัวเองถนัดคือการทำคอนเท้นต์ ทำหนังสั้นระดับชิงรางวัล และฉายมาแล้วเกือบทั่วประเทศ มาต่อยอดเป็นนักการตลาดออนไลน์ ที่เคยสร้างความสำเร็จให้หลายแบรนด์ดังด้วยยอดขายหลายร้อยล้านบาท จนได้มาเปิดใจทำสิ่งใหม่ๆ อย่าง Startup ในช่วงต้นกำเนิดของเมืองไทยในปี 2557 จนประสบความสำเร็จ อย่างเช่น โปรเจคแพลตฟอร์ม Order Plus ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็น Chief Marketing Officer ก็มียอดส่งของทุกวันเกิน 10,000 ชิ้น หรือ โปรเจ็ค Paotam เป๋าแต้ม แพลตฟอร์ม CRM ก็สามารถหาทุนได้ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 และด้วยอุปนิสัยที่ชอบการถ่ายทอด จึงได้มาถ่ายทอดบอกเล่าต่อความรู้ เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์เป็นประจำ เพราะถือเป็นวิทยาทานโดยไม่มุ่งหวังหรือกลัวใครเป็นคู่แข่ง โดยมองว่า เรื่องราวดี ๆ น่าจะเป็นเชื้อเพลิงแห่ง “ความสำเร็จ” ชั้นดีที่ช่วยให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ เกิดความหวังไฟลุกโชนและสว่างไสว
“วรกิตย์ จิตรหมั่น” หรือ “บ๊วยบ๊วย” เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม จบมัธยมปลายที่โรงเรียนสกลวิทยา ท่ามกลางครอบครัวที่ทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าและกระเป๋าส่งขายสำเพ็ง ด้วยอาชีพผลิตสินค้าค้าขายของครอบครัวนี้เองได้หล่อหลอม DNA ผู้ประกอบการให้กับบ๊วยบ๊วยตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าจะทั้งการมองตลาด การออกแบบดีไซน์ การจัดส่งสินค้า การบริหารสต๊อกสินค้าที่ขายดี โดยทักษะสำคัญที่บ๊วยบ๊วย ค้นพบในตัวเองคือ ทักษะการเล่าเรื่องและเขียนบท โดยในปี 2557 บ๊วยบ๊วยได้แสดงความสามารถในรายการประกวดของทาง “เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์” หัวข้อไอเดียพัฒนาบทภาพยนตร์ ซึ่งจากผู้เข้าร่วม 8,000 คน เขาคือ 1 ใน 3 คนที่ชนะผลการแข่งขันตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย
“เลือกเรียนต่อ DPU เพราะตอนนั้นที่นี่เปิดรับทุน Startup เรียนฟรี 100% ถ้าได้รับคัดเลือก ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจ Startup คืออะไร เป็นอะไรที่ใหม่มาก รู้แค่ว่าอยากทำธุรกิจและที่นี้มีการสอนเน้นทักษะผู้ประกอบการ ก็ต้องขอบพระคุณ อธิการบดี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ผศ.ดร.วันวร จะนู อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช ผู้บริหาร DPU ในตอนนั้น ที่ให้โอกาสและเปิดโลกของผมให้กว้างขึ้น” บ๊วยบ๊วย เล่าถึงจุดเริ่มต้น
“เพียงคลาสเรียนเดียวเปลี่ยนชีวิตในทันที” จากเด็กที่คิดอยากจะเป็นพ่อค้าเปิดบริษัท SMEs ธรรมดา บ๊วยบ๊วย เล่าให้ฟังว่า “จำได้แม่นวันนั้นเรียนวิชาผู้ประกอบการ เราได้เรียนหัวข้อว่า SMEs กับ Startup มีข้อแตกต่างกันอย่างไร? พอเข้าใจคอนเซ็ปแล้ว ร้องโอ้โหเลย…มีอย่างนี้ด้วย เรามีช่องทางหาทุน แล้วทำให้มันโตไวไวได้ ชุดข้อมูลนั้นคือเปลี่ยนชีวิตผมเลย มันไม่เหมือนเดิมในเรื่องของรูปแบบขยายธุรกิจ ผมเข้าใจว่า หลาย ๆ ไอเดีย Tech Startup จากต่างประเทศสามารถยกมาที่ไทยได้เลยทันที ถ้าคิดขยายอะไรใหม่ๆ ก็แค่เอาแพลตฟอร์มนั้นเข้ามา เราสามารถได้เงินจากค่าบริการ ไม่ใช่แค่ทำสินค้ามาขายเหมือนเดิม ในขณะที่เดิมถ้าเราเป็น SMEs สมมุติเปิดร้านในกรุงเทพฯ หากจะไปเปิดสาขาที่เชียงใหม่ เราต้องไปลงทุนหาทำเล ทำอะไรมากมายก่อน แต่ Tech Startup คือทำได้ไว เข้าถึงคนได้อย่างรวดเร็ว รายได้มาแบบต่อวัน นับเป็นวินาที ไม่ใช่รอเป็นปี”
บ๊วยบ๊วยบอกเล่าด้วยรอยยิ้มที่เบิกบาน “ด้วยความที่ผมขายของออนไลน์มา พอตอนปี 2563 เกิดวิกฤติโรคโควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้ทุกอย่างชะงักไปหมด วงการภาพยนตร์ บริษัท Production House ก็ซบเซา ร้านอาหารก็ปิด ตอนนั้นเห็นโอกาสทุกคนสั่งของออนไลน์ เลยนำสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขาย ทำกำไรหลักแสนบาท จากทุนตั้งต้นไม่กี่หมื่นบาท ที่หามาจากการรับจ้างตัดต่อวิดีโอให้ยูทูปเบอร์ แพลตฟอร์มขายของออนไลน์จำพวก Shopee กับ Lazada บูมมาก ผมก็เอาของใช้ในบ้านมารีแบรนด์แปะยี่ห้อตัวเอง ทำโปรโมท ทำคลิป หาจุดเด่นสร้างคุณค่า ทำให้ขายดีขึ้น 30% คนซื้อใช้ซ้ำ หลักคิดแบบ Startup คือ การมองหา Pain Point แล้วเข้ามาแก้ปัญหา พอคนกลัวโรคระบาดไม่ออกไปช๊อปปิ้ง เราก็หาของมาขายออนไลน์ เดือนแรกขายของใช้ในบ้าน ก็ได้กำไรหลักแสน”
เมื่อขายดีก็เพิ่มทีมงานและเงินลงทุนมากขึ้น เพิ่มตามหลักการต่างๆ ตามสเต็ป ในระยะเวลา 3 เดือนต่อมาบ๊วยบ๊วยจึงสร้างยอดขายได้สูงเป็นยอดหลักล้านบาท “มีคนเดียวยังขนาดนี้ ถ้ามีซัก 10 คนละ เราก็เลยเริ่มวางแผนเรื่องคน ทำทีมแยกๆ เรามาแยกย่อย 24 ชั่วโมง ทำอะไรบ้าง ที่เท่ากับยูนิตหนึ่งที่เราทำได้”
บ๊วยบ๊วยแจกแจงหลักการของ ‘Startup’ ที่เรียกกันว่า ‘Framework’ ออกแบบให้ธุรกิจมีการทำซ้ำได้โดยง่าย คือทำยูนิตการดำเนินเป็นชุดๆ เป็นระบบย่อยๆ 1.ตื่นเช้าหาสินค้าวางมาร์เก็ตเพลส 2.รีแบรนด์ 3.ยิงแอดโฆษณา 4.ตอบแชท 5.แพ็คสินค้า ฯลฯ หลังจากนั้นก็เปิดรับสมัครทีมงาน ช่วงนั้นคนตกงานเพราะโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้ขยายทีมได้ทันที
“เราใช้หลักการ Startup ทั้งหมด เพิ่มสเกล รูปแบบการทำงาน กำหนด Framework สมมุติเอาให้เพื่อนไปทำ 1-2-3-4-5 ตามนี้นะสำเร็จแน่นอน เพื่อนหรือใครก็ตามที่เอาไปทำต่อ ไม่ต้องทำอะไรมาก มีหน้าที่แค่หาสินค้าที่ตัวเองอยากขายเท่านั้น นำมาวางขายในรูปแบบนี้ วางแผนรายสัปดาห์ รายเดือน แต่ก็มีจุดพลาด 3 เดือนต่อมาผมประมาท ชะล่าใจ ไม่ทำบัญชี ซึ่งไม่ว่าธุรกิจอะไรต้องทำตรงนี้ให้ดี เพราะหากไม่ทำ ไม่คุมให้ดี จะไม่รู้ว่าเงินหลุดไปส่วนไหนบ้าง จากประสบการณ์ที่พังเพราะเรื่องบัญชี ทำให้ผมต้อง Re-skill ใหม่หมด โดยเริ่มต้นที่ Soft Skill อย่างการควบคุมตัวเองก่อน ให้ไม่ประมาท ให้มีวินัยทางการเงิน ทำบัญชีอย่างละเอียดให้รู้ว่าเงินหลุดไปส่วนไหนบ้าง แล้วค่อยมาเน้นพวก Hard skill เรื่องการตลาด เทคโนโลยี ทักษะอะไรใหม่ๆ”
บ๊วบบ๊วยบอกต่อถึง “การทำธุรกิจให้สำเร็จ” ไม่ต่างไปจากการปั่นจักยาน “ถ้าเราเคยปั่นได้แล้วต่อให้ 20 ปี ไม่ปั่น พอจะปั่น ก็สามารถกลับมาปั่นได้” และมันก็จริงดังที่ว่านั้น เพราะอีก 3 เดือนถัดมา จากบริษัทฯ ที่จวนเจียดล้มได้กลับมามียอดขายปังๆ จับเงินล้านอีกครั้งหนึ่งจนได้
“สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะธุรกิจ Startup หรือ SMEs เราต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา นอกจากต้องมีเรื่องของการควบคุมตัวเอง เพราะ Startup เวลาเกิดปัญหา ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวินาทีเช่นกัน เพราะผู้ใช้ ลูกค้ามีจำนวนมาก ดังนั้นเราก็ต้องมีทักษะการแก้ปัญหาที่ว่องไวแบบ Startup หลักนิยามคำว่า Startup ของผม คือต้องมีใจที่อยากจะช่วยในการแก้ปัญหานั้นโดยที่ไม่คิดถึงเรื่องเงินก่อน และเราจะคิดธุรกิจ Startup ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แล้วเราจะมีใจในการทำ มีแรงขับเคลื่อนในการทำมัน จากนั้นมันจะมองเห็นการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้เป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ”
“อย่างผมที่มีความสามารถทางด้านการตลาดออนไลน์ และเล็งเห็นปัญหาต่างๆในกระบวนการขายของออนไลน์ ก็เลยได้ไปร่วมกับทีมพัฒนาระบบหลังบ้าน ทำ Order Plus ขึ้นมา ซึ่งนำโดย คุณภาคภูมิ ถิระศักดิ์ (CEO) คุณปัญญวัตร รุ่งแจ้ง (Content Creator) ที่เขาเริ่มเปิดขึ้นมาก่อน จนวันนี้เป็นกิจการที่มาช่วยให้ธุรกิจขายของออนไลน์ที่โตเร็วสามารถขยายกิจการง่ายๆ แค่เอาแพลต์ฟอร์มเราไปใช้ก็สามารถแก้ปัญหาสารพัดให้คนขายของออนไลน์ และด้วยระบบรวมแชทเพจ Facebook ได้ไม่จำกัด เราตอบได้ในที่เดียวเลย ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานให้เร็วขึ้นได้ ลูกค้าก็ไม่หลุด กำไรเขาก็เพิ่มขึ้นตาม” บ๊วยบ๊วยกล่าวทิ้งท้าย