เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จไปทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมภาคเหนือ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมภาคเหนือ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.50 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยเมื่อเสด็จถึง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พลตรี ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 พลตำรวจตรี ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเชียงราย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการแสดง “ยินดีเจ้า” ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมของทางภาคเหนือ โดยนักแสดงในพื้นที่ และต่อมา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ ตามโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 35 กลุ่ม เข้าร่วมจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ จากนั้น พระราชทานพระวโรกาสให้ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและหัตถกรรม ถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม พร้อมกันนี้ โปรดให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณจิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล สไตล์ไดเร็กเตอร์นิตยสาร VOGUE คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสมัยนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคต่อไป และก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการการสาธิตและการแสดงกระบวนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค และการแสดง “ฟ้อนเจียงฮายเมืองงาม”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอันหาที่สุดไม่ได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานความห่วงใยให้กับพสกนิกรของพระองค์ ด้วยทรงมุ่งมั่น แน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมผ้าไทย ทั้งในการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า และการส่งเสริมด้านการตลาด โดยพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อทำให้เกิดกระแสนิยมในการหันมาสวมใส่ผ้าไทยของคนไทย อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการ (Demand Side) ของการเลือกซื้อเลือกหาผ้าไทย เพื่อสวมใส่ในทุกโอกาส ที่ส่งผลให้ภาคการผลิต (Supply Side) มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค พร้อมทั้งพระราชทานลายผ้าพระราชทาน อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และล่าสุด ลายดอกรักราชกัญญา นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความอยู่ดีกินดีและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน

“โครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย จะได้รับความรู้การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน และเทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย มีผลงานผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย และสามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความทันสมัย สวมใส่ในชีวิตประจำวันเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการดังกล่าวฯ ทำให้เกิดแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ ผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้และเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และยังเป็นแบบอย่างในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy: BCG สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งผลไปถึงผู้สวมใส่หากใช้สารเคมี ในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งตนเองได้ด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ กลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และช่างทอผ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงนำประสบการณ์ส่วนพระองค์ทั้งจากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย ถ่ายทอดสู่สมาชิกกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้าที่เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย ทำให้สามารถนำไปออกแบบเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีความร่วมสมัย และนำไปประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยได้อย่างสวยงาม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับช่างทอผ้าทุกท้องถิ่น ท้องที่ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ ซึ่งนับได้ว่าทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ทำให้ผ้าไทยมีลวดลายที่หลากหลาย เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม มีความร่วมสมัยและเป็นสากล และขอเชิญชวนพวกเราคนไทยทุกคน ได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วยการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวัน ทุกโอกาส เพื่อทำให้ผ้าไทยได้มีชีวิตที่ยืนยาว คนทอผ้าได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จุนเจือสมาชิกในครอบครัว อันทำให้คนไทยอีกหลายล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชนอื่น ๆ ในทั่วพื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในวันนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ กลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และช่างทอผ้า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปต่อยอดให้เกิดความแพร่หลาย เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นในการสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยความร่วมมือในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เข้าร่วมกว่า 50 กลุ่ม และได้มีการคัดเลือกผืนผ้าที่มีความโดดเด่น นำไปออกแบบเสื้อผ้า โดยได้รับพระวินิจฉัยจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำประสบการณ์ส่วนพระองค์ ทั้งจากการทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง พระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย ถ่ายทอดสู่สมาชิกกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้า ซึ่งพระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีความมุ่งมั่นในการสนองพระปณิธานเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้าน นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมผ้าไทยควบคู่กับการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งนับว่าเป็นพระปรีชาชาญของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการพระราชทานแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของผ้าไทย โดยให้ผู้ประกอบการทอผ้าได้ปลูกพืชให้สี และใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า รวมทั้งแนวพระดำริในการส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สะท้อนให้เห็นได้จากการเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนที่หมู่บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ทรงให้ความเป็นกันเอง และตรวจดูบ้านของประชาชน ทั้งแปลงผักสวนครัว และถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่ทำให้เกิดการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และยังเป็นการรักษาสภาพและเพิ่มคุณภาพให้กับดิน ซึ่งนับได้ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้มีพลัง และทรงเป็นต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจ ในการกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน อย่างได้ผลดียิ่ง ทำให้เกิดการ Change for Good ทั้งนี้ ในฐานะผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย มีความตื่นเต้นยินดี และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระปณิธาน ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยที่ทอจากผ้าสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่วม สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับชาวไทย ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ตลอดไป