“ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข” ราชสีห์ผู้ภักดี ผู้น้อมนำแนวพระดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณรี’ “หมู่บ้านยั่งยืน”ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

“ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข” ราชสีห์ผู้ภักดี ผู้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา “หมู่บ้านยั่งยืน” ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีอย่างยั่งยืน

“จากพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ที่แวดล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ทำนา ทำสวน มองไปทางไหนก็เป็นดินลูกรัง ถนนปกคลุมไปด้วยฝุ่น ที่หากจะกล่าวว่าสักวันหนึ่งจะมีถนนหนทางที่สะดวก มีผู้คนมาท่องเที่ยว มาเยือน มายล มาจับจ่ายเลือกซื้อสิ่งของนั้น อาจเป็นได้เพียงความฝัน และยิ่งเมื่อต้องมาประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับคนไทยทุกคน และพลเมืองทั่วโลกแล้ว ยิ่งมองไม่เห็นถึงหนทางแห่งการทำมาหากิน หรือเส้นทางที่จะทำให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ หรือหากยังมีลมหายใจ คงเป็นเพียงลมหายใจอันน้อยนิด ที่รอวันจะต้องหมดลมลาหายตายจากโลกนี้ไป” ผู้ใหญ่บ้านโนนกอก สะท้อนด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกได้ถึงความสิ้นหวังในช่วงเวลาหนึ่งของเหตุการณ์ในชีวิต

นายอภิชาติ พลบัวไข หรือ “ผู้ใหญ่ต้น” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีใจที่มุ่งมั่น ผู้มี Passion แห่งการเป็นผู้นำ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” บอกเล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 ว่า “บ้านโนนกอก มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เป็นเกษตรกร ในยามว่าง จึงได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” เป็นกลุ่มทอผ้ากลุ่มเล็ก ๆ ที่มุ่งอนุรักษ์การทอผ้าขิด ผ้าไหม ผ้าฝ้าย นำภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมของคนในตำบลหนองนาคำ มาสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิม คือ ยังใช้กี่ทอผ้า หรือ “หูก” ในการทอผ้า ด้วยเพราะ “ผู้ใหญ่ต้น” และชาวบ้านโนนกอกทุกคน ต่างมีแรงบันดาลใจจากงานศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในด้านผ้าไทยอย่างอเนกอนันต์นานัปการเคียงข้างหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทำให้ชาวบ้าน รวมถึงคนไทยทุกคน สามารถพึ่งพาตนเอง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักปรัชญาอันน่าพิศวงหลงใหลที่เมื่อใครได้น้อมนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิตต่างต้องประสบพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” เฉกเช่นเดียวกับที่บ้านโนนกอก ที่ชาวบ้านนำต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อย่าง “ดอกบัวแดง” มาเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ย้อมสีผ้า เมื่อผสมผสานกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่ได้รับมาแต่ครั้งบรรพบุรุษในด้านหัตถศิลป์หัตถกรรมการทอผ้า ทำให้ชาวบ้านโนนกอกมีฝีมือการทอผ้าที่หาที่ใดจะทำอาชีพเหล่านี้สืบต่อมาได้หลายชั่วอายุคน และมีลวดลายที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งลายขิดอีสาน ขิดลายนาค ลายกนกประตูโบสถ์วัดบ้านหนองนาคำ ลายขอเล็บแมว และลายขอขิดเกียง และสำหรับดอกบัวแดงที่นำมาย้อมนั้น ก็เป็นพืชพรรณที่อยู่ในลำห้วยเชียงรวงที่ไหลผ่านในหมู่บ้านโนนกอกเอง…แต่ถึงกระนั้น ชาวบ้านโนนกอกก็ไม่ต่างกับคนทั่วประเทศไทยและคนในทั่วทุกมุมโลก ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าในยุคที่โลกพัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งจะยังเกิดเหตุการณ์นี้ได้ นั่นคือ “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ต่อช่างทอผ้าทุกคน เพราะยอดจำหน่ายมีน้อยมาก น้อยจนหลายคนแทบจะเลิกการประกอบอาชีพนี้ไปแล้ว

ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข ได้กล่าวต่ออีกว่า….แต่ทว่า ในความทุกข์ยากความลำบากของชาวบ้านโนนกอกในยุคโควิด-19 นั้น กลับมีแสงสว่างที่ส่องมาถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ บ้านโนนกอกแห่งนี้ ที่นับเป็นบุญอย่างใหญ่หลวงของพวกเราทุกคน คือ พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” รวมถึงลวดลายอื่น ๆ ที่ทำให้พี่น้องช่างทอผ้าบ้านโนนกอกสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนผ่านพ้นวิกฤต พลิกวิกฤตกลายเป็นโอกาส ด้วยยอดสั่งและซื้อผ้าหลายสิบล้านบาท เมื่อเฉลี่ยเป็นรายบุคคล จากเดิมชาวบ้านมีรายได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท กลายเป็นเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท และยิ่งผืนผ้าของบ้านโนนกอกได้รับพระราชทานเหรียญรางวัล ซึ่งเป็นผืนผ้าทอจากสีธรรมชาติและได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นและผลิตโดยคนในชุมชน คือ สีดำที่ย้อมจากดอกบัวแดงตากแห้งหมักดินโคลน ถักทอลวดลายพระราชทาน เพียงแค่ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทุกวันนี้ชาวบ้านในชุมชนยังผลิตแทบไม่ทัน และหากจะกล่าวถึงการส่งผลงานเข้าประกวดลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ยิ่งไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะยอดสั่งจองลวดลายพระราชทานลายแรกนั้นทำแทบไม่ทันจริง ๆ นอกจากนี้ พระดำริในการส่งเสริมผ้าไทย ยังทำให้เกิดประโยชน์อันมหาศาลครบทุกกระบวนงานการผลิตการทอผ้า นั่นคือ ทั้งคนปลูกดอกบัวแดง คนเก็บดอกบัว คนนำมาตากแห้ง คนย้อมไหม คนทอผ้า คนซัก คนขาย ทุกคนต่างมีอาชีพ มีรายได้ จากการนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาส่งเสริมเป็นอาชีพและต่อยอด ทำให้ชีวิตดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น และชุมชนดีขึ้น

“นอกจากนี้ บ้านโนนกอกในวันนี้ ได้สร้างสรรค์ประโยชน์อย่างมากมายให้กับคนในชุมชน จากหมู่บ้านที่ไม่มีอะไร จนกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม มาจับจ่ายใช้สอย มาซื้อ มาเลือกหาของ ทำให้ทั้งแม่ค้าในตลาดชุมชน เกษตรกรคนปลูกผัก หรือแม้แต่ชาวบ้านที่พักอาศัยในบ้านเรือน ก็มีรายได้จากนักท่องเที่ยว ด้วยเพราะ “พื้นฐานการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย” ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้เกิดคำว่า “พึ่งตนเอง” ทั้งการน้อมนำศาสตร์พระราชาและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาทำในแปลงรวมของชุมชนบริเวณศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก การปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือนตามพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รวมไปถึงการแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% ในทุกครัวเรือน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่า ขยะเปียก เกิดประโยชน์ทั้งเป็นอาหารสัตว์ และเป็นอาหารบำรุงดิน บำรุงพืช ซึ่งสามารถมองเห็นแปลงผักทุกครัวเรือน มีตัวอย่างเช่น กะหล่ำ ผักกาดดอก ผักชีไทย ผักชีลาว หอมพื้นบ้าน กระเทียม กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กวางตุ้ง เขียวปลี ตั้งโอ๋ เป็นต้น” ผู้ใหญ่อภิชาติฯ กล่าว

ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านโนนกอกมีประเพณีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนอีสานที่เกิดจากพลังศรัทธา จากการประชาคมหมู่บ้าน นั่นคือ ฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นประเพณีที่พันผูกกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องบอกว่า หากย้อนไปหลายปีก่อน ความเจริญทางวัตถุได้แผ่ขยายเข้ามาจนทำให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านห่างไกลจากคำว่า “สวดมนต์ไหว้พระ” ด้วยเหตุผลนานาประการ และวัดในชุมชนเองก็ไม่มีการทำวัตรสวดมนต์ จึงเกิดการประชาคมร่วมกันของคนในหมู่บ้าน และก่อร่างสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ คือ การสร้างวัดใหม่ชัยมงคลบ้านโนนกอก บนพื้นที่ 6 ไร่ จากราคา 3 ล้านบาท ชาวบ้านได้ร่วมกันทำบุญ ทอดกฐิน ผ้าป่า จนปัจจุบันนี้คงเหลือค่าที่ดินที่ชาวบ้านยังคงร่วมกันทำบุญอย่างต่อเนื่องอีกเพียงประมาณ 8 แสนบาท แต่ทั้งนี้ ประการสำคัญ คือ บ้านโนนกอกมีภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนาที่เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส คือ “หลวงพ่อบุญเที่ยง” ทำให้ชาวบ้านโนนกอกมีศูนย์รวมจิตใจ มีสถานที่พึ่งพิงทางใจ และเป็นพื้นที่ชุมชนแห่งความรัก ความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่หากใครอยากสัมผัสก็สามารถแวะเวียนมาท่องเที่ยวทั้งไป-กลับ และท่องเที่ยวลักษณะโฮมสเตย์แบบวิถีชีวิตชาวโนนกอก
ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า ชาวโนนกอกไม่เคยลืมโอกาสที่พวกเราได้รับจากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และท่านวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้มาเยี่ยมเยือนขณะที่พื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นลูกรัง โดยทั้งสองท่านเป็น “ผู้นำ” คนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและให้โอกาสกลุ่มทอผ้าได้ทำงาน ได้เปิดโอกาสตัวเองได้นำเสนอภาพที่เป็นอัตลักษณ์ของบ้านโนนกอก อัตลักษณ์ของจังหวัดอุดรธานี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอกได้เข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และทำให้ดินแดนที่ไม่มีแม้แต่ภูเขาหรือแม่น้ำ ได้รับการพัฒนาต่อยอดกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นการจุดประกายของการทำผ้า ทำให้ชาวบ้านในชุมชนจากที่ไม่มีอาชีพที่ชัดเจน กลายเป็นทุกวันนี้ ทุกคนประกอบอาชีพ “ช่างทอผ้า” และกล้าที่จะบอกกับทุกคนว่า “ฉันเป็นช่างทอผ้า”

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของศูนย์เรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก คือ “การเป็นผู้นำต้องทำก่อน” ของท่านผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข ที่เป็นผู้นำของชุมชน เป็นราชสีห์ผู้มี “ใจรุกรบ” มุ่งมั่น “พัฒนาคน” ให้ “คนพัฒนาพื้นที่” ด้วยการริเริ่มรณรงค์ส่งเสริมพาสมาชิกในชุมชนที่แต่เดิมนั้นไม่มีอาชีพที่ชัดเจน จนทำให้ทุกวันนี้ได้ประกอบอาชีพเป็นช่างทอผ้า มีรายได้ที่ยั่งยืน มีอาชีพที่มั่นคง และประการสำคัญที่สุด คือ “หัวใจแห่งความจงรักภักดี” ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี รวมถึงพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทุกพระราชกรณียกิจของทุกพระองค์ ได้รับการส่งต่อในการสืบทอดพระราชปณิธานด้วยพระปรีชาชาญและพระอัจฉริยภาพอันเปี่ยมล้นด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ทรงชุบชีวิตผ้าไทยให้มีลมหายใจ ผ่านพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ปลุกชีวิตกี่ทอผ้าให้มีเสียงกระทบดังอย่างต่อเนื่อง และพระราชทานแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยที่ “ผู้ใหญ่อภิชาติ พลบัวไข” ได้น้อมนำมาใส่เกล้าใส่กระหม่อม มุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านโนนกอก จนกลายเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” จึงทำให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และผู้ใหญ่อภิชาติ บัวไข ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่น ประจำปี 2565 ของจังหวัดอุดรธานี และเป็นผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ ที่ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้า สร้างสรรค์บ้านเมืองของหมู่บ้านโนนกอก ให้เป็นบ้านโนนกอกของชาวโนนกอกอย่างแท้จริง ด้วยหัวใจแห่งการเป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เคยลืมที่จะสำนึกว่า บ้านโนนกอก สามารถลืมตาอ้าปากและมีชีวิตได้ยั่งยืนได้เพราะใคร “เพราะพระบารมี” นั่นเอง