‘กสิกรไทย’ ย้ำการเป็นธนาคารยั่งยืน! มอบ 33.6 ลบ. หนุนสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจฯ รพ.สระบุรี

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก โดยในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากการเป็นโรคหัวใจถึง 17.7 ล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของอัตราการเสียชีวิตทั่วโลก

หันมามองบ้านเรา จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน จึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับบริการอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะ ‘บริการด้านสุขภาพ’ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

พร้อมสนับสนุนทุนจำนวน 33.6 ล้านบาทให้โรงพยาบาลสระบุรีสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก (Cardio- vascular and thoracic Intensive Care Unit: ICU CVT) ทั้งยังจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคอย่างครบครัน เพื่อรองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ พร้อมเร่งขยายการบริการให้ผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็วขึ้น

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก (CU CVT) ภายใต้การร่วมมือกับโรงพยาบาลสระบุรี และกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากสระบุรีเป็นเมืองหนึ่งที่เปรียบเสมือนหน้าด่านของการเดินทาง ระหว่างภาคกลางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งยังเป็นจังหวัดสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการท่องเที่ยว และยังมีผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคกลางอีกด้วย

ในขณะที่โรงพยาบาลสระบุรีเองก็มีความพร้อมของบุคลากร อีกทั้งเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค เป็นศูนย์ส่งและรับต่อผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลสระบุรีมีศักยภาพเพียงพอที่ธนาคารกสิกรไทยจะเข้าไปสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

“หัวใจ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด เพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกาย และเปรียบเสมือนยุทธศาสตร์ของร่างกาย ธนาคารกสิกรไทยเห็นถึงความสำคัญและอยากจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการดำรงชีวิตของผู้ป่วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังพัฒนาปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เข่น การร่วมพัฒนาดิจิทัลเฮลท์แคร์แพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพแก่โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ของกระทรวงสาธารณสุข และ ‘หมอ กทม.’ ของกรุงเทพมหานคร

และในอนาคตธนาคารกสิกรไทยจะมีการพัฒนาโครงการ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการขนาดเล็กที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการคลินิก หรือบริการผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า เฮลธ์เทค ได้อย่างทั่วถึงด้วย

“กสิกรไทย ไม่เพียงต้องการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปอย่างยั่งยืนผู้เดียวเท่านั้น แต่ธนาคารต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดี สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า สุขภาพที่ดีคือปัจจัยพื้นฐานของความมั่นคงและความเข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจ” ขัตติยา ปิดท้าย

โรงพยาบาลสระบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ขนาด 700 เตียง ในเขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบคลุมทั้ง 5 โรค ได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ทารกแรกเกิด และศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งยังเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนในจังหวัดสระบุรีและใกล้เคียง โดยเฉพาะด้านโรคหัวใจซึ่งมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยโรงพยาบาลสระบุรี

นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี บอกว่า เมื่อปี 2555 โรงพยาบาลสระบุรีเปิดบริการศูนย์โรคหัวใจ และได้มีการพัฒนาศักยภาพมาโดยตลอด จนสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตันผ่านวิธีการสวนหัวใจด้วยบอลลูน เพื่อขายหลอดเลือดได้สำเร็จ แต่ด้วยจำนวนบุคลากรและทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องรอคิวการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดถึง 60-80 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ 1-2 เดือน และรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกประมาณ 40-50 รายต่อปี ซึ่งมีต้องรอคิวนานกว่า 1 ปี

ต่อมา โรงพยาบาลสระบุรีมีแพทย์ศัลยกรรมทรวงอก สำเร็จการศึกษากลับมาประจำการเพิ่ม 2 ท่าน รวมทั้งสิ้น 4 ท่าน ทำให้โรงพยาบาลวางแผนขยายการให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดขึ้น

จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารกสิกรไทย เป็นจำนวน 33.6 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคาร 100 ปีสาธารณสุขไทย ชั้น 6 เพื่อเปิดบริการหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ (ICU CVT) จำนวน 8 เตียง รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการรักษา โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565

“นอกจากการพัฒนาการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ ช่วงหลังการผ่าตัด โรงพยาบาลจำเป็นต้องมี ICU ที่สามารถรองรับดูแลผู้ป่วยได้ โรงพยาบาลจึงคิดว่าการสร้างหอ ICU CVT จะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจได้รับการผ่าตัดมากขึ้น โดยคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อปี ถือเป็นการช่วยชีวิตคนได้อย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์อนันต์ กล่าวด้วยความหวัง

พญ. นุชรัตน์ วัฒนาพูลทรัพย์ ศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลสระบุรี

ด้าน แพทย์หญิงนุชรัตน์ วัฒนาพูลทรัพย์ ศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลสระบุรี ได้นำเสนอแผนการจัดบริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดของโรงพยาบาลสระบุรีในอนาคตว่า ประเทศไทยแบ่งเขตสุขภาพเป็น 13 เขต โดยโรงพยาบาลสระบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ที่ให้บริการผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4 อันประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

ซึ่งประชากรชาวจังหวัดสระบุรีคิดเป็น 12% ของประชากรทั้งหมดในเขตสุขภาพที่ 4 จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจอื่นๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยในโรงพยาบาลสระบุรี จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด แต่ต้องส่งตัวไปรับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งอื่นๆ เนื่องจากยังขาดแคลนบุคลากร อุปกรณ์ในการผ่าตัดหัวใจ รวมถึงเครื่องมือดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังผ่าตัด

หลังการสนับสนุนงบประมาณของธนาคารกสิกรไทย ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด’ กว่า 33.6 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้นำมาใช้ปรับปรุงพื้นที่ สร้างหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ (ICU CVT) จำนวน 8 เตียง รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาผู้ป่วย

“ปัจจุบันโรงพยาบาลสระบุรี มีศัลยแพทย์หัวใจทั้งหมด 4 ท่าน อายุรแพทย์โรคหัวใจ 6 ท่าน กุมารแพทย์โรคหัวใจ 1 ท่าน วิสัญญีแพทย์ด้านการผ่าตัดหัวใจ 1 ท่าน พยาบาลวิสัญญี 4 ท่าน นักเทคโนโลยีหัวใจ 2 ท่าน และพยาบาล ICU CVT อีก 8 ท่าน

“ในอนาคตโรงพยาบาลสระบุรีมีแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในแง่การจัดหาบุคลากร จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด เพิ่มจำนวนเคสผ่าตัดต่อสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์หัวใจที่มีศักยภาพ มุ่งเน้นการให้บริการที่มีมาตรฐาน ทันสมัย และครบวงจร รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย เสียชีวิต ย่นระยะเวลารอคอย ตลอดจนลดการส่งออกผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นด้วย” พญ. นุชรัตน์ ปิดท้าย

ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธนาคารธนาคารแห่งความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งด้านสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป