ปลัด มท. เดินหน้าลุยต่อเนื่อง จับมือ UN Workshop บุคลากรทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน สร้างนวัตกรรม ตอกย้ำยกระดับประเทศไทยความยั่งยืนทุกมิติ

ปลัด มท. เดินหน้าลุยต่อเนื่อง จับมือ UN Workshop บุคลากรทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน สร้างนวัตกรรม ตอกย้ำยกระดับประเทศไทยความยั่งยืนทุกมิติ

“ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ตามแนวทาง Change for Good “ อย่างต่อเนื่อง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดใจหลังร่วมพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย และสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (Ms.Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเข้าร่วม

ปลัด มท. ระบุว่า สืบเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านความร่วมมือกับทีมงาน สหประชาชาติประจำประเทศไทย และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ในนามของกระทรวงมหาดไทย “77 จังหวัด 77 คำมั่นสัญญา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และเพื่อเป็นการตอกย้ำเจตจำนงการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัด Workshop ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ และสร้างความตระหนักรู้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ผ่านเครือข่ายการทำงานของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ 878 อำเภอ 76 จังหวัด และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน
ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ตามแนวทาง Change for Good ผ่านการสร้างทีมผู้นำนักขับเคลื่อนนำการเปลี่ยนแปลง 878 อำเภอ ในโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่เข้าดำเนินงานสำรวจประเด็นปัญหา เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ โดยสำรวจปัญหาความเดือดร้อนทุกครัวเรือน และมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาโดยมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้พี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้ ที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยใช้กลไกจิตอาสา ยกระดับพัฒนาจากชุมชนชนบทสู่ระดับชุมชนเมือง เพื่อทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย และมีภูมิต้านทานต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในบริบทโลกปัจจุบัน

สำหรับภารกิจดังกล่าวได้สอดคล้องกับประเด็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้านที่สำคัญได้แก่ 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน 3) การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว การแก้ปัญหาการเผาชีวมวล ด้วยแนวทางที่อิงธรรมชาติและการลดมลพิษทางอากาศและพลาสติก 4) การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียอาหาร การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนการทำฟาร์มอัจฉริยะ และ 5) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนและระบบนิเวศทางทะเล โดยการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงความท้าทายบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ”

นอกจากนี้ ปลัด มท. ยังระบุด้วยว่า เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีทรงมุ่งหวังจะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และหลัก “อารยเกษตร” มาเป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเองอย่างมีเหตุผล ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน (National Food Waste Management Campaign) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับบริหารจัดการขยะ พร้อมสร้างวัฒนธรรม 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายครัวเรือน และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

ตลอดจนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อีกทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” อีกด้วย และเนื่องในโอกาสวันดินโลก 5 ธันวาคม ของทุกปี กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด Soils, where food begins หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดิน ทำให้เกิดผลดีทั้ง 4 ด้าน คือ ด้าน ผลิตผลที่ดีขึ้น (Better Production) ด้านโภชนาการที่ดีขึ้น (Better Nutrition) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Better Environment) และด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life) อีกด้วย

สำหรับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เชื่อมั่นว่า แนวคิด Change for Good จะจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในบริบทที่หลากหลายให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นวงกว้าง ทำให้ปะเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ร่วมกันผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการประสานความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และ 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้ความตั้งใจในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อลูกหลาน คนไทย ตลอดจนร่วมสืบสานพระราชปณิธานการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่มั่นคงยกระดับชุมชน นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมการผลิตที่สร้างสรรค์ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกด้าน ทำให้โลกใบเดียวของเราเป็นพื้นที่แห่งความสุข เพื่อลูกหลานของเราทุกคน

ทั้งนี้ สหประชาชาติประจำประเทศไทย และ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้ง 17 ข้อ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย