ปลัด มท. อัญเชิญพระราชกระแสห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ

ปลัดมหาดไทย อัญเชิญพระราชกระแสห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ

วันนี้ (20 พ.ย. 65) เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมศาลาประชาวาริน เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ โดยได้รับเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส และพระปัญญาวชิรโมลี ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายขรรค์ไชย ทันธิมา ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ร่วมลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวอำเภอวารินชำราบ จำนวนกว่า 200 คน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงที่ผ่านมา และในขณะนี้ยังมีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ยังคงท่วมขังในบริเวณบ้านเรือนที่พักอาศัยและไร่นา ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยาก

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกหน่วยงาน ทุกคน “ให้ช่วยเหลือประชาชนให้กลับคืนสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด” ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเท ลงไปรับใช้พี่น้องประชาชน ลงไปดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้มีกิน มีที่อยู่ชั่วคราว มีคุณหมอคอยดูแล เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ญาติโดยสายโลหิต แต่พวกเราชาวมหาดไทย ผู้มีจิตวิญญาณแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ก็ถือว่าพี่น้องประชาชน คือ ญาติผู้ใหญ่ที่พวกเราให้ความเคารพนบนอบและดูแลอย่างเต็มกำลังความสามารถ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพวกเราคนไทยที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากจากอุทกภัย อันถือเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่งของชีวิต โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานลายพระหัตถ์ถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ความว่า “ด้วยรักและห่วงใย ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อขวัญที่ดี จิตใจ และร่างกายที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งความสุขและความมั่นคงของชาติ” จึงขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับพรอันประเสริฐจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ใส่เกล้าใส่กระหม่อมเป็นสรรพสิริมงคลของชีวิต เพื่อจะได้มีกำลังใจในการดำรงชีวิต และกลับมาใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการพึ่งพาตนเอง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้กับพวกเราคนไทย ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงรักและห่วงใย และไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของพระองค์ นอกจากนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้จดจำไว้ว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และข้าราชการทุกคน คือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พร้อมอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนทุกคน หากมีสิ่งใดให้ข้าราชการรับใช้ ให้ข้าราชการช่วยเหลือ ขอให้แจ้งไปยังสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัยที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ด้วยการเร่งสูบน้ำบริเวณปลายน้ำ เพื่อให้น้ำลงแม่น้ำโขง เพื่อส่งผลทำให้น้ำในแม่น้ำมูลพร่องลง และน้ำก็จะแห้งเร็วขึ้น หลังจากนั้น ให้ระดมสรรพกำลังข้าราชการ และจิตอาสา ช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน อาคาร ที่สาธารณะ ร่วมกับพี่น้องประชาชน โดยดินที่ถูกแช่น้ำมานานต้องโรยปูนขาว เพื่อช่วยฆ่าเชื้อตามผิวและยังเป็นการปรับปรุงสภาพดินไปในตัว ทั้งนี้ ให้ส่วนของบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ให้ดำเนินการเยียวยาให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยนำเมล็ดพันธุ์พืช มอบให้กับพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน เพื่อให้มีกิจกรรมปลูกพืชปลูกผักปลูกรัก ให้คนในครอบครัวได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ได้มีอาหารที่ปลอดภัย พร้อมทั้งจัดหน่วยงานบูรณาการร่วมกันเคลื่อนที่สัญจรลงพื้นที่ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาความเดือดร้อน ทั้งมิติที่อยู่อาศัย สุขภาพ อาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น และทำกิจกรรมเสริมสร้างความสุข คลายทุกข์ให้พี่น้องประชาชน ด้วยการจัดกิจกรรมรำวง 130 ปีกระทรวงมหาดไทย ประกวดประขันในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมาร่วมกันรำวง เกิดความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ หมดทุกข์หมดโศก กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข หลังจากต้องเผชิญสถานการณ์อุทกภัยมาเป็นเวลานาน

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในปี 2565 เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พายุ “มู่หลาน และ พายุ “โนรู” ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 2,425.3 มิลลิเมตร ประกอบกับมวลน้ำในลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี จากจังหวัดทางตอนเหนือจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นไป มีปริมาณน้ำมากไหลมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ในห้วงเวลาเดียวกัน ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ทั้งด้านการดำรงชีพ และด้านการเกษตร จำนวน 21 อำเภอ 161 ตำบล 1,612 หมู่บ้าน 61,245 ครัวเรือน 104,253 คน สถานการณ์ปัจจุบันคงเหลือ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ 4 ตำบล 28 หมู่บ้าน 1,201 ครัวเรือน 3,417 คน โดย จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการพิจารณาสนับสนุนเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย จากคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จัดหาถุงยังชีพ ให้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 10,334 ชุด ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอดอนมดแดง