เอ็นไอเอปั้น 81 ผู้บริหารรัฐ – เอกชนสู่ผู้นำด้านนวัตกรรม พร้อมเสนอ 4 นโยบายลดความท้าทายเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

กรุงเทพฯ 27 กันยายน 2565 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดกิจกรรมปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐเละเอกชน หรือ PPCIL รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาและสร้างศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและเอกชนให้มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม สำหรับนำมาสร้างสรรค์เป็นข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ช่วยแก้ปัญหาสำคัญของประเทศด้วยนวัตกรรม พร้อมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมในระดับประเทศ โดยปีนี้มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำเร็จหลักสูตรฯ จำนวน 81 ราย จากหลากหลายภาคส่วน การอบรมครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้ได้รับความรู้เพื่อนำไปต่อยอดแล้ว ยังก่อให้เกิด “ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย” ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนใน 4 ประเด็น ได้แก่ นวัตกรรมด้านกำลังคน นวัตกรรมด้านการเกษตร นวัตกรรมด้านสาธารณสุข และนวัตกรรมด้านข้อมูล

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า หลักสูตร PPCIL รุ่นที่ 4 จัดขึ้นเพื่อพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ช่วยแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศด้วยนวัตกรรม พร้อมกับการสร้างศักยภาพบุคลากรผู้นำภาครัฐและเอกชนให้มีแนวความคิดที่เป็นนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาความรู้และความเข้าใจ บ่มเพาะทักษะและกระบวนทัศน์ เน้นการผลักดันให้กลุ่มผู้นำเหล่านี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรม พร้อมทั้งทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายทางนโยบายระหว่างผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันนวัตกรรมเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงได้

หลักสูตร PPCIL ไม่ได้มุ่งสร้างสร้างองค์ความรู้เพียงแค่ด้านการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด แต่เป็นการวางระบบจัดการเชิงนโยบายโดยอาศัยแนวทางการคิดเชิงอนาคตและการร่วมกันออกแบบนโยบายที่เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถึงแม้หน่วยงานในประเทศจะก็มีทรัพยากรที่ต่างกัน แต่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเชิงนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีพันธกิจด้านการส่งเสริมและสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม รวมถึงการยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้นำภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนตามพันธกิจข้างต้นสามารถสร้างทักษะและแนวทางในการวางรากฐานการคิดนวัตกรรมเชิงนโยบาย NIA จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemaker) ที่มีแนวคิดนวัตกรรม และสามารถนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายสู่การปฎิบัติได้จริงจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และในระดับนโยบาย ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางนวัตกรรมเชิงนโยบายแล้ว ยังก่อให้เกิด “ต้นแบบข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย” ระหว่างการเรียนรู้ในหลักสูตรฯ 4 ประเด็น ประกอบด้วย

·        นโยบายด้านกำลังคน ได้แก่ นวัตกรรมเชิงนโยบายกับการตอบสนองต่อการส่งเสริมการใช้ Soft Power เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องอุตสาหกรรมในอนาคต ส่งเสริมพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในภาคอุตสาหกรรมและการสร้างกลไกยกระดับคุณภาพชีวิตบุคคลกรภาคการศึกษาให้นำไปสู่การพัฒนาประเทศ

·     นโยบายด้านการเกษตร เน้นบูรณาการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกิจกรรมของชาวนาทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวของประเทศ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น

·        นโยบายด้านสาธารณสุข การป้องกันดูแล และแก้ปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มเยาวชนที่สี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

·        นโยบายด้านการจัดการข้อมูล การบริหารจัดการระบบและบริหารข้อมูลของเมืองอย่างเป็นระบบ”

“NIA พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับพัฒนาการของประเทศไทย ซึ่งมีผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่แข็งแกร่ง และร่วมกันเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต พร้อมนำข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายไปใช้ประโยชน์และนำสู่การพิจารณาในระดับนโยบายต่อไป และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร จำนวน 81 ราย จาการอบรมครั้งนี้นอกจากที่จะได้รับความรู้เพื่อนำไปต่อยอดแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายล้วนสะท้อนถึงประเด็นความท้าทายของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม NIA คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายทุกข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมอบรม PPCIL รุ่นที่ 4 จะเป็นหนึ่งในข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ถูกนำไปส่งเสริมและสนับสนุนจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป