สมศ. จับมือ 32 มหาวิทยาลัย เปิดโครงการการนำผลประเมินไปใช้ฯ ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ให้กับศูนย์พัฒนาเด็ก – โรงเรียนนำผลประเมินไปใช้ เพื่อยกระดับสถานศึกษากว่า 120 แห่งทั่วประเทศ

กรุงเทพฯ 25 กรกฎาคม 2565 –  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. จัดโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาหลังจากเข้ารับการประเมินแล้วสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกและข้อเสนอแนะไปพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรม โดยได้นำร่องจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา 32 แห่งทั่วประเทศ ส่งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้คำปรึกษา แนะแนวทางการดำเนินงานให้แก่สถานศึกษา รวม 121 แห่ง ครอบคลุมสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 111 แห่ง และสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 10 แห่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดศักยภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  กล่าวว่า สมศ. ยังคงเดินหน้าประเมินคุณภาพภายนอกและสนับสนุนให้สถานศึกษานำผลประเมินไปใช้ จึงได้จัดทำ โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาหลังจากเข้ารับการประเมินภายนอก ได้ทราบหลักการ แนวทางที่จะนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับใช้อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัด ทุกสังกัด ได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ และกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งเครื่องมือการดำเนินงาน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการส่งเสริมคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา พร้อมกันนี้ สมศ. ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา 32 แห่ง อาทิ จุุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฯลฯ ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างครบวงจร พร้อมกับจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษา สนับสนุน และติดตามผลดําเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในเบื้องต้นมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 121 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็นสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 111 แห่ง และสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นฐาน 10 แห่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดศักยภาพการศึกษาไทย ภายใต้แนวคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา

“สมศ. พยายามมุ่งเน้นให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ ผ่านโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดย สมศ. ได้เริ่มนำร่องโครงการฯ ให้กับสถานศึกษาจำนวน 12 แห่ง โดยพบว่าสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ และมีความเชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานั้นๆ”  ดร. นันทา กล่าวเสริม

          ผศ.ดร. กรุณา แดงสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และผู้เชี่ยวชาญศูนย์ประสานงาน กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ร่วมนำร่องโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากมหาวิทยาลัยทักษิณจึงได้ให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาว่าควรปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด ด้วยการนำวิธีการเรียนรู้โดยใช้บ้านเป็นฐาน หรือ Home based Learning มาปรับใช้ให้เหมาะสม ด้วยการทำให้บ้านเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้หลักของผู้เรียน พร้อมกับร่วมคิดวิธีการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และสถานศึกษา พร้อมกับได้เสนอแนะให้สถานศึกษานำผู้ปกครอง และผู้นำในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืน ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ และเป็นการส่งเสริมการประเมินที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

นายบรรหาญ จิตรหวัง หวัง ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญโรงเรียนเทศบาล 1 (คลองแหอัจฉริยะ) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา เป็นการรวบรวมสถานศึกษา ต้นสังกัด และถาบันอุดมศึกษา มาวางแผนในการพัฒนาและยกระดับสถานศึกษาร่วมกันถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีศูนย์พัฒนาเด็กในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้แล้วพบว่าผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาสถานศึกษา ที่ทุกสถานศึกษาจะต้องมีการทำแผนพัฒนาสถานศึกษาเป็นรายปี และราย 3 ปี อยู่แล้ว ดังนั้นการได้สถาบันอุดมศึกษาที่มีความชำนาญด้านการจัดการศึกษาเข้ามาสนับสนุนก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาอย่างมาก

          ด้าน นายปรีชา เริงสมุทร์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประเมินภายนอกกับ สมศ. เป็นเสมือนกระจกสะท้อนทำให้สถานศึกษาได้มองเห็นจุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุง และเมื่อเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาช่วยสะท้อนให้สถานศึกษาได้เห็นภาพที่ต้องพัฒนาอย่างชัดเจน 3 เรื่อง คือ 1) การดึงอัตลักษณ์และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการปรับวิธีการสอนศาสนาที่ไม่ใช่แค่สอนเพียงอย่างเดียว แต่ดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และสถานศึกษาต้องสามารถตอบโจทย์ของชุมชนได้ว่าหลักสูตรในการจัดการเรียนของสถานศึกษาจะสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างไร 2) การพัฒนาผู้เรียน โดยการส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ของการผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ  3) การส่งเสริมสถานศึกษา ด้วยการให้ไปเป็นสถานศึกษาคู่เทียบการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กับสถานศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เพื่อให้ได้ทราบแนวทางและแผนในอีก 3 – 5 ปี ว่าควรปรับ และเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างไรในการก้าวสู่การเป็นสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์