บอร์ดปฏิรูปฯ ด้านการศึกษา ห่วงวิกฤตเด็กหลุดนอกระบบช่วงปิดเทอมใหญ่ เร่งดึงกลไกท้องถิ่นมีส่วนร่วม พร้อมยกแนวทาง “Area-based Education” แก้ปัญหาได้จริงตรงจุด

· กสศ. แสนสิริ และ มจธ.ราชบุรี จับมืออำเภอสวนผึ้ง เดินหน้า “สวนผึ้งโมเดล” ปักหมุด อำเภอแรก “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

ราชบุรี 15 มีนาคม 2565 – คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เดินหน้าแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลังวิกฤตโควิด-19 กระทบเด็กหลุดออกจากระบบจำนวนมาก โดยคาดว่ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ พร้อมส่งสัญญาณถึงทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งปฏิรูปความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ Area-based Education (ABE) ระดมความร่วมมือ ท้องถิ่น – จังหวัด เปลี่ยนอนาคตเด็กยากจนชายขอบเพื่อไม่ให้เป็นปิดเทอมสุดท้ายของเด็กๆ พร้อมกันนี้อำเภอสวนผึ้งได้จับมือกับ กสศ. แสนสิริ และมจธ.ราชบุรี เดินหน้า “สวนผึ้งโมเดล” ปักหมุด อำเภอแรก “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ชูกลไกป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษา  พร้อมสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า สองปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เด็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในทุกประเทศคือเด็กยากจน ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการหลุดออกจากระบบการศึกษา ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสูญเสียเด็กๆ ที่ร่วงหล่นจากเส้นทางการศึกษาเป็นจำนวนมากในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และจะส่งผลกระทบตลอดช่วงชีวิตของประชากรในรุ่นปัจจุบัน เนื่องจากเด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่าและควรได้รับการพัฒนาเพื่อเติบโตไปเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศ

รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่พบว่า “สวนผึ้งโมเดล” เป็นหนึ่งในต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และตระหนักว่าต้องสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมๆ กัน ด้วยการสร้างระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมกับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิตได้ ตอบโจทย์ชีวิตป้องกันการหลุดจากระบบซ้ำ และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา (Big Rock 1) อีกด้วย

“การปฏิรูปการศึกษาเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ต้องปรับทิศทางเพื่อแก้ปัญหาให้ทันสถานการณ์ เน้นการกระจายอำนาจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นหลัก ผ่านกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) เพื่อสร้างระบบที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการแก้ปัญหาได้มากกว่าส่วนกลาง รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงมีอิสระในการบริหารใช้ทรัพยากร จึงอยากขอส่งสัญญาณให้ท้องถิ่นและทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย อย่าให้เป็นปิดเทอมสุดท้ายของเด็กยากจนชายขอบ” รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวสรุป

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า สวนผึ้งโมเดล เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยเริ่มต้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นที่แรก จุดเปลี่ยนสำคัญคือทุกฝ่ายตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์เร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข จึงอาสาเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ทั้งชุมชนท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชน อย่างบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่จุดประกายสังคมเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เกิดความเสมอภาคในจังหวัดราชบุรี

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1.9 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อที่เสี่ยงหลุดจากระบบในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่จะถึงนี้ และยังพบว่ามีเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวนมากที่ตัดสินใจออกมาทำงานเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว จากวิกฤตนี้ กสศ. มีบทบาทเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบในการป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา การแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) และการสนับสนุนการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปสู่ปีการศึกษา 2565 โดยใช้การวิจัยพัฒนา องค์ความรู้ ฐานข้อมูล และนวัตกรรม โดยปัจจุบัน กสศ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าต้นสังกัดทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายแห่งทั่วประเทศไทย ทั้งระดับสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ทั้งนี้ กสศ. พร้อมสนับสนุนการทำงานของกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ร่วมกับพื้นที่ ท้องถิ่น จังหวัดที่ต้องการร่วมขบวน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

นายศุเรนทร์ ฐปนางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง  ซึ่งมีเด็กยากจนและอยู่ในความเสี่ยงหลุดออกจากระบบจำนวนมาก ทำให้มองเห็นถึงปัญหาของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันไป  จำเป็นต้องมีกลไกในการดูแลรายบุคคลอย่างใกล้ชิด  มจธ. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มองว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ และไม่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนเพียงผู้เดียว จึงได้ดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในอำเภอสวนผึ้ง โดยอิงความต้องการของเด็กและโรงเรียน เริ่มจากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนในเรื่องที่โรงเรียนต้องการ เช่น การส่งเสริมโครงการทักษะอาชีพให้กับเด็กที่มีปัญหาด้านรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะต่างๆ ตามความต้องการของครูและโรงเรียน การสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นเรื่องของทุกคน เป็น All For Education  ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง  สำหรับเด็กๆในพื้นที่ห่างไกล  การศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีงานทำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ  ต้องให้เด็กมีความรู้  มีทักษะอาชีพติดตัวไป  ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียน

นายยรรยงค์ เจริญศรี  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กหลุดซ้ำสามารถดำเนินการตาม 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักต่อผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญและแนวทางในการนำเด็กกลับสู่ระบบร่วมกัน 2) สำรวจรายชื่อเด็ก สภาพปัญหา และปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบเป็นรายคนและทำทุกโรงเรียน 3) แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มตามสภาพปัญหา เช่น กลุ่มรุนแรงที่ออกจากระบบแล้ว, กลุ่มมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบ และกลุ่มเด็กปกติที่ยังไม่พบปัญหา 4) ออกแบบแนวทางแก้ปัญหาเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งปลายทางของเด็กทุกกลุ่มคือสามารถเรียนจนจบการศึกษาในแต่ละขั้น 5) เตรียมความพร้อมของแต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่สามารถดึงเด็กให้อยู่ในระบบ สนับสนุนผู้ปกครอง และระดมทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อนทั้งสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน 6) ดำเนินการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนตามแนวทางที่วางไว้ และ 7) ติดตาม ประเมินผล และสรุปผลโครงการ

            “ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้บุคลาการทางการศึกษาทุกภาคส่วนต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงผู้ปกครองต้องเห็นความสำคัญของการศึกษาของบุตรหลาน ส่วนภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เข้ามาก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่ชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญนักเรียนต้องได้เรียนอย่างมีความสุข พวกเขาต้องได้รับการศึกษาในหลายรูปแบบตามความเหมาะสม อย่างเช่น เด็กบางคนเรียนในระบบไม่ได้ อาจต้องสนับสนุนการเรียน กศน. หรือมีการส่งเสริมด้านอาชีพ โดยผลที่ได้ต้องทำให้เด็กสำเร็จการศึกษาและคำนึงถึงสภาพปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เด็กต้องเผชิญ” นายยรรยง กล่าว  

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22