พช.จัด Kick off ออนไลน์ “สุดปัง Young OTOP Chic&Cool” ยกระดับสินค้า OTOP สู่สากล

กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ปั้น Young OTOP ให้ปรับตัว แข่งขันได้ในโลกยุค New Normal นำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ขยายกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ 

วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2564) นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick off ออนไลน์ “สุดปัง Young OTOP Chic&Cool” ในรูปแบบ Virtual Event  ภายใต้ โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล พร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าทอไทยร่วมสมัย  สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ Young OTOP นำทรัพยากรที่เป็นทุนชุมชน มาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ชุมชน เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ จากการผลิตสินค้า OTOP

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างมาก กรมฯ จึงเล็งเห็นว่า การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ Young OTOP ให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมตลาดและวิถีชีวิตยุคใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ รับรู้ และพร้อมที่จะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ จาก Young OTOP ไปใช้อุปโภค/บริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ OTOP โดยรวม และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งต่อไปได้

สำหรับโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล มีขั้นตอนการดำเนินงาน เริ่มจากการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ  แก่กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ Young OTOP ที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบออนไลน์ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา  จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จากนั้นทำการทดสอบตลาด และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์  โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการเปิดรับสมัคร และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน OTOP (Young OTOP) ที่มีอายุระหว่าง 15 -30 ปี จากทั่วประเทศเพื่อพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ ทั้ง 5 ประเภท จำนวนรวมทั้งสิ้น 100 กลุ่ม/ราย แบ่งเป็น 1.ประเภทอาหาร จำนวน 24 กลุ่ม/ราย 2.ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 8 กลุ่ม/ราย 3. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 42 กลุ่ม/ราย 4. ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 18 กลุ่ม/ราย 5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 8 กลุ่ม/ราย

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ Young OTOP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เติบโตได้ในธุรกิจของตัวเอง สามารถขยายตลาดสินค้า OTOP ให้ตรงกับผู้บริโภคในยุค New Normal เพื่อยกระดับรายได้ให้กระจายไปสู่ชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป