ย้อนรอย 3 ทศวรรษ! “ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์” ย้ำเตือนคนกรุงฯ ยังไม่ปลอดภัย!? กรณีศึกษาเหตุไฟไหม้จาก ‘เพชรบุรีถึงกิ่งแก้ว’ แนะใช้เทคโนโลยีวิศวะสู้พิบัติภัยรุนแรง

กรุงเทพฯ 5 ตุลาคม 2564 – ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำเตือนคนกรุงฯ ยังไม่ปลอดภัย จากกรณีไฟไหม้บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อ 31 ปีที่แล้ว ถึงโรงงานสารเคมีย่านกิ่งแก้วระเบิด พร้อมแนะใช้ “ความรู้ ความเข้าใจ และเทคโนโลยีวิศวกรรม สู้ภัยพิบัติรุนแรง” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ดังนี้ ให้ความรู้ โดยต้องมีคู่มือการจัดการกับวัตถุอันตราย และสารไวไฟทุกชนิด ให้ความเข้าใจ ต้องฝึกฝน เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานโรงงาน ชาวบ้านใกล้โรงงาน ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรม ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ป้องกัน และควบคุม

            ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ย้อนไปเมื่อ 31 ปีที่แล้วในคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2533 พบข่าวด่วนจากสำนักข่าวทุกช่องประกาศว่า เกิดเหตุรถแก๊สระเบิดรุนแรง ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ พบผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากการถูกไฟครอก จากเหตุไฟไหม้รถยนต์ขณะจอดรอสัญญาณไฟจราจร รวมทั้งตึกสูงโดยรอบทั้งสองฝั่งถนนก็ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ที่ล่าสุดเหตุการณ์ในวันนั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง จึงสะท้อนให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันเหตุดังกล่าวใจกลางกรุงฯ ทั้งอุบัติภัยจากไฟไหม้ ในเขตที่พักอาศัยและบนท้องถนน หรือกระทั่งโรงงานกิ่งแก้วระเบิด ที่ติดไฟระดับเสี่ยงสูงและใช้เวลาในการสงบกว่า 2 วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง และมลพิษทางอากาศที่รุนแรง

                ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยในลักษณะดังกล่าว และกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน รวมถึงประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้แบบไม่เสี่ยงอันตราย ในฐานะ “นายกสภาวิศวกร” ขอเสนอการใช้ “ความรู้ ความเข้าใจ และเทคโนโลยีวิศวกรรม สู้ภัยพิบัติรุนแรง” โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.       ให้ความรู้ โดยต้องมีคู่มือการจัดการกับวัตถุอันตราย และสารไวไฟทุกชนิด ต้องมีข้อบังคับ ทั้งการบรรจุ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และวิธีการดับเพลิงอย่างละเอียด รวมทั้งสารที่ต้องใช้ดับเพลิง เพราะที่ผ่านมา กรณีระเบิดกิ่งแก้ว เอาน้ำไปดับสารไวไฟลอยน้ำ ไฟก็ลอยน้ำมาครอกอาสาสมัครเสียชีวิต ทั้งนี้ คู่มือดังกล่าว กทม. ควรจัดทำอย่างละเอียด มีแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ทุกเขต ทุกพื้นที่ และให้ประชาชนเข้าถึงได้ฟรีในรูปแบบออนไลน์

2.    ให้ความเข้าใจ ต้องฝึกฝน เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานโรงงาน ชาวบ้านใกล้โรงงาน เนื่องจากในต่างประเทศมีแผนประชากรในประเทศให้มีความเข้าใจเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติ ตั้งแต่เด็กอนุบาล ในกรณีรถแก๊สระเบิดที่เพชรบุรี หากคนเข้าใจ จะไม่มีใครสตาร์ทรถ ทำให้เกิดประกายไฟ จนรถเราระเบิดต่อเนื่อง

3.      ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรม เพื่อติดตาม ตรวจสอบ ป้องกัน และควบคุม เนื่องจากกล้องวงจรปิดธรรมดาในท้องตลาดมีราคาไม่แพง สามารถติดตาม ตรวจจับ รถขนวัตถุอันตรายได้ โดยหลักสำคัญอยู่ที่การโค้ด (Coding) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมกล้อง ที่ปัจจุบันเด็กไทยรุ่นใหม่ ที่เรียนวิศวฯ ไอที หรือคอมพิวเตอร์ ก็เขียนโปรแกรมได้ไม่ยาก ด้วยแนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้กล้องสามารถแยกประเภทของรถ จับความเร็ว ดูพฤติกรรมการขับขี่ หากรถขนวัตถุอันตรายขับเร็ว หรือในกรณีเสี่ยงแบบนี้ กล้องวงจรปิดจะระบุรถแล้วสั่งการไปที่สัญญาณไฟจราจร เปิดไฟแดง ให้รถอันตรายหยุด พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ

            “สำหรับเทคโนโลยีวิศวกรรมแบบนี้ ไม่ซับซ้อน ใช้กันในเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั้ง นิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ปักกิ่ง สิงคโปร์ เพราะทุกเมืองห่วงความปลอดภัยประชาชน หากเกิดเหตุแบบนี้ ความสูญเสียมหาศาล ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข ไม่คุ้มกัน! เพราะคนไทยทุกคน คงอยากให้ลูกหลาน พ่อแม่ ที่เรารัก อยู่อาศัยในเมืองที่น่าอยู่ ปลอดภัยจากภัยพิบัติรุนแรง ที่อาจเกิดจากความประมาทของมนุษย์! พี่เอ้มั่นใจ ไม่ยากครับ #จะทำก็ทำได้ สู้ ๆ ครับ” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

###

#สุชัชวีร์สุวรรณสวัสดิ์ #COE #สภาวิศวกร #พระจอมเกล้าลาดกระบัง #จะทำก็ทำได้  #วิศวกรไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก