โคก หนอง นา ทางรอดประเทศไทยในห้วงโควิด

“การน้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาปรับใช้ในชีวิตจะเป็นทางรอดของสังคมและทุกคนในชาติ” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เล่าถึงอนาคตของโครงการที่จะเป็นคำตอบและทางออกสำคัญของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ประชาชนมีความรู้ มีกิน มีใช้ และแบ่งปันช่วยเหลือกันและกันภายในสังคมได้

อธิบดี พช.กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่าเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก เพราะในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ “โคก หนอง นา” จะเป็นโมเดลต้นแบบ ในการพึ่งพาตนเองในเรื่องของการสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพที่มั่นคง ในยุคที่เราต้องประสบทั้งวิกฤตโรคระบาด-สุขภาพ และวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลต่อเนื่องตามมา โครงการนี้ก็จะช่วยทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างแท้จริง

พวกเราอยู่กับโรคนี้มา 2 ปี เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชทานไว้ให้กับคนไทยในการน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง โดยเน้นที่ความพอกินพอใช้พออยู่ พอร่มเย็น ของบันได 9 ขั้นแห่งความสำเร็จ ทุกวันนี้ประชาชนรู้จักปลูกพืชหลากหลาย เลี้ยงสัตว์ จัดสรรพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม และน้อมนำทฤษฎีใหม่อีกหลายทฤษฎีมาใช้ ทำให้ทุกๆพื้นที่ทุกครอบครัวสามารถเป็นแหล่งอาหารได้ ที่สำคัญทุกชุมชน-ทุกครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าพื้นที่ของพวกเขา จะเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว เต็มไปด้วยพืชอาหาร แถมยังมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ใช้บำรุงร่างกายและรักษาโรคในช่วงวิกฤตได้ ในพื้นที่ของแต่ละคนมีการจัดสรรให้พึ่งพาตนเองได้ มีการปลูกพืชที่หลากหลาย มีทั้งกะเพรา โหระพา ขิงข่าตะไคร้ กระชาย หรือแม้แต่มะกรูด มะนาว ซึ่งเป็นพืชที่จำเป็นสำหรับชีวิตของผู้คนทั้งสิ้น

อธิบดี พช.ระบุว่า ถ้าเราลองมองไปที่โรคโควิด-19 เราจะเห็นว่าโรคนี้ได้ทำลายการใช้ชีวิตในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนที่กระทบหนักมากที่สุด เนื่องจากโรงงานต่างๆต้องรวมผู้คนจำนวนมากเพื่อผลิตสินค้า แล้วที่ก็สำคัญที่สุดคือระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งหลายก็ได้รับความเสียหาย หมายความว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมผลิตได้ยากขึ้น เมื่อผลิตแล้วส่งไปขายก็ยาก จากปัญหาในการแพร่ระบาดตรงนี้ยิ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการที่เราจะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้เป็นด่านแรกก่อน ในการพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น

ที่สำคัญวิกฤตนี้ก็เปรียบเสมือน Game Set Zero อย่างในเรื่องของตลาด การขายของ การขายอาหาร ขายสินค้า แม้ว่าเราจะมีบริการขนส่งอาหารมากมาย แต่ก็ไม่ทั่วถึงแล้วก็มีค่าบริการที่แพง แถมยังมีโอกาสติดเชื้อจากการระบบที่กล่าวมานี้ ไม่ต้องพูดถึงการไปเดินตลาดก็ยิ่งมีความเสี่ยงเข้าไปอีก ดังนั้นการที่เรามีเป็ด ไก่ ปลาผักบุ้ง ถั่วฝักยาว พืชต่างๆมีข้าวของเราเอง เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนมากที่สุดว่านี่คือทางรอด ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิดเอาไว้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานรักษาและต่อยอด เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้แผ่นดินทองสุวรรณภูมิของเรา กลายเป็นแผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง

กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลัก และเน้นการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งพาตนเอง มีความเป็นเจ้าของพื้นที่ และมีกิจกรรมช่วยเหลือแบ่งปันกันภายในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในหมู่บ้าน ในท้องถิ่นต่างๆให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน ที่ตอนนี้อาจมีอัตราการว่างงานจำนวนมาก ซึ่งจะมีกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาท้องถิ่นในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายคนน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ได้ผลในเชิงประจักษ์ พช.เราก็เสริมการอบรมให้ความรู้ โดยมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่มีจิตอาสาจำนวนมากพร้อมเข้ามาเป็นโค้ช

อีกทั้งยังมีกิจกรรมสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (HLM) และกิจกรรมสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งโครงการและกิจกรรมต่างๆที่ พช.ได้วางหลักเอาไว้ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะคอยติดตามอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือแบ่งปันกันภายในสังคม แถมยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่อย่างมากอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นที่ให้คนในชุมชน ให้เจ้าของพื้นที่พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่อยู่อาศัยของเรา เพื่อให้สามารถพึ่งตาตนเองได้และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งเหล่านี้ชัดเจนและชัดแจ้ง ว่าจะทำให้เรากลายเป็นสังคมที่มีอารยะเกษตร และมีอารยะทางสังคม คือความมีวัฒนธรรม มีน้ำใจ มีภูมิปัญญาในการช่วยเหลือกันและกัน แถมยังสามารถเป็นครัวของโลกได้ด้วย ในภายภาคหน้า ในอนาคตอันใกล้นี้

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังจาก กรมการพัฒนาชุมชนร่วมมือกับเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เราจะมีศูนย์เรียนรู้เรื่องทฤษฎีใหม่-โคก หนอง นา กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 40,000 แห่งในปัจจุบัน และจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะกรมการพัฒนาชุมชนเราตั้งเป้าหมาย ที่จะดำเนินการทุกปีต่อเนื่อง เพื่อที่จะกระจายโอกาสที่ดีของชีวิต ให้ทุกคนมีทางรอด รวมถึงพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งศูนย์เรียนรู้เหล่านี้ จะเป็นศูนย์ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด เพราะเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ดูแลโดยชุมชน เจ้าของแปลงก็ทำมาหากินอยู่ในนั้นและมีความพร้อมเป็นสนามจริงให้คนที่อยากจะศึกษาเรียนรู้หรือเข้ามาสัมผัส ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากเจ้าของแปลงโดยตรง แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งวันนี้หลายพื้นที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ และตอบแทนคืนสู่สังคม ที่สำคัญยังเป็นการพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนให้มีความหมายมากขึ้น