“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภารกิจดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น สู่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน สร้างรายได้ให้ชุมชนทั้งประเทศ

พวกเราทุกคนมีบุญที่ได้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ทำให้ชาวบ้านกลุ่มทอผ้ามีอาชีพ และมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) บอกเล่าการเดินทางของโครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ที่เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตชาวบ้านอาชีพมั่นคงและมีองค์ความรู้ติดตัวถ่ายทอดไปไปสู่ลูกหลาน

อธิบดี พช.เล่าว่า ตั้งแต่ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรติดตามความก้าวหน้าของกลุ่มทอผ้าตามถิ่นต่างๆทั่วประเทศ พร้อมทรงพระราชทานคำแนะนำ เกร็ดความรู้ ให้แก่ชาวบ้านในการเพิ่มเสน่ห์ของผ้าไทยในทุกครั้งที่ทรงเสด็จไป เช่น การเสด็จยังจังหวัดลำพูน ที่ทรงเน้นย้ำให้ชาวบ้านรักษาเทคนิคและวิธีการทอผ้าแบบโบราณอันมีเสน่ห์ ให้เลือกใช้สีที่มาจากธรรมชาติจำเพาะท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงทรงให้คำแนะนำการเลือกจับคู่สีที่ทันสมัยมากขึ้น โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ของผ้ายกดอกลำพูนอยู่ หรือการเสด็จจังหวัดนราธิวาส พระองค์ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ประกอบการ  พร้อมพระราชทานคำแนะแนวทางการพัฒนากรรมวิธี คุณภาพ ลวดลาย เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เพิ่มมูลค่ามากขึ้น รวมไปจนถึงการเสด็จเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงทอดพระเนตรกระบวนการผลิตผ้าย้อมคราม และทรงร่วมทอด้าย ปั่นด้ายและย้อมครามอย่างใกล้ชิด และพระองค์ทรงแนะนำการพัฒนาลวดลายผ้าแก่กลุ่มทอผ้า ซึ่งการเสด็จในพื้นที่ต่างๆนั้น จึงเป็นที่มาของพระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งมีคุณโจ ธนันท์รัฐ ธนเสฏการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เป็นกรรมการที่ปรึกษาโครงการ สานต่อโครงการนี้

อีกทั้งยังมีบรรดาเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ หลายคนเข้ามาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ อาทิ คุณวิชระวิชญ์  คุณหมู ASAVA มาช่วยในเป็นโค้ช ให้การแนะนำกลุ่มต่างๆ  เพื่อนำผ้าไทยไปออกแบบเพิ่มเอกลักษณ์ ต่อยอดไอเดีย ที่สำคัญคือแต่ละคนที่เข้ามาโค้ชชิ่งนั้น พวกเขาก็มีฐานแฟนคลับของเขาเหนียวแน่น ตรงจุดนี้เองก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะยกระดับ ต่อยอดเรื่องผ้าไทยให้ตรงตามธีม เพื่อให้ผ้าไทยฮิต สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกวัน ทุกเวลา ทุกโอกาส

นอกจากที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณประทานแบบลายผ้า ชื่อลาย ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เพื่อเป็นของขวัญและสื่อความหมาย ถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ ชาวไทยทุกคน ไปสู่กลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ทั่วทุกภูมิภาค ถือว่าทำให้ปลุกกระแสวงการผ้าไทยให้เกิดความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง นับแต่นั้นมา กลุ่มทอผ้าทั้ง 4 ภูมิภาคล้วนมีพัฒนาการที่หลากหลาย มีรายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้พระองค์ยังได้ทรงพระราชทาน แบบผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย เพื่อเป็นของขวัญที่สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพสกนิกรไทย  ด้วยพระอัจฉริยะภาพในการสร้างสรรค์ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ พระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติก 3 นี้ ได้แก่ ผ้าบาติกลายพระราชทาน ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ” สื่อความหมายถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม , ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย ด้วยแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย ให้เป็นการจุดประกายความคิด เพื่อให้ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า และลาย ป่าแดนใต้สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ที่ทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิด ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพระประสงค์ที่พระองค์ทรงมีพระปณิธาน อยากเห็นพี่น้องคนไทยเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้นและจะเป็น “ความยั่งยืน” ได้ สำหรับความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้นผลิตภัณฑ์จะต้องมีคุณภาพ  ถูกใจคนที่จะสวมใส่ ด้วยสายพระเนตรกว้างไกลจึงทรงเน้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือที่มาของวัสดุตามธรรมชาติ สีจากธรรมชาติ กลางน้ำ เน้นเรื่องการผลิต การออกแบบลวดลาย การให้สี ที่สำคัญต้องไม่ละทิ้งการถ่ายทอดองค์ทั้งหมดมาสู่ปลายน้ำ ให้แก่ลูกหลานของคนในพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกัน พช.และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ร่วมกันผลักดันกับส่วนราชการให้เกิดกลุ่มทอผ้าขึ้นเพิ่มเติมในอีก 3 จังหวัด  คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และตราด ที่ยังไม่เคยมีกลุ่มทอผ้ามาก่อน เพื่อให้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ซึ่งปัจจุบันที่จังหวัดสมุทรสาคร เกิดการรวมตัวกลุ่มกันและมีรูปแบบผ้าปักลายปลาทูเป็นเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับจังหวัดสมุทรปราการ​ ก็มีการผลักดันจนเกิดการรวมกลุ่มสำเร็จ และล่าสุดไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือ ที่จังหวัดตราด จังหวัดบ้านเกิดผม เกิดผู้ประกอบการทอผ้า ที่อำเภอแหลมงอบ มีสมาชิกรวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้า แล้วก็คิดค้นแบบลายผ้าของตัวเอง คือลายเกลียวสมุทร จนประสบความสำเร็จ จากนี้กลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้นก็จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และดึงเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นมาเป็นจุดเด่นและมีอาชีพใหม่ ถือว่าเป็นการสนองพระราชดำริที่พระองค์ทรงต้องการเห็นการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทยให้อยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไปทั่วทั้งประเทศ

จากนี้ไปลมหายใจของวงการ ผ้าไทยจะยังคงอยู่ เป็นสิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ ก่อให้เกิดการพัฒนาของกลุ่มเก่าที่มีอยู่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านอาชีพมั่นคงขึ้น อีกทั้งยังเกิดกลุ่มใหม่ สร้างอาชีพใหม่ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถือเป็นบุญของพวกเราทุกคน ที่ผ้าไทยจะมั่นคงยั่งยืนสืบไป ชาวบ้านมีความรู้ติดตัว มีการต่อยอดภูมิปัญญา และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และน่าดีใจที่โครงการนี้ก็จะช่วยเสริมฐานรากเศรษฐกิจให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น