จารีตประเพณีทางวรรณกรรมและสังคม | นิธิ เอียวศรีวงศ์

ชนชาติจ้วงซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไท-ไต เป็นวัฒนธรรมที่มีลายลักษณ์อักษรเช่นกัน แม้ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเถรวาทเหมือนพวกไตใหญ่, ไตยวน, ไตเขิน, ไตลื้อ และไตเหนอ (เหนือ) ก็ตาม พวกจ้วงดัดแปลงตัวอักษรภาพของจีนนี่แหละ เพื่อใช้เขียนภาษาจ้วง เอาความหมายของมันบ้าง, เสียงของมันบ้าง หรือคิดอักษรภาพขึ้นใหม่บ้าง (ซึ่งภาษาจ้วงเรียกตัวอย่างนี้ว่า Sawndip ซึ่งผมเดาว่าน่าจะตรงกับภาษาไทยของพญารามคำแหงว่า “สือดิบ”)

ผมไม่ทราบว่าในสมัยโบราณ ผู้คนทั่วไปในหมู่ชาวจ้วงอ่านอักษรนี้ออกอย่างแพร่หลายแค่ไหน แต่เมื่อจีนโดยเฉพาะหลังปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สามารถขยายการศึกษาของ “ชาติ” ออกไปอย่างทั่วถึงกว้างขวางเช่นนี้ ชาวจ้วงส่วนใหญ่ก็อ่านอักษรจ้วงไม่ออกเป็นธรรมดา เพราะอ่านได้แต่อักษรจีนไม่พอ ยกเว้นกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า boumo (ผมเดาว่าน่าจะตรงกับ “ผู้หมอ” หรือ “บ่าวหมอ” ในภาษาไทย) ซึ่งมีหน้าที่ทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของประชาชน

ในบรรดาพิธีกรรมต่างๆ นั้น คำหรือบทพิธีทำขวัญหรือเรียกขวัญ (ฮ้องขวัญของคนเหนือ) ของสิ่งต่างๆ เช่น ควาย, ไร่นา, เครื่องมือการเกษตร หรือคน ล้วนมี “ตำรา” เป็นลายลักษณ์อักษร หนึ่งในนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องของจ้วงและคำทำขวัญต่างๆ คือคนอังกฤษชื่อ David Holm (มีนักวิชาการจีนอีกหลายคน แต่ผมอ่านงานของเขาไม่ออก แม้แต่ชื่อของเขาที่ถอดเป็นอักษรโรมันแล้วก็ยังออกเสียงไม่เป็นด้วย) และได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาไว้ในหนังสือเรื่อง Recalling Lost Souls (เรียกขวัญ)

 

หนังสือเริ่มต้นด้วย “บทนำ” เพื่อนำให้ผู้อ่านเข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมของชาวจ้วง และหนึ่งในเรื่องเหล่านี้ทำความประหลาดใจแก่ผมอย่างมาก

นั่นคือเรื่องเพลงหรือการด้นกลอน สดบ้างแห้งบ้าง ซึ่งชาวจ้วงทั้งหญิงและชายในสมัยก่อนต่างสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว ถามว่า “ก่อน” แค่ไหน? คำตอบคือเรื่องนี้ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนปัจจุบัน รวมทั้งยังเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันในพฤติกรรมและงานพิธีบางอย่างด้วย ดังนั้น จึง “ก่อน” ไม่ไกลนัก

กลอนที่ด้นกันนั้น ใช้ขับเป็นเพลงโดยมีทำนอง ซึ่งผมเดาเอาจากธรรมเนียมคล้ายอย่างนี้ของคนในประเทศไทยว่า น่าจะเป็นทำนองที่ตกทอดกันมาตามประเพณี เหมือนจ๊อยของภาคเหนือ, กลอนลำของภาคอีสาน, “เพลง” ในภาคกลาง และเพลงบอกประเภทต่างๆ ของภาคใต้ (เป็นต้นว่าทำนองจ๊อยของภาคเหนือมีหลายทำนอง เช่น “พร้าวไกวใบ”, “ม้าย่ำไฟ”, “วิงวอน” ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นทำนองที่จดจำกันมาไม่ได้แต่งขึ้นเองในทันทีเหมือนตัวคำหรือบท)

ชาวจ้วงขับเพลงหรือกลอนกันในหลายโอกาสมาก ไม่นับประเพณีชีวิตต่างๆ เช่นแต่งงาน, ทำศพ, ขึ้นเรือนใหม่, คลอดลูก ฯลฯ แล้ว ยังมีเพลงหรือกลอนให้ขับเมื่อคนแปลกหน้าพบกันโดยบังเอิญบนถนน, เมื่อไปเยี่ยมหมู่บ้านของเพื่อน ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งในการสื่อสารของชาวจ้วงกระทำผ่าน “เพลง”

ที่ผมพบด้วยความประหลาดใจก็คือ หนุ่มสาวชาวจ้วงมีประเพณีเล่นเพลงอยู่ครั้งหนึ่งในรอบปี เรียกว่า “ตลาดเพลง” มักจะจัดเล่นกันในลานกว้างริมโค้งน้ำ โดยแบ่งฝ่ายกันระหว่างกลุ่มหญิง-ชาย ไม่ใช่กลุ่มเดียวแล้วเล่นเพลงให้คนที่เหลือดูนะครับ ผมเข้าใจจากที่นักวิชาการอังกฤษเขียนไว้โดยไม่ชัดนักว่า จัดการเล่นออกเป็นกลุ่มชาย-หญิงหลายกลุ่ม พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีแต่คนเล่นไม่มีคนดู เล่นเองดูเองเป็นกลุ่มๆ ไป

เนื้อหาของเพลงที่ร้องแก่กันสรุปรวมหลักๆ ก็คือเกี้ยวพาราสีกันนั่นเอง หนุ่มสาวบางคู่อาจมองกันไปมองกันมา ฝ่ายหนุ่มก็จะขับเพลงเพื่อถามสาวถึงเรื่องอยากรู้ เช่น เป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีนิสัยอารมณ์เป็นอย่างไร และแน่นอนถ้าสนใจก็คงจะฝากรักด้วย ฝ่ายหญิงก็ขับเพลงตอบโต้ จนทั้งคู่เกิดใจปฏิพัทธ์กันพอสมควรแล้ว ก็จับคู่แยกย้ายกันไปยังป่าละเมาะเพื่อความเป็นส่วนตัว แล้วก็ “กระทำความรักแก่กันอย่างจริงจังมากขึ้น” ตามสำนวนของอาจารย์ Holm ผู้เล่า ซึ่งผมกับผู้อ่านคงเข้าใจตรงกันว่าทำอะไร

เขาว่ามักจะจัด “ตลาดเพลง” กันในวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติจีนหรือวัน “กู่เชงเม้ง” เทศกาลซ่างสื้อนั่นเอง

 

ตัวประเพณี “ตลาดเพลง” ไม่ทำให้ผมประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะในเมืองไทย โดยเฉพาะภาคกลางก็มีอะไรทำนองนี้ เช่น เพลงเรือ, เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ก็เล่นกันตาม “ฤดู” ของมัน ประเพณีเล่นเพลงของไทยภาคกลางก็มักจะแบ่งกลุ่มออกเป็นสองฝ่ายคือหญิงกับชายเหมือนกัน และเนื้อหาของเพลงที่เล่นเมื่อสรุปลงแล้วก็คือเกี้ยวพาราสีไม่ต่างจากกัน ผมคิดว่าประเพณีไทยในภาคอื่นก็คงคล้ายๆ กันอย่างนี้ แต่ความรู้ผมไม่มีพอจะพูดถึงได้

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมเข้าใจ ธรรมเนียมเล่นเพลงในภาคกลาง แม้จะเป็นเรื่องเกี้ยวพาราสี หรือหนักขึ้นไปกว่านั้นคือเอาเรื่องการร่วมเพศมาพูดถึงด้วยเชาวน์ปฏิภาณไม่ให้ล้ำเข้าไปในแดนของความหยาบคาย (ซึ่งก็ส่อว่าการเล่นเพลงกับพิธีกรรมความอุดมสมบูรณ์ในภาคเกษตร น่าจะมีความสัมพันธ์กัน) แต่ไม่ลงเอยด้วยการ “กระทำความรักแก่กันอย่างจริงจังมากขึ้น” อย่างน้อยถึงลงเอยอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ด้วยการรับรองของประเพณีเล่นเพลง

ผมอยากเดาว่าความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว เป็นเนื้อหาที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่คนในสังคมเกษตร และบางทีมันอาจสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมโบราณที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ด้วย ทั้งไท-ไตในเมืองไทยและจ้วงในกวางสีและแถบนั้น ก็ล้วนเป็นคนในสังคมเกษตรเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่มีอะไรที่ค่อนข้างตรงกันในประเพณีการเล่นเพลง

 

อันที่จริง ประเพณีการละเล่นของหนุ่มสาวที่ลงเอยแบบนี้ นอกจากปรากฏในหมู่พวกไท-ไตแล้ว ยังปรากฏในหมู่ “ชาวเขา” อีกหลายกลุ่ม เรื่องนี้เมื่อคิดไปแล้วก็ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างไร เพราะชนชาติไท-ไตนั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนบนเขามากและมีมานานแล้ว อย่าลืมว่ากว่าครึ่งของประวัติศาสตร์ชนชาติไท-ไตนั้น ล้วนมีชีวิตอยู่บนที่สูงผืนใหญ่ในกลางทวีปเอเชียด้านตะวันออกและตอนใต้ ที่สูงแห่งนี้นักวิชาการบางคนตั้งชื่อให้ว่าโซเมีย (Zomia) มีทั้งภูเขาสูงสลับซับซ้อนและที่ราบหุบเขาขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง และมีมนุษย์อาศัยอยู่นับหลายพันปีก่อนศักราชสากล พวกไท-ไตจึงสัมพันธ์กับคนบนที่สูงแห่งนี้ ทั้งที่อยู่บนเขาสูงและอยู่ในที่ราบหุบเขาด้วยกันตลอดมา (เฉพาะคนไท-ไตภาคกลางและใต้เท่านั้นที่หลุดออกจากโซเมียจริงๆ นอกนั้นยังอยู่บนโซเมียสืบมาจนทุกวันนี้)

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า เพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานไม่ใช่เรื่องเสียหายในหลายวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมชาวบ้านไทยก่อนรับวัฒนธรรมทางเพศของกระฎุมพีสมัยวิกตอเรียนด้วย เพศสัมพันธ์ที่ค่อนข้างอิสระจะมีอันตรายก็ต่อเมื่อ การจับคู่แต่งงานมีความสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของครอบครัว ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในปลายอยุธยานั้น แต่งงานลูกไขว้กันไปมาในหมู่ตระกูลใหญ่ด้วยกัน เพื่อสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกัน สืบมาเช่นนี้จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งยิ่งต้องหวงลูกสาวมากขึ้น เพราะไม่อยากให้คนไม่มี “หัวนอนปลายตีน” (จนน่ะครับ) แทรกเข้ามาร่วมในสมบัติของตระกูล โดยไม่มีศักยภาพจะสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าของครอบครัวให้เข้มแข็งหรือขยายขึ้นแต่อย่างไร

ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะที่อยู่ในชุมชนเกษตรดั้งเดิม คู่แต่งงานไม่ทำให้เกิดความแตกต่างด้านสถานะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ จึงไม่มีเหตุจะต้องย้ำเรื่อง “พรหมจรรย์” ของลูกสาว

 

ที่ผมออกจะเชื่อว่ามีความคล้ายคลึงกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ การด้นกลอน อาจารย์ David Holm พูดถึงการด้นกลอนในโอกาสต่างๆ เหมือนเป็นการด้นสด คือคิดเองในทันที แต่เพราะท่านประสงค์จะเขียนบทนำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจคำเรียกขวัญต่างๆ ที่ท่านแปลไว้ในหนังสือ ไม่ได้มุ่งหมายจะบรรยายวรรณศิลป์ของชาวจ้วงโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อเอามาเทียบกับการด้นกลอนของชาวบ้านในเมืองไทยแล้ว ผมจึงเชื่อว่าเป็นการด้นแบบสดปนแห้งหรือแห้งปนสดมากกว่า พูดอีกอย่างก็คือ ด้นกันในกรอบของจารีตทางวรรณกรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

บางส่วนของกลอนเป็นจารีตแท้ๆ เลย คือว่าตาม “ครู” หรือที่เคยได้เรียนรู้มา คนที่เล่นมานานก็อาจเสริมของตนเองเป็นบางคำ ยิ่งเก่งก็เสริมเป็นบาท, เป็นบท และทั้งหมดได้ในภายหลัง วิธีเรียนจากครูในเมืองไทย ทั้งเล่นเพลงและการแสดงอย่างอื่นที่ไม่มีบทตายตัว (เช่น ลิเก) ก็ทำอย่างนี้ คือครูสอนให้ท่องบทหรือกลอนที่ครูแต่งไว้หรือรับสืบทอดมาจากครูของครูอีกที คล่องแล้วก็เริ่มแผลงไปได้เรื่อยจนกลายเป็นครูเพลงหรือครูลิเกเองในภายหลัง

แม้จะด้นสดได้มากเพียงไร ประเพณีการเล่นเพลงก็ยังเหลือร่องรอยของกรอบเก่าเอาไว้เสมอ ที่เห็นโต้งๆ เลยก็เช่นตอนร้องรับของลูกคู่ ซึ่งจะซ้ำเดิมเสมอ (หรือ refrain ในประเพณีกลอนฝรั่ง) บางกรณีอาจไม่ซ้ำคำ แต่ใช้โครงสร้างหลักของประโยคเหมือนเดิม (หรือ parallel ในประเพณีกลอนฝรั่ง) อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์กันให้ละเอียด ผมเดาว่าจะเห็นร่องรอยของกรอบประเพณีในเนื้อหา ซึ่งเหมือนอย่างที่ครูสอน เพียงแต่ใช้คำสำนวนที่ต่างไปเท่านั้น

ในการ “แอ่ว” สาวของภาคเหนือ คำร้องในเพลงที่หนุ่มร้องคลอด้วยพิณในระหว่างเดินทางนั้น ก็ไม่ใช่คำร้องที่ด้นเอาสดๆ ทั้งหมด แต่มีบทตามจารีตอยู่แล้ว แต่หนุ่มที่เก่งก็อาจแผลงออกไปได้มากบ้างน้อยบ้าง

นี่คือการสร้างสรรค์ทางศิลปะแบบหนึ่ง ซึ่งปรากฏทั้งในวรรณกรรม, การแสดง, จิตรกรรมและประติมากรรม และคงศิลปะทุกแขนงของไทยที่มีมาแต่โบราณ แต่การสร้างสรรค์แบบที่อิง “ครู” คือสร้างสิ่งใหม่ขึ้นในกรอบของเก่า กลับไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจในปัจจุบัน เพราะเราหันไปรับการสร้างสรรค์แบบใหม่ของตะวันตก นั่นคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่แหกออกจากกรอบของสิ่งที่มีมาก่อน ความคิดสร้างสรรค์ที่มีต้นกำเนิดในตัวเอง (originality) กลายเป็นบรรทัดฐานเพียงอย่างเดียวหรือเป็นเบอร์หนึ่งในบรรดาบรรทัดฐานทั้งหมดของการสร้างสรรค์ทางศิลปะ

 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า การสร้างสรรค์แบบไทยไม่มีต้นกำเนิดในตัวเองเสียเลยนะครับ ก็มีนั่นแหละ แต่ต้องแทรกอยู่ในกรอบจารีต เป็นอัญมณีที่ซ่อนอยู่ในกองกุมฝอยเก่าๆ ต้องเขี่ยหาเอาเอง

การสร้างสรรค์แบบนี้วางอยู่บนสำนึกและการให้คุณค่าอย่างสูงแก่ความเป็นปัจเจกบุคคล ดังนั้น แม้ในโลกตะวันตก มันก็เป็นศิลปะแบบ “ใหม่” คือเกิดขึ้นเมื่อสำนึกปัจเจกบุคคลนิยมได้อุบัติขึ้นแล้วในศตวรรษสากลที่ 18 เป็นอย่างน้อย (หรืออาจย้อนถอยหลังไปถึงยุคปุณภพในยุโรปก็ได้ แล้วแต่จะนิยามต้นกำเนิดกันตรงไหน) สำนึกแบบนี้ไม่เกิดในส่วนอื่นของโลก การสร้างสรรค์ทางศิลปะ จึงเป็นการสร้างสิ่งใหม่ลงในกรอบเก่าเสมอ

กลอนประเพณีก็เหมือนประเพณีทั้งหลายนะครับ กล่าวคือ มันให้ความปลอดภัยมากกว่าการด้นสดๆ

ครูของผมคนหนึ่งในสหรัฐ เป็นนักภาษาศาสตร์มานุษยวิทยา เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อหนุ่มสาวอเมริกันเลิกยึดถือประเพณีที่พึงปฏิบัติกับคนแปลกหน้าแล้ว ก่อให้เกิดความอึดอัดกันทั้งฝ่ายหนุ่มสาวและฝ่ายผู้สูงวัยกว่า เช่น เป็นประเพณีมาแต่เดิมที่จะทักทายคนแปลกหน้าที่อาจต้องรอรถเมล์ด้วยกัน หรือต้องอยู่ในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ ด้วยการชวนคุยถึงภูมิอากาศ (ซึ่งไม่มีความหมายแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็เห็นหรือรู้สึกอยู่แล้ว) แต่ความหมายกลับไปอยู่ที่ทำลายความอึดอัดระหว่างกัน พอไม่พูดเรื่องภูมิอากาศก็หมดเรื่องจะพูด (ที่ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง) ดังนั้น ต่างจึงเงียบและพยายามให้ไม่เกิดการสื่อสารระหว่างกันในทุกรูปแบบ เช่น ไม่มองกันเลย

ผมฟังแล้วก็เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าประเพณีให้ความปลอดภัยในความสัมพันธ์ แอ่วสาวในภาคเหนือนั้น เท่าที่เคยอ่านมา เขาก็ว่ากันว่าหนุ่มสาวจะคุยกันด้วยเนื้อหาตามประเพณีก่อน หนุ่มถามว่ากินข้าวกับอะไร ถ้าสาวไม่ชอบหนุ่มคนนั้นนักก็ตอบว่ากินกับพริกหรืออาหารอะไรที่เผ็ดๆ เป็นสัญญาณให้หนุ่มรู้ว่า อย่าอยู่นาน เคลื่อนไปข้างหน้าได้แล้ว ประเพณีการโต้ตอบช่วยปกป้องให้เกิดความปลอดภัย เพราะไม่ใช่การลบหลู่ของบุคคลต่อบุคคล

ดังนั้น ผมจึงออกจะเชื่อว่า เมื่อคนแปลกหน้าชาวจ้วงพบกันแล้วต่างขับเพลงสู่กันนั้น น่าจะเริ่มด้วยเพลงที่มีคำตามประเพณีก่อน ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าจะโต้ตอบกันอย่างไร แล้วจะพอแค่นั้นหรือไปต่ออยู่ที่การตัดสินใจของสองฝ่าย โดยไม่มีใครรู้สึกว่าถูกละเมิดด้วยเนื้อหาของเพลง จึงไม่ต้องชกกัน

จารีตประเพณีนั้นมีบทบาทและความสำคัญในความสัมพันธ์ของมนุษย์เสมอ แม้ในท่ามกลางอิทธิพลของปัจเจกชนนิยมก็ตาม แต่จารีตประเพณีไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราทุกคนจึงพึงระวังจารีตประเพณี “ที่ดีงาม” ให้หนัก เพราะจารีตประเพณีไม่เคย “ดีงาม” อย่างยั่งยืน เคยดีงามสมัยหนึ่งก็กลายเป็นต่ำทรามในอีกสมัยหนึ่ง

เมื่อไรที่เราห่วงเรื่อง “ดีงาม” เรากำลังเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่ม, บางชนชั้น, บางสถานภาพ ฯลฯ ซึ่งมักเป็นคนข้างน้อยในสังคมแต่มีอำนาจมาก เป็นผู้กำหนดว่าวัฒนธรรมประเพณีใดที่เปลี่ยนไม่ได้ตลอดไป แน่นอนเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น