นางเอกนิยายสิบสองบาท : หญิงที่พรั่งพร้อมสำหรับการเป็นเมีย

สุภาษิตสอนหญิง-บุพเพสันนิวาส-นิยายสิบสองบาท : หญิงก้าวหน้าแห่งกรุงศรีอยุธยา กับหญิง (ที่ถูกจองจำให้) ล้าหลังแห่งกรุงเทพมหานคร (4)

นางเอกนิยายสิบสองบาท : หญิงที่พรั่งพร้อมสำหรับการเป็นเมีย

จากการศึกษานิยายสิบสองบาทจำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ “อยากบอกเธอว่ารักมากนะ” ของ “ทิวาราตรี”, “ทำไมต้องรักเขา” ของ “ลำดวนดง”, “เจ้าสาวกำมะลอ” ของ “ภาคิน”, “กุหลาบป่า” ของ “ศิลาแดง”, “เหงาใจไม่เหงารัก” ของ “อิงดอย”, “เพลิงพบรัก” ของ “สกุณา”, “รักของฉันอยู่ตรงไหน” ของ “ดอกแก้ว”, “รักเธอหมดหัวใจ” ของ “ใยฝ้ายสายหมอก”, “รักเท่าไรถึงจะพอ” ของ “ระบำฝน” และ “หัวใจพรางตา” ของ “หนึ่งอนงค์” (ทั้งหมดเป็นนิยายที่วางขายบนแผงหนังสือในปี พ.ศ.2559)

พบว่านิยายสิบสองบาททั้งหมดนำเสนอภาพผู้หญิงอยู่สองแบบ

แบบแรกคือ “ภาพเสนอผู้หญิงที่มีความเป็นนางเอก”

และแบบที่สองคือ “ภาพเสนอผู้หญิงที่มีความเป็นนางร้าย”

“ภาพเสนอผู้หญิงที่มีความเป็นนางเอก” พบในนิยายสิบสองบาททั้งสิบเรื่อง พวกเธอล้วนมีบุคลิกคล้ายคลึงราวเป็นคนคนเดียวกัน ต่างกันเพียงชื่อและบริบทแวดล้อมตามท้องเรื่องเท่านั้น

ภาพเสนอผู้หญิงที่มีความเป็นนางเอกดังกล่าวประกอบด้วยอรรถลักษณ์ (seme)

ดังนี้

หนึ่ง มีร่างกายงาม

จะเป็นนางเอกนิยายสิบสองบาทได้ต้องมีร่างกายงดงามสมบูรณ์แบบตามค่านิยมความงามในตัวบท ซึ่งประกอบด้วยความงามสามส่วน ได้แก่

งามใบหน้า ต้องเป็นใบหน้าที่สวยหวาน ตากลมโต

(เจ้าสาวกำมะลอ – เจ้าสัวดำรงมองหน้ากาหลงอย่างพินิจ เด็กคนนี้มองดีๆ สวยเด่น สวยกว่าเพ็ญวิภาอีก ตาโตสวยหวาน และมีความฉลาดในแววตา เสียดายที่เป็นเพียงเด็กสาวกำพร้า ไม่ใช่ลูกผู้รากมากดี แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ น.16-17, รักมากเท่าไหร่ถึงจะพอ – ภานุมองดวงหน้าสวยเกลี้ยงเกลาใส มองดูแล้วหมดจด ยิ่งมองเขายิ่งได้สัมผัสความงดงามผุดผ่อง ความสวยแบบนี้เขาเรียกว่าความสวยแบบพิศกระมัง ยิ่งมองยิ่งพิศยิ่งเห็นความงามกระจ่างใส น.16)

งามรูปร่าง ต้องเป็นรูปร่างที่สูงเพรียวระหง มีทรวดทรง มีส่วนเว้าส่วนโค้งสมส่วน

(รักมากเท่าไหร่ถึงจะพอ – เธอโตเป็นสาวเต็มตัวและสวยกว่าเดิมมาก ทิตาเป็นคนรูปร่างสูงได้รูป ส่วนสัดส่วนเหมาะสมกลมกลึง แต่ส่วนสัดมองเห็นชัดเจน น.14)

และงามผิวพรรณ ต้องเป็นผิวขาว มีความนวลเนียน และสะอาด

(เจ้าสาวกำมะลอ – เอกภพรูดซิปให้หล่อนอย่างแผ่วเบา สายตามองแผ่นหลังขาวเนียนสวยและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลิ่นตัวของหล่อนมันทำให้เขารู้สึกแปลกๆ อย่างบอกไม่ถูก ความจริงหล่อนสวยเด่น สวยหวานน่ารัก แบบฉบับผู้หญิงที่เขาชอบ แต่มันเป็นไปไม่ได้ น.33-34)

สอง มีจิตใจงาม นอกจากกายงามแล้วใจต้องงามด้วย ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หากงามแต่กายใจไม่งามก็มักถูกโยนไปรับบทนางร้าย หรือหากงามแต่ใจกายไม่งามก็มักเป็นได้แค่เพื่อนนางเอก

(รักมากเท่าไรถึงจะพอ – “พี่นุก็คงชอบผู้หญิงสวยๆ สินะคะ” “อ้าว ใครบ้างไม่ชอบผู้หญิงสวย แต่หากว่าจะรักจะชอบผู้หญิงสักคนนะ พี่ไม่ได้ชอบเพราะความสวยเพียงอย่างเดียวหรอก ต้องเรื่องนิสัย จิตใจมาก่อน” น.50)

บางตัวบทระบุนิยาม “ความงามทางใจ” ว่าหมายถึงการเป็นคนดีและนิสัยดี

(รักมากเท่าไรถึงจะพอ – “เด็กคนนี้มีอะไรที่ย่าทึ่งหลายอย่าง” คุณย่าเอ่ยกับภานุในวันหนึ่ง ทำให้ชายหนุ่มยิ้ม แววตาโล่งใจและดีใจ ภานุหัวเราะ “เพราะเขาเป็นเด็กดีย่าก็ชื่นชอบ” “จริงหรือครับ นี่เพิ่งมาอยู่กับคุณย่าเพิ่งไม่กี่วันเองนะครับ” “คนเราพบกันแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถเดาออกได้ว่าเป็นคนดีไม่ดี นิสัยเป็นยังไง คนเรามีวิธีการมองคนอื่น วิธีการดูจิตใจว่าคนไหนดีไม่ดีต่างกัน อย่างย่าก็มีวิธีของย่า น.43-45)

แต่นิยามความเป็นคนดีและนิสัยดีนั้นไม่ได้เสนอไว้อย่างชัดเจน บางตัวบทก็ให้รายละเอียดว่านิสัยดีที่น่าพึงใจตามค่านิยมของตัวละครในนิยายสิบสองบาทคือไม่จุ้นจ้านเรื่องคนอื่น และใส่ใจคอยดูแลปรนนิบัติคนรอบข้าง

(หัวใจพรางตา – โดยปกติชนิกานต์ก็ไม่ใช่คนอยากรู้อยากเห็นหรือชอบเข้ามาจุ้นจ้าน เพราะนั่นไม่ใช่นิสัยของเธอ เพียงแต่ได้ชมความงามภายนอกเท่านี้เธอก็พอใจแล้ว น.25, ชายหนุ่มเหลือบมองอากัปกิริยาของหญิงสาวในทุกอิริยาบถด้วยดวงตามีแววชื่นชมและไม่ได้แปลกใจเลยที่เขาเห็นท่าทางของเธอปฏิบัติต่อเขาและมารดาของเธอในวันนี้ นางณัจฉรายิ้มหน้าบานแฉ่งทันทีที่เจ้านายหนุ่มเอ่ยปากให้นางไปตามสามีมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน น.25-26)

ส่วนตัวผู้เขียนตีความว่าความงามทางใจในนิยายสิบสองบาทหมายถึงความสามารถในการปฏิบัติตามค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมไทยได้ (ค่านิยมไทยปัจจุบันเป็นเช่นไรอาจพิจารณาได้จากค่านิยมหลัก 12 ประการ ที่รัฐบาล คสช. ประกาศไว้)

สาม มีความเย้ายวนทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิงที่วางตัวได้เคร่งครัดตามค่านิยมของสังคมหรือมีอุปนิสัยใจคอเรียบร้อยเป็นกุลสตรีเพียงใด คุณสมบัติสำคัญที่นางเอกนิยายสิบสองบาทขาดไม่ได้คือการมีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ

เช่น “ทิตา” จาก “รักมากเท่าไรถึงจะพอ” เด็กสาววัยเพิ่งพ้นมัธยมที่ด้านหนึ่งซื่อใส ไร้เดียงสา และถือเป็นเด็กดีของสังคม เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ นิสัยใจคอเรียบร้อย แต่อีกด้านกลับมีแรงดึงดูดทางเพศสูง

(ชายหนุ่มยิ้ม มองดวงหน้าแจ่มใสของอีกฝ่ายแล้วก็ต้องผ่อนลมหายใจอีกครั้ง เมื่อร้องเตือนตัวเองในใจ “พระเจ้า…ตา…พี่” ภานุครางในลำคอ มองเรือนร่างงดงามของทิตา เขาหายใจแรง หัวใจของเขาแทบจะวายเพราะดีใจและความงามที่เขามองอยู่เวลานี้ ร่างงามเปล่าเปลือยของทิตาช่างงดงามเหลือเกินพรรณนา ทุกอย่างที่เป็นหญิงสาวมันงามอย่างลงตัว เด่นตั้งแต่ดวงหน้าและลงมายังที่ทรวงอกที่อวบอูมขาวเนียน หน้าท้องแบนราบเนียนละเมียด สะโพกผายกลมกลึง ช่วงขาเรียวยาว ชายหนุ่มรู้สึกมือสั่นเมื่อเอื้อมไปสัมผัสคลึงเคล้ากับทรวงอกนุ่มหยุ่น น.51-52)

สี่รักนวลสงวนตัว แม้จะมีความเย้ายวนทางเพศ แต่ใช่ว่านางเอกนิยายสิบสองบาทจะแสดงออกได้อย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง พวกเธอต้องพยายามปกปิดมันไว้และแสดงออกอย่างไร้เดียงสา เพื่อให้ความเย้ายวนนั้นทรงคุณค่า ดึงดูดใจชายให้กระเหี้ยนกระหายจะได้สัมผัสหรือครอบครองยิ่งขึ้น

เช่น ตัวละคร “วิภา” ใน “เหงาใจไม่เหงารัก” วิภาเป็นนักร้องกลางคืน แต่ตัวบทคาดคั้นให้เธอเป็นหญิงกลางคืนที่รู้จักรักนวลสงวนตัว วิภาหลงรัก “รัฐกุล” หนุ่มหล่อ ฐานะดี หน้าที่การงานมั่นคง แต่เขามีคู่หมั้นแล้ว

เมื่อเขาพยายามสัมผัสร่างกายเธอโดยอ้างความรักเป็นใบเบิกทาง

เธอพยายามหักห้ามใจและปฏิเสธด้วยการตบหน้าเขา

(“ผมจะดูแลคุณเอง” ดูแลแบบไหน ให้เธอเป็นเมียเก็บ เวลาเกิดอารมณ์ทีก็รื้อเธอออกมาบำบัดระบายอารมณ์น่ะหรือ เธอถอนใจ นึกถึงสภาพตัวเองที่ไม่ผิดกับสิ่งของ พอหมดประโยชน์เขาเลิกใช้แล้วก็อาจจะถูกเก็บอยู่ในซอกมืดๆ แคบๆ และเขาก็อาจจะลืมเลือนไปในที่สุด “ภา…” เขาลูบแก้มเธอ แววตาเจิดจรัส อารมณ์คึกคักค่อนข้างจะตื่นเต้นกับอารมณ์ใหม่หรือของเล่นชิ้นใหม่ เธอยืนห่อไหล่ เงยหน้าขึ้น เหลือบตามองเขาแบบกล้าๆ กลัวๆ พอเขายิ้มให้เธอก็ยิ้มบางๆ ตอบเขา วิภาตวัดฝ่ามือ ตบหน้าเขาอีกครั้ง ไม่แรงเท่าครั้งแรกหรอก แต่ก็สามารถหยุดอารมณ์เขาได้ เขาชะงัก เดาอารมณ์ไม่ถูก เขายกฝ่ามือขึ้นลูบแก้มตัวเอง ดวงตากะพริบปริบ ไม่รู้เธอจะเอายังไง น.49-50)

ความสามารถในการเก็บรักษาพรหมจรรย์อันเป็นคุณค่าที่ถูกชูให้สูงเด่นของวิภาได้รับการยืนยันเน้นย้ำจากหัวหน้างานของเธอ

(“เขาไม่ยอมเข้าใจผมเลย” คุณสิริพยักหน้า อมยิ้มน้อยๆ “ก็เหมือนผู้ชายทุกคนนั่นละค่ะ” “อะไรนะ” ชายหนุ่มชะงัก “ที่ตรงนี้ ตรงที่คุณนั่งอยู่นี่ ก่อนหน้านี้มีผู้ชายคนอื่นเคยมานั่งระบายอารมณ์ให้ฉันฟัง เรื่องของภา…” “จีบยากขนาดนั้นเชียวหรือ” “ภาเป็นเด็กดีค่ะ เป็นลูกสาวที่พ่อแม่ควรจะภูมิใจเลยละ เธอรักดี เอาแต่ทำงาน เสร็จงานก็กลับบ้าน ไม่เที่ยวเตร่ ไม่มั่วอบายมุข ไม่เหมือนนักร้องคนอื่น” “มาร้องเพลงได้ยังไง น่าจะไปเป็นครูมากกว่า” น.67-68)

ห้า อ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นางเอกนิยายสิบสองบาทล้วนตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ และคงเอาชีวิตรอดไม่ได้หากไม่มีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยอุ้มพวกเธอไปเป็นเมีย เช่น “ทิตา” จาก “รักมากเท่าไรถึงจะพอ” ตอนพบกับ “ภานุ” นั้นทิตาอยู่ในภาวะอ่อนแอ ไร้ทางออก และอับจนหนทางราวซินเดอเรลลาผู้น่าสงสารที่รอคอยความช่วยเหลือจากเจ้าชาย ฉากนางเอกร้องไห้โดยมีพระเอกปลอบใจเป็นฉากที่พบเห็นได้บ่อยในนิยายสิบสองบาท

(“ตารู้เพราะความบังเอิญ ไปได้ยินพ่อกับแม่ปรึกษากัน ตาได้ยินชัดเจนเลยที่พ่อพูด ท่านบอกว่าหากมีลูกแค่สามคนก็คงสบายเพราะอีกสองปีพี่ๆ ก็จะเรียนจบกันทุกคน” คนเล่าปล่อยน้ำตาออกมาอีกครั้ง ภานุส่งผ้าเช็ดหน้าให้อีกหน “พี่เข้าใจ เช็ดน้ำตาเสีย” เขาบอกเบาๆ “หยุดร้องเสีย เดี๋ยวใครๆ จะหาว่าพี่รังแก” เขาว่ายิ้มๆ ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนความรู้สึกของเธอ “ตาเป็นคนไม่ดีเลยใช่ไหมคะ ที่เอาเรื่องในบ้านมาเล่าให้คนอื่นฟัง” เอ่ยเมื่อรู้สึกดีขึ้น “พี่ไม่ใช่คนอื่นสำหรับทิตา” เขาเอ่ยหนักแน่น “ลืมไปแล้วหรือว่าเคยสมัครเป็นน้องสาวพี่น่ะ” ประโยคนี้ทำให้ทิตาเงยหน้าขึ้นมอง แววตาจริงใจคู่นั้นทำให้หญิงสาวอบอุ่นมากมาย น.21-22)

นอกจากให้กำลังใจทิตาแล้วภานุยังช่วยหางานให้และแนะนำให้เธอไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยเปิด “ตาลืมไปแล้วหรือว่าเราสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ มหาวิทยาลัยเปิดไง” น.22)

ไม่เพียงเท่านั้น ความช่วยเหลืออันใหญ่โตชิ้นสุดท้ายที่ภานุมอบให้ทิตาคือการแต่งงาน

(“เห็นว่าจะพายายตาไปต่างประเทศด้วย” “ไปทำไมคะ” “ภานุเขาจะไปดูงานที่ต่างประเทศสองปี ไปในนามบริษัทเห็นได้ชัดเลยนะว่าอาชีพการงานเขาก้าวหน้า” มารดาเอ่ยแล้วถอนใจโล่งอก “แม่สบายใจแล้วสำหรับยายตา” “พ่อก็ดีใจที่ยายตาโชคดี” น.75) การได้แต่งงานกับชายฐานะดี หน้าที่การงานมั่นคง ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของทิตา (แต่เธอจะถือว่าจุมพิตนี้คือการเปลี่ยนแปลงชีวิต เธอจะจดจำมันเอาไว้พร้อมๆ กับมีเขาอยู่ในหัวใจของเธอไปจนสิ้นลมหายใจ น.80)

หรือ “ศศิภา” จาก “รักเธอหมดหัวใจ” หญิงสาวผู้มีปัญหาชีวิตหนัก วันๆ เอาแต่เหม่อลอยและทำงานผิดพลาด จน “สหรัฐ” หัวหน้างานของเธอเรียกไปตักเตือน ต่อมาสหรัฐรู้ว่าเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยพาไปพบจิตแพทย์ จากนั้นความรักก็ก่อตัวขึ้นขณะอาการป่วยค่อยๆ เลือนหายไป

(ใบหน้าที่เคยซีดเผือด บัดนี้มีชีวิตชีวาเพิ่มเติมมากขึ้น เขายิ้มด้วยความพอใจที่จะเห็นชีวิตหล่อนดีขึ้นและสดใสมากกว่านี้ ชายหนุ่มคุกเข่าลงข้างเตียงของหญิงสาว ก่อนจะจุมพิตที่แก้มเนียนนั้นเบาๆ น.52)

แม้แต่นางเอกที่มีฐานะดี มีต้นทุนทางสังคมสูง ก็ไม่สามารถพาชีวิตผ่านวิกฤตได้ ต้องพึ่งพาผู้ชาย เช่น “ยลรดา” จากเรื่อง “เพลิงพบรัก” เศรษฐินีที่ถูกคนใกล้ตัววางแผนฆาตกรรมชิงมรดก จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ต้องหนีกระเซอะกระเซิงไปอย่างไร้จุดหมาย กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจาก “สุจิตร” ช่างภาพหนุ่มที่มีฐานะด้อยกว่า

(“ฟื้นแล้วหรือ” มีเสียงทุ้มดังขึ้น ยลรดาสะดุ้งสุดตัว รีบหันไปมองตามที่มาของเสียง เธอสบตาเข้มวับที่จ้องมองมาด้วยความเคร่งเครียดจริงจัง เขาเป็นชายหนุ่มที่หน้าตาดีมาก จมูกของเขาโด่งเป็นสัน ปากได้รูปสวย ผมดกสนิทนั้นหยักศกนิดๆ ตัดได้รูปกับใบหน้าคมสันสะดุดตา…เขาเดินเข้ามาใกล้เธอ เธอรีบจัดเสื้อผ้าของตัวเองให้เรียบร้อยด้วยไม่ทราบว่าเขาเป็นใครกันแน่ “ตอนนี้รู้สึกเป็นยังไงบ้าง” เขาถามเธอ แต่เธอยังไม่ทันได้ตอบ ท้องของเธอก็ร้องเสียแล้ว เธอขายหน้าเขาที่สุด อีกฝ่ายเลิกคิ้วช้าๆ เขาคงรู้โดยไม่ต้องบอกว่าเธอกำลังหิวจัด “หิวสินะ หน้าตามอมแมมเชียวนี่ คงอดโซมาหลายวันสิท่า น.25-26)

นอกจากช่วยชีวิตยลรดาแล้ว สุจิตรยังคอยปลอบและให้กำลังใจยามเธออ่อนแอ

(หญิงสาวเริ่มสะอื้นไห้ในอ้อมแขนของเขา เหนี่ยวรั้งเขาให้พัลวัน อย่างยังไม่หายตื่นตกใจ ชายหนุ่มกอดปลอบหญิงสาวโดยอัตโนมัติ ลูบหลังเบาๆ อย่างอ่อนโยน พึมพำคำพูดปลอบโยนให้เธอหายจากอาการตื่นตระหนกเนื่องจากฝันร้าย “มันเป็นเพียงแค่ความฝัน นิ่งเสียนะ ไม่มีอะไรแล้ว” ยลรดาช้อนสายตามองเขาด้วยดวงตาที่ปริ่มไปด้วยน้ำตา น.57)

จนเธอฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ และทั้งคู่ได้แต่งงานกันในที่สุด

อรรถลักษณ์ความเป็นนางเอกดังกล่าวร่วมประกอบสร้างภาพเสนอผู้หญิงที่พร้อมจะเป็นเมียสุดปรารถนาในสังคมชายเป็นใหญ่

รูปกายที่งามและดึงดูดทางเพศคือคุณสมบัติที่ตอบสนองความพึงใจของชายเป็นเบื้องต้น

การรักนวลสงวนตัวคือคุณสมบัติที่ประกันพรหมจรรย์ไว้ให้ชายได้ทำลายเป็นคนแรก

และยังประกันต่อไปอีกว่าหญิงผู้นั้นจะเป็นทรัพย์สินของชายผู้นั้นเพียงผู้เดียวตลอดไป

ใจที่งามช่วยประกันว่าหญิงผู้นั้นจะเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย สงบเสงี่ยมเจียมตัว เป็นเด็กดีของสังคม และน่าจะเป็นเด็กดีของสามีด้วย คงยากจะลุกขึ้นมาพยศหรือสร้างปัญหาใดๆ ชะตากรรมเยี่ยงซินเดอเรลล่าคือใบเบิกทางให้ชายฉวยโอกาสเล่นบทอัศวินขี่ม้าขาวมาพาเธอเหล่านั้นไปเป็นเมียโดยง่าย

ขณะเดียวกันภาวะยืนด้วยขาตัวเองไม่ได้ก็คอยกดพวกเธอไว้ ไม่ให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรีใดๆ เพราะไร้อำนาจต่อรองอย่างสิ้นเชิง

เช่นนี้ประโยชน์ย่อมตกแก่ชายแต่ถ่ายเดียว