เสรีภาพยุคอินเตอร์เน็ต ใน “วันที่ห้องแห่งความลับถูกเปิด”

ในเรื่องเสรีภาพ (On Liberty;1859) ของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) เป็นหนังสือที่เป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายเรื่องเสรีภาพ

แม้ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสารครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นมามากแล้วนับแต่นั้น อินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนโฉมโลกใบนี้และสร้างประชาธิปไตยให้กับความเห็นต่างๆ ขยายขอบเขตที่สาระใดๆ จะเข้าถึงผู้คนอย่างมหาศาล และเปิดโลกทัศน์ให้ผู้คนได้เข้าถึงแนวคิดและแนวทางใหม่ๆ ในการปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะทางอีเมล เว็บบล็อก ห้องสนทนา เฟซบุ๊ก เป็นต้น

แทบทุกคนที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้และมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็สามารถเข้าถึงผู้อ่าน ผู้ชมจำนวนมหาศาลได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางมาคอยควบคุมสิ่งที่พวกเขาพูด

อนาคตของเสรีภาพในการพูดจึงยึดโยงอยู่กับแนวทางที่รัฐบาลอนุญาตให้ปัจเจกชนทั้งหลายได้ใช้อินเตอร์เน็ต รัฐบาลหรือใครอื่นใดจะมีความสามารถจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด จึงเป็นคำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบต่อไป

ในบทความชิ้นนี้จะมุ่งนำเสนอ เสรีภาพยุคอินเตอร์เน็ต ในเรื่องสั้น ในวันที่ห้องแห่งความลับถูกเปิด ของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2559 จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยจะวิเคราะห์และแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ความเป็นส่วนตัวและการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล

เสรีภาพในการพูดและแสดงออก

และเทคโนโลยีกับความสงบสุขของสังคม

เรื่องสั้นในวันที่ห้องแห่งความลับถูกเปิด ของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร เน้นโครงเรื่อง (Plot) ให้ผู้อ่านเกิดคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการเขียนที่เน้นไปที่การคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสังคม

ที่สุดท้ายเกิดเป็นความขัดแย้งภายในใจของตัวละครเอง ผ่านผู้เล่าเรื่องที่เป็นตัวละครหลัก (Character-narrator)

(1)นพดลตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าห้องแห่งความลับที่สร้างไว้ถูกแฮ็ก (Hack) กลายเป็นคำถามถึงเพื่อนในกลุ่มว่าควรลบทิ้งหรือไม่ และเพื่อความปลอดภัย สิงหาจึงตัดสินใจลบ เพราะความกลัวและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

ประเด็นดังกล่าว เรย์มอนด์ แวกส์ (Raymond Wacks) กล่าวถึงมุมมองความเป็นส่วนตัว ซึ่งประกอบด้วย การเข้าถึงได้อย่างมีขีดจำกัด (limited accessibility) เกิดจากการรวมสามองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เป็นอิสระจากกัน ได้แก่

ความเป็นความลับ (secrecy) หรือขีดจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

ความเป็นนิรนาม (anonymity) หรือขีดจำกัดในความสนใจต่อตัวบุคคล

และความสันโดษ (solitude) หรือขีดจำกัดในการเข้าถึงตัวบุคคลในทางกายภาพ

จะเห็นได้ว่า ตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นนี้ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว และเมื่อห้องแห่งความลับต่างๆ ถูกเปิดอ้าซ่า ตัวละครในเรื่องสั้นก็เข้าไปดูหรือสำรวจห้องลับของเพื่อนและคนอื่นๆ แล้ววิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมอันเป็นความลับนั้น

แรกๆ อาจรู้สึกขำและมองว่าเป็นเรื่องสนุก แต่ความลับต้องเป็นความลับ มันจึงควรมีขีดจำกัดในการเข้าถึงหรือไม่

กรณีดังกล่าว การสูญเสียความเป็นส่วนตัวของบุคคลหนึ่ง จึงเกิดเป็นลูกโซ่ เมื่อบุคคลนั้นๆ ให้ความสนใจข้อมูลของบุคคลอื่น กลายเป็นการแพร่กระจายของข้อมูลส่วนบุคคลไปโดยปริยาย

สุดท้าย การตกเป็นเป้าความสนใจทั้งในระดับปัจเจกและสังคม จึงเกิดเป็นการบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ได้รับเชิญหรือได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรรังเกียจและควรได้รับการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

(2)การที่ห้องแห่งความลับของตัวละครถูกเปิด ตัวละครนั้นก็เข้าไปสำรวจห้องแห่งความลับของบุคคลอื่น และบุคคลอื่นก็เข้ามายังห้องแห่งความลับของตนได้เช่นกัน ส่งผลต่อนพดลเมื่อแฟนสาวบอกเลิกด้วยเหตุผลไม่อยากคบคนบ้าการเมือง

แม้ว่าประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามได้ แต่อาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยากเกินจะหลีกเลี่ยง

กรณีดังกล่าว โอลิเวอร์ คามม์ (Oliver Kamm) กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า “แม้เสรีภาพในการพูดเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องถ่วงดุลกับการหลีกเลี่ยงการก่อความขุ่นเคืองใจนั้น เป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดคำถาม เพราะแนวคิดเช่นนี้ทึกทักไปแล้วว่า ความขุ่นเคืองใจเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง จริงอยู่ว่าเสรีภาพในการพูดสร้างความเจ็บปวดได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร”

ขยายความได้ว่า การเชื่อในสิทธิและเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยของตัวละครในเรื่องเสรีภาพในการพูดไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันสร้างความเจ็บปวด เช่น ความสัมพันธ์รักล่ม ความขัดแย้งและบาดหมางระหว่างญาติมิตร หรือครอบครัวแตกแยก เพราะความไม่เข้าใจหรือความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

ดังนั้น เสรีภาพในการพูดจะเป็นเสรีภาพที่แท้จริงก็ต่อเมื่อใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบ และหากมีใครจงใจสร้างความขุ่นเคืองใจให้ปัจเจกชนหรือคนกลุ่มอื่น คนเหล่านั้นก็ไม่ควรหลบภัยอยู่หลังเกราะกำบัง พวกเขาควรเสนอมันอย่างสุภาพและเคารพประเด็นที่เป็นความอ่อนไหวของผู้อื่นนั่นเอง

แต่ดูเหมือนประเด็นดังกล่าวอาจเกิดข้อถกเถียงตามมา เพราะคุณค่าหลักของเสรีภาพในการพูดคือการสนับสนุนให้เกิดการอภิปรายประเภทที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการทำให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดี การที่จะตัดสินใจได้ดีนั้น ประชาชนจำต้องปะทะสังสรรค์กับแนวคิดที่หลากหลาย

และทางที่ดีควรต้องได้ยินมุมมองที่คัดง้างจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากบทสนทนาระหว่างนพดลกับแฟนสาว (น.108-110)

(3)การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แม้จะมองว่าเป็นเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เมื่อความลับในห้องลับถูกเปิดเผยอย่างในเรื่องสั้นนี้ จึงเกิดเป็นความกลัวและกังวล เมื่อมีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทร.มาสอบถามนพดล ทำให้ชีวิตของเขาขาดปกติสุข เมื่อกลุ่มเพื่อนและคนอื่นถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ

เรื่องสั้น ในวันที่ห้องแห่งความลับถูกเปิด ของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร นอกจากจะเปิดเผยข้อมูลและความคิดเห็นส่วนบุคคลแล้ว ยังเปิดเผยตัวตนของตัวละครบางตัวที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อน ซึ่งเป็นสมาชิกในห้องลับเดียวกัน ส่งผลให้เกิดเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจของนพดลถึงความซับซ้อนที่ถูกซ่อนไว้อีกชั้นหนึ่ง จนกระทบความรู้สึกให้ไม่อยากแสดงความคิดเห็นอย่างซื่อตรงหรือแตกต่างในพื้นที่สาธารณะ

ความกลัวและความหวาดระแวง ทั้งจากการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล การละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือการถูกควบคุมตัวและปรับทัศนคติโดยรัฐบาลอันปรากฏในเรื่องสั้นนี้ที่ส่งผลถึงคุณค่าและความหมายของสิทธิและเสรีภาพในการพูดและแสดงออกในยุคอินเตอร์เน็ต

สุดท้ายตัวละครกลับเลือกที่จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีก ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลและการกล่าวอ้างว่ามุมมองทางการเมืองของเราเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ขึ้นอยู่กับปทัสถานบางลักษณะที่ห้ามไต่ถามถึงมุมมองดังกล่าวหรือห้ามรายงานมุมมองดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต

ซึ่งเอาเข้าจริง ในทางปฏิบัติ เราก็สามารถกล่าวอ้างปทัสถานดังกล่าว และยืนยันว่าเราเก็บมุมมองไว้กับตัวเองโดยไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ได้

แต่ “เมื่อไม่เหลือพื้นที่ให้ถกเถียงอีกต่อไป สังคมจึงสงบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ว่างเปล่าเหลือเกิน” (น.113)

จากข้อความดังกล่าว เมื่ออัตราการพัฒนาของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตามมาคือการคุกคามชีวิตส่วนตัวรูปแบบใหม่ แต่ความเป็นส่วนตัวก็เป็นคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยที่สำคัญเกินกว่าจะถูกทำลายโดยไม่มีการต่อสู้

ด้วยเหตุนี้ การเสื่อมถอยของความเป็นส่วนตัวน่าจะเป็นผลพวงมาจากการเพิกเฉย ความไม่ใส่ใจของตัวละครกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เช่น “ชายหนุ่มได้แต่สงสัยว่าตัวเองและคนอื่นคงไม่มีวันได้แสดงความคิดเห็นอย่างซื่อตรง… หวั่นระแวงอยู่ตลอดว่า วันหนึ่งอาจเกิดเหตุการณ์อย่างคราวนี้ขึ้นอีก และความกลัวเดียวกันนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกปฏิบัติแบบเดียวกัน” (น.113)

ซึ่ง ปองวุฒิ รุจิระชาคร ได้สะท้อนภาพชีวิตและสังคม (คืนความสุข) ปัจจุบันผ่านเรื่องสั้นนี้ด้วยสำนึกความเป็นพลเมืองที่ควรเคารพ คำนึงถึง ปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของทุกคนได้อย่างน่าสนใจ