ลูกคนเดียวในแผ่นดินใหญ่ | ‘ปักกิ่งไม่อิงนิยาย’

ปักกิ่งปลายเดือนสิงหาคมถือเป็นช่วงที่อากาศกำลังสบาย ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป และเป็นเดือนที่เด็กๆในประเทศจีนต่างร่าเริงแจ่มใส เพราะเป็นช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ร่วง ในหน่วยภาษาไทยประจำสถานีวิทยุนานาชาติจีนที่ผมทำงานอยู่นั้น จึงมีบ้างบางวันที่เพื่อนๆพาลูกมาเล่นที่ทำงาน เด็กน้อยผิวขาวหน้าใสทั้งหญิงและชายต่างขวบวัย ซุกซน สนุกสนาน ดูโน่นดูนี่ คุณพ่อคุณแม่ก็ให้เข้ามาทักทายคารวะผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมของชาวจีน ส่วนผมก็รับไหว้ตามแบบฉบับของไทยเรา

เมื่อพูดคุยถามไถ่เพื่อนแต่ละคนพบว่า ทุกคนล้วนมีลูกโทนหรือลูกคนเดียวด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ ไม่เกี่ยงงอน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่อยากจะได้แต่ลูกชายไว้สืบสกุล  ใช่ครับ… พวกเขาต้องปฏิบัติตามนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว นโยบายที่กำหนดให้สามีภรรยามีลูกได้เพียง 1 คน เพราะถ้าขืนมีมากกว่านี้ พื้นที่ใช้สอย ทรัพยากรธรรมชาติ และอาหารการกินคงไม่เพียงพอเลี้ยงคนทั้งประเทศ

แต่ถ้าใครต้องการจะมีลูกมากกว่า 1 คน รัฐยังเปิดโอกาสแต่เมื่อคลอดลูกคนที่  2 ออกมาแล้ว จะต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐเป็นตัวเลขหลักแสนทีเดียว อย่าว่าแต่กรรมกรคนมีรายได้น้อยเลย มนุษย์เงินเดือนเรียนจบปริญญาทำงานนั่งโต๊ะก็รับภาระนี้ไม่ไหว และถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจะถูกลงโทษด้วยการให้ออกจากงานทั้งสามีภรรยา แล้วจะเอาอะไรกินกันละทีนี้ ชาวจีนทุกคนเลยต้องก้มหน้ายอมรับนโยบายนี้ไปโดยปริยาย และเลี้ยงลูกโทนของพวกเขาดั่งแก้วตาดวงใจ

ภาพชีวิตสามคนพ่อแม่ลูกจึงเป็นสิ่งที่ผมพบเห็นเป็นประจำในกรุงปักกิ่งและในเขตเมืองทั่วประเทศ พ่อแม่เดินขนาบข้างจูงมือลูก หรือภาพพ่อเข็นรถเข็นส่วนแม่ป้อนข้าวลูกเล็กตามสวนสาธารณะมีให้เห็นเสมอ  ส่วนถ้าใครท้องเดียวได้ฝาแฝดถือเป็นโชคมหาศาล ท้องครั้งเดียวได้ลูกมากกว่าหนึ่งคนและรัฐก็ไม่ปรับแต่อย่างใดเพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัย ส่วนกรณีให้หมอช่วยทำให้มีลูกแฝดนั้นทำไม่ได้เด็ดขาด   ดังนั้น การมีลูกจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชาวจีนสมัยนี้

เคยมีคำกล่าวว่า ถ้าใครมาเมืองจีนและได้พบเห็นผู้หญิงอุ้มท้องจะถือว่าโชคดีเหมือนได้ลาภ เพราะว่าเขามีลูกได้เพียงคนเดียว จึงไม่ค่อยได้พบเห็นคนท้องกันบ่อยนัก แต่ความเชื่ออันนี้ผมขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง จำได้ว่า วันแรกที่ผมมาเหยียบปักกิ่งผมเห็นผู้หญิงท้องแก่เดินสวนในที่ทำงาน  ตามท้องถนน  และยืนคอยรถประจำทางอย่างน้อย 3 คนแล้ว

คุณหลี่มี่ เพื่อนร่วมงานในหน่วยภาษาไทยช่วยเฉลยข้อกังขาให้ ในมื้อกลางวันที่โรงอาหารหลังจากที่เราตรวจข่าวและบทรายงานเสร็จในช่วงเช้า

“ปีนี้เป็นปีหมูค่ะ เขาเชื่อกันว่าเป็นปีหมูทอง เด็กที่เกิดปีนี้จะมั่งคั่งบริบูรณ์เลยตั้งใจจะมีลูกกัน” คุณหลี่มี่ว่า เธออายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมอาจจะมากกว่าไม่กี่ปี และมีลูกชายอายุ 5 ขวบเท่ากันกับลูกชายคนโตของผม เราจึงคุยกันถูกคอเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว คุณหลี่มี่พูดต่อว่า

“ชาวจีนเราจะดูด้วยว่า จะคลอดลูกปีไหนดี ปีนี้เป็นปีอะไร ดีไหม อย่างปีมังกรทองนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย หมอทำคลอดทำงานตลอดทั้งปี เราจะดูตามปฏิทินจีนนะค่ะ”

“แต่ที่บ้านผมโหรเขาทายว่า ปีนี้เป็นปีหมูป่านะครับ ค่อนข้างดุ” ผมว่า คุณหลี่มองผมและว่า “คงจะคนละตำรามั่งคะ”

“ใช่ครับ   คือที่บ้านผมเขามักจะเอาไปโยงกับเรื่องการเมืองอยู่เรื่อยเลยชอบทายออกมาแบบนี้” ผมแก้ตัวและถามต่อว่า แล้วอย่างรุ่นของคุณหลี่มี่ก็เป็นลูกคนเดียวเหมือนกันหรือเปล่า

เธอปฏิเสธและว่า รุ่นของเธอซึ่งเป็นรุ่นของคนมีอายุ30กว่าขึ้นไปยังมีพี่น้องร่วมท้อง สมัยนั้นรัฐยังไม่ออกนโยบายนี้มาใช้กับประชาชน  รุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเธอสามารถมีลูกได้ตามต้องการ หรือแล้วแต่กำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว แต่พอมาถึงรุ่นของเธอต้องมีลูกได้คนเดียวเท่านั้น

“สมัยก่อนเวลามีงานตรุษจีนสารทจีนมารวมญาติกันนี้ คนเยอะมากค่ะ พี่เราน้องเรา ลูกพี่ลูกน้อง เล่นกันเต็มบ้านไปหมด แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ลูกพี่ลูกน้อง ไม่มีพี่น้อง” เธอว่าเรียบๆ และเล่าต่อว่า

อย่างรุ่นน้องๆหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียบจบจากมหาวิทยาลัยมาไม่กี่ปีและเข้ามาทำงาน เด็กรุ่นนี้เป็นลูกโทนกันทั้งนั้น  ส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงดูแบบเอาอกเอาใจ ทะนุถนอมรักใคร่ ส่งให้เรียนสูงๆ บางคนได้ไปเรียนเมืองนอก หลายคนต่อปริญญาโท ถ้าสอบเข้าเองไม่ได้ก็เรียนเอกชน หรือเรียนจบปริญญาก็มีรถขับ พ่อแม่ซื้อให้เพราะถือว่าเป็นลูกคนเดียว

เด็กๆชาวจีนสมัยนี้มักเป็นประเภทเอาแต่ใจ คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด และจะไม่ค่อยยอมกัน  อย่างลูกของตัวเองเวลาเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนต่างคนต่างไม่ยอมกัน ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่มีพี่น้องหลายคน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ทั้งเสื้อผ้าและของเล่น  บางคนได้เรียนสูง บางคนไม่ได้เรียนต้องออกมาช่วยงานที่บ้าน คนที่ได้เรียนสูงมักจะเป็นลูกชาย

เธอหยุดเล่า หยิบถ้วยน้ำต้มถั่วแดงขึ้นมาดื่มและพูดต่อว่า เด็กรุ่นหลังนี่จะยุ่งค่ะ เวลาแต่งงานกันไปต่างคนเป็นลูกโทนกันทั้งคู่ ไม่รู้จะอยู่กันยืดหรือเปล่า  และยังต้องรับภาระดูแลทั้งพ่อแม่ตัวเองและพ่อแม่ของอีกฝ่ายด้วย ตามปกติหลังแต่งงานตามธรรมเนียมจีนฝ่ายหญิง จะต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชาย แต่สมัยนี้แล้วแต่จะตกลงกัน บางครอบครัวแยกไปอยู่กันเอง มันมีหลายปัจจัยนะค่ะ

“เอ… แล้วอย่างวันตรุษจีนนี่ ถ้าพ่อแม่อยู่ไกลกัน จะไปบ้านของฝ่ายไหนละครับ” ผมถามต่อ

“เรื่องนี้ก็ยุ่งเหมือนกันค่ะ ถ้าอยู่ในเมืองเดียวกันไปหาได้ทั้ง 2 บ้าน หรือถ้าอยู่กับอีกฝ่าย ตรุษจีนจะไปเยี่ยมอีกบ้านก็ไม่ลำบาก   แต่ถ้าอยู่กันเองและพ่อแม่ของแต่ละคนอยู่กันคนละเมืองนี่สิ ไม่รู้จะไปบ้านไหนดี แล้วแต่จะตกลงกันอีกละนะค่ะ” เธอว่าและพูดต่อ “มีลูกคนเดียวก็อย่างนี้แหละ”

เราเดินนำถาดอาหารออกไปเก็บที่ชั้นวางและเดินออกมาจากโรงอาหาร เพื่อกลับเข้าไปในที่ทำงาน ยามเที่ยงวันนี้มีแดดอ่อนลมพัดเอื่อยกำลังสบาย ชาวจีนหลายๆคนที่มีที่พักอยู่ใกล้ที่ทำงานจะนิยมกลับบ้าน บางคนทานกลางวันที่โรงอาการเสร็จกลับไปงีบสักตื่นค่อยกลับมาทำงานต่อ บางคนกลับไปทานกลางวันและงีบที่บ้านแล้วจึงกลับมาทำงาน

สำหรับคุณหลี่มี่บ้านของเธออยู่ไม่ไกลนัก แต่เดี๋ยวเธอจะต้องอ่านข่าวและบทรายงานรอบเช้าที่ตรวจเอาไว้จึงไม่สามารถกลับไปได้ ส่วนผมไม่เคยชินกับวัฒนธรรมแบบนี้ และขี้เกียจเดินตากแดดกลับไปนอนกลางวันก็เดินกลับเข้าที่ทำงานตามแบบบ้านเรา

“คุณหลี่ครับ” ผมถามต่อ “นโยบายลูกคนเดียวนี้ใช้กับจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้นหรือใช้กับทั้งหมดอย่างในฮ่องกง ทิเบต และเขตปกครองตนเองอื่นๆละ”

“ใช้เฉพาะกับชาวฮั่นในแผ่นดินใหญ่ค่ะ เขตอื่นหรือชนชาติส่วนน้อยเขามีพลเมืองไม่มาก พวกเขามีลูกได้หลายคน แต่ส่วนใหญ่พวกชนชาติส่วนน้อยจะอยู่ในชนบทห่างไกลอย่าง ทิเบต  มองโกล จ้างกวางสี  พวกนี้ฐานะไม่ค่อยดี  ไม่ค่อยได้ศึกษา แต่มีลูกมากได้” เธอพูดน้ำเสียงเหมือนตัดพ้อ

“งั้นชาวฮั่นก็เสียเปรียบสิครับ” ผมว่า

“ไม่หรอกคะ เพราะประชากรเรามีมากกว่าชนชาติอื่นหลายเท่า”

“แล้วมีไหมครับที่ผู้ชายฮั่นแอบไปมีลูกคนที่สองคนที่สามกับหญิงชนชาติส่วนน้อย”

“อันนี้คงยอมไม่ได้ค่ะ อย่าว่าแต่รัฐเลย คนที่บ้านก็ไม่ยอมเหมือนกัน” เธอสวนขึ้นมาทันควัน   ผมได้แต่ยิ้มและเปลี่ยนคำถาม

“คุณหลี่คงตามใจลูกน่าดูนะครับ” ผมว่า

“ค่ะ แหม   ลูกใครๆก็รัก ยิ่งมีอยู่คนเดียวด้วย” เธอว่า

ผมไม่ตอบ แต่ในใจกลับคิดไปว่า แล้วถ้าอยากมีลูกมากกว่า 1 คน โดยไม่ต้องเสียค่าปรับให้รัฐจะทำได้ไหมหนอ

 

เย็นวันถัดมาผมได้รับเชิญจากคุณเชี่ยนสือ รองหัวหน้าหน่วยภาษาไทยไปทานข้าวมื้อเย็นที่ชั้น 2 ของโรงอาหาร บนนั้นจะเป็นภัตตาคารสำหรับจัดเลี้ยง และห้องอาหารแยกเป็นห้องๆ คุณเชี่ยนสือบอกว่า วันนี้จะมีเพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมมาพบ เป็นคนกวางตุ้งบ้านเดียวกัน พอดีเขามาติดต่อธุรกิจที่ปักกิ่งเลยเชิญมาทานข้าว และเชิญผมไปด้วย

“เชิญอาจารย์ไปเป็นเกียรติด้วยนะค่ะ” คุณเชี่ยนสือว่ายิ้มๆ

“เป็นเกียรติอะไรกัน ยินดีครับ ขอบคุณมาก” ผมตอบกลับไป นึกในใจว่า ผมไปก็พูดกับเขาไม่รู้เรื่อง ได้แต่ไปนั่งยิ้ม   แต่เมื่อเพื่อนอุตส่าห์เชิญก็ยินดี เพราะกลับบ้านไปก็อยู่คนเดียว ถ้าไม่ทานอาหารที่โรงอาหารก็หนีไม่พ้นข้าวไข่เจียว ข้าวต้มเกี้ยวหรือมาม่า สู้ไปนั่งเปิดหูเปิดตาและทานอาหารจีนอร่อยๆดีกว่า

เป็นอันว่าถึงเวลาหกโมงเย็นผมกับคุณเชี่ยนสือเดินไปที่โรงอาหารและขึ้นไปบนชั้น 2 คุณเชี่ยนสือแนะนำเพื่อนเก่าของเธอให้รู้จัก หนุ่มใหญ่ ผิวขาว รูปร่างพอดีๆไม่อ้วนไม่ผอม ท่าทางสุภาพ ลุกขึ้นและเดินยิ้มเข้ามาหา เราจับมือทักทายกัน ผมกล่าวสวัสดีเป็นภาษาจีน ชายหนุ่มกล่าวตอบ แต่เป็นคนละคำกับคำว่า หนี่ห่าว ซึ่งแปลว่า สวัสดี ที่ผมรู้จัก

“ภาษากวางตุ้งนะคะอาจารย์” คุณเชี่ยนสืออธิบาย และบอกว่า เพื่อนของเธอชื่อ เฉินจี้กวน เป็นชาวกวางตุ้ง อาศัยอยู่ที่กวางโจว ห่างจากปักกิ่งประมาณสองพันกิโลเมตร คุณเฉินมากับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง เป็นลูกน้องพามาช่วยติดต่องาน และเขาเข้ามาทักทายผมตามธรรมเนียม

ขณะนั่งทานอาหาร เราคุยกันสัพเพเหระ คุณเฉินทำธุรกิจนายหน้ารับจองโรงแรมทั่วประเทศจีน มีบริษัทในเครือหลายสาขา เขาสนใจที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ เขาบอกว่า เขาเคยไปประเทศแถวอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ

ผมถามเขาผ่านคุณเชี่ยนสือว่า แล้วไม่ไปลงทุนในไทยบ้างหรือ คุณเฉินบอกว่า สนใจแต่คงจะเป็นอีกสักปีหรือสองปี ตอนนี้จะไปที่มาเลเซียก่อน เพราะเมืองไทยตอนนี้การเมืองยังไม่นิ่ง  ผมฟังแล้วได้แต่ยิ้มๆ ไม่อยากจะพูดอะไรต่อ แต่แล้วคุณเฉินก็พูดขึ้น และคุณเชี่ยนสือช่วยแปลให้ว่า

“เขาถามว่า อาจารย์มีลูกกี่คน แล้วมาอยู่ที่นี่คิดถึงลูกไหม เขามีลูกสาวอายุ 6 ขวบติดพ่อมาก เดินทางทีไรคิดถึงทุกที” ผมยิ้มและตอบไปว่า

“ผมมีลูกสองคน ผู้ชาย 5 ขวบ คนเล็กผู้หญิงขวบกว่า กำลังน่ารัก คิดถึงทุกวันเลย” ผมหยุดนิดนึงและถามเขาไปว่า “ลูกสาวยังเล็ก คงคิดถึงน่าดูสิครับ”

แต่คุณเฉินกลับยิ้มและตบมือ ทำท่าดีใจและมองมาทางผม เขาพูดเป็นภาษากวางตุ้งกับคุณเชี่ยนสือ ขณะที่ผมนึกอยู่ในใจว่า เอ…เขาดีใจเรื่องอะไร

“อาจารย์ค่ะ เขาบอกว่า เหมือนกันเลย ลูกชายคนโตกับลูกสาวคนเล็ก อาจารย์ก็เก่งเหมือนเขาอย่างละหนึ่งคนพอดี”

“อะไรนะครับ” ผมว่า

“ก็ลูกไงค่ะ” เธอว่าและพูดต่อ “เฉินมีลูกชายคนโต อายุ 12 ปี เขาถือโชคเลข 6 นะค่ะ มีลูกห่างกัน 6 ปี คือเลข 6 เป็นเลขดี เลขที่ชาวจีนชอบ” เธอว่า

ผมนึกสงสัยจึงถามไปว่า “เขาเป็นชาวฮั่นไม่ใช่หรือครับ หรือว่าเขายอมเสียค่าปรับให้รัฐ”

“เออ… คือ” คุณเชี่ยนสือท่าทางลังเลก่อนตอบว่า “ลูกคนแรกของเขาเกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนลูกสาวคนเล็กไปเกิดต่างประเทศนะค่ะ ก็ได้ถือ 2 สัญชาติ” เธอว่า ผมร้องอ๋อ   พยักหน้าและหันไปยิ้มให้กับนักธุรกิจชาวกวางตุ้ง เขายิ้มตอบ ท่าทางภูมิใจ

“เขาทำกันอย่างนี้หรือครับ” ผมหันไปทางคุณเชี่ยนสือ

“คนรวยนี่ค่ะอาจารย์ ไปคลอดลูกเมืองนอกขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก” คุณเชี่ยนสือว่าเรียบๆ