คนดี คนอื่นและคนนอก กับการตั้งคำถามถึงความเชื่อต่อสังคม ในเรื่องสั้นของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

สิงโตนอกคอกเป็นรวมเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี (fantasy) ที่มีความสดใหม่และสร้างสรรค์ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนหญิงรุ่นใหม่ ผู้มีผลงานน่าสนใจและน่าจับตามอง

ล่าสุดผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มดังกล่าวเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2560

ในบทความชิ้นนี้มุ่งเสนอประเด็นการตั้งคำถามถึงความเชื่อที่ปรากฏในเรื่องสั้นผ่านมุมมองความคิดเห็นของตัวละครผู้เล่าเรื่องที่มีต่อสังคมในเชิงเปรียบเทียบผ่านคนดี คนอื่นและคนนอก (คอก) จากเรื่องสั้นจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี กุหลาบย้อมสีและสิงโตนอกคอก

“มนุษย์ทุกคนในโลกนี้เกิดมาพร้อมไพ่คนละหนึ่งใบ ด้านหลังไพ่จะเป็นลายตารางสีขาวสลับลาย ประดับตรารัฐบาลโลก ส่วนด้านหน้าของไพ่นั้น… ในตอนแรกจะเป็นสีขาวหมดจดไร้ลวดลายใดๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนคนนั้นทำสิ่งที่สังคมตัดสินว่าผิด ไพ่จะกลายเป็นสีดำ และคนคนนั้นจะกลายเป็นคนเลวของสังคม เมื่อนั้นบรรดาคนดีของสังคมที่ครอบครองไพ่สีขาวจะมีสิทธิ์สังหารคนเลวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย” (น.39-40)

จากข้อความข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นสารัตถะของเรื่องสั้นเรื่องดังกล่าว หากจิดานันท์ไม่ได้เสริมรายละเอียดการฆ่า เหตุผลในการฆ่า ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจ ตรรกะความเชื่อ การตั้งคำถามถึงมาตรฐานคุณธรรมของตนเอง รวมไปถึงข้อสงสัยต่อไพ่ ซึ่งไม่มีใครสงสัยมาก่อน

และความสงสัยนี้สามารถเปลี่ยนไพ่ให้กลายเป็นสีดำได้ โดยไม่ต้องกระทำผิด

จิดานันท์พยายามสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในสิทธิ์อันชอบธรรมของมนุษย์กับการกระทำที่ยังคงความหมายของความเป็นมนุษย์ต่อการดำรงอยู่บนพื้นฐานทางศีลธรรมและความถูกต้องดีงามว่า ใครเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และเราเองมีมาตรฐานมากพอที่จะสามารถเชื่อถือหรือทำสิ่งใดที่เรียกว่าถูกหรือผิด

ดังนั้น คนในสังคมจึงควรตระหนักถึงคำถามเหล่านั้นว่า ความดีคืออะไร คนดีคือใคร (กันแน่?) แล้วคิดหาคำตอบต่อไป และความเป็นคนดีเป็นสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจใช่หรือไม่ แม้ว่าเราจะต้องฆ่าใครที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเลวก็ตาม

และหากโลกนี้ไร้คนเลว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีแต่คนดีเท่านั้น มันจึงกลายเป็นความย้อนแย้งที่แฝงไปด้วยปรัชญาน่าสืบค้นกับเหตุผล “ความชอบธรรม” หรือ “ความชอบทำ”

ที่สุดท้ายแล้วมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ดุร้ายและจ้องทำลายพวกเดียวกันตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดของตน โดยมีความกลัวเป็นตัวบงการนั่นเอง

“ตัดทอนบางส่วนจากบันทึกของเซท” (น.151)

จิดานันท์เปิดเรื่องด้วยประโยคดังกล่าวและเล่าทุกเรื่องราวในรูปแบบบันทึกตัดทอนบางส่วน ร้อยเรียงกันได้อย่างน่าสนใจและใคร่ติดตามพฤติกรรม ความคิดและความเชื่อของบรรดาตัวละครในเรื่องสั้นที่ดำเนินชีวิตอิงกับเทพเจ้า เพราะทุกคนถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังเทพเจ้า ชีวิตจึงปราศจากอิสระ

แน่นอนว่าศาสนาเป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยว คำสอนเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ประกาศิตจากเทพเจ้าผ่านผู้นำทางจิตวิญญาณนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือหักล้างได้หรือไม่

กลายเป็นคำถามสำคัญที่ท้าทายความคิดและอาจลบหลู่ดูหมิ่นเทพเจ้าที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่มีใครเคยพบเห็นหรือเป็นอะไรกันแน่

แม้กระทั่งผู้ถูกเลือกให้ทำหน้าที่รับสารเองก็ไม่สามารถตอบได้

ตัวละคร “ผม” จึงตั้งข้อสงสัยและเกิดคำถามทั้งจากความเชื่อที่มีต่อเทพเจ้าที่ดูเหมือนจะบงการทุกชีวิตในสังคมได้ โดยจิดานันท์ให้ทุกคนที่เข้ารีตมีดอกกุหลาบสีขาวประจำตัวและอาศัยอยู่ในเมือง ส่วนคนนอกรีตมีดอกกุหลาบสีน้ำเงินและอาศัยอยู่ในป่า

สุดท้าย “ผม” ได้พบรักกับหญิงสาวนอกรีตและหนีเข้าป่า แต่กลับเป็นคนอื่นในสายตาแม่และสังคมที่มีความคิด ความเชื่อที่นำศาสนามาบดบังความจริง จนเป็นความงมงาย มุ่งร้ายและเกลียดชังหมู่มนุษย์ด้วยกัน จากการยึดถือจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีเทพเจ้าเป็นศูนย์กลาง

จิดานันท์จบเรื่องสั้นด้วยบันทึกก่อนตายของเซทที่หักมุมให้ผู้อ่านเห็นถึงความหลอกลวงและเบื้องหลังของข้ออ้างทางศีลธรรมที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติอย่างไร้การตรวจสอบ เมื่อผู้ทำหน้าที่รับสารจากเทพเจ้ามีกลีบดอกกุหลาบด้านในสามกลีบเป็นสีน้ำเงินและต้องให้ผู้นำนอกรีตย้อมมันเป็นสีขาวอยู่เสมอ จึงกลายเป็นความย้อนแย้งระหว่างความคิด ความเชื่อกับคำถามและคำตอบที่อาจไม่กระจ่างชัด สำหรับคนที่มีศรัทธาแต่ปราศจากปัญญา จึงควรตระหนักรู้และเท่าทันในเรื่องถูกหรือผิด ปิดบังหรือเปิดเผย

นอกจากสีของดอกกุหลาบจะแบ่งแยกคนออกจากศาสนาและสังคมแล้ว ผู้อ่านจะเห็นถึงความไร้เหตุผลของมนุษย์ที่เกลียดชังและไล่ล่าพวกเดียวกัน เพราะเขาเลือกเกิดไม่ได้หรือเลือกที่จะเปลี่ยนตัวเอง จึงอาจนำมาเปรียบเทียบกับสังคมปัจจุบันที่ทุกปัญหาล้วนเกิดขึ้นจากความแตกต่าง

ดังนั้น กรอบมาตรฐานทางศีลธรรมหรือความยุติธรรมจึงไม่อาจชี้วัดตัดสินถูกผิดดีชั่วของมนุษย์ได้อย่างซื่อตรง เพราะสิ่งที่ถูกสร้าง ยึดถือหรืออุปโลกน์ขึ้นมานั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานบนหลักความจริงเสมอไป

“ในสังคมวิปลาสไล่ฆ่ากัน คนที่กล้าถามหาสันติภาพ ก็นับว่าบ้าเหมือนกันนั่นแหละ บ้าเพราะกล้ากระโจนเข้าหาอันตราย… เพราะในสังคมแบบนั้น ทุกคนไม่ได้ไล่ฆ่าแต่ฝ่ายตรงข้าม คนที่เป็นกลางก็ไม่เคยถูกละเว้น…” (น.214)

ในเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” จิดานันท์เล่าเรื่องซ้อนเรื่องสลับกับเหตุการณ์อดีตและปัจจุบัน

เรื่องซ้อนเรื่องเชื่อมโยงกับชีวิตของตัวละครผู้เล่าเรื่องที่ผจญอยู่กับสงคราม ท่ามกลางความเหน็บหนาวและอ่านนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนชีวิตของตนและคนอื่น ผู้มีชะตากรรมไม่ต่างกัน คือคำสั่งออกล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยเหตุผลเป็นคน (มี) ตาขาว

จิดานันท์เปรียบโลกในชีวิตของตัวละครกับโลกในนิทานที่ต่างมีทั้งความจริงและความลวงที่ถูกบิดเบือน เมื่อมนุษย์ถือเอาความแตกต่างมาหยามเหยียดเบียดเบียน กดขี่และข่มเหงกันอย่างไร้เหตุผล ขาดสำนึกตรึกตรองเรื่องเมตตาธรรม

แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จบลงด้วยความหวัง หากเราเลือกปฏิเสธการฆ่า สงครามใดคงไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบรรณารักษ์สาวในเรื่องสั้น ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี ที่เลือกจะไม่ฆ่าเพราะจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ จิดานันท์ยังให้ “นิกสัน” อ่านนิทานเรื่องสิงโตนอกคอกและอ่านชีวิตผ่านความคิดของตัวละครซ้อนตัวเองเปรียบเทียบกันไปด้วย คล้ายจะเป็นการทบทวนเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงอันแสนโหดร้าย

จะมีสักกี่คนที่รอดปลอดภัยจากสงครามระหว่างชนชั้น เชื้อชาติและสีผิวที่ถูกผลักไสให้เป็นคนนอก คนอื่น คนเลวอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

จากเรื่องสั้นทั้ง 3 เรื่อง จิดานันท์ใช้สัญลักษณ์หรือภาพแทนสังคมร่วมสมัยที่น่าตีความ ไม่ว่าจะเป็นไพ่ ดอกกุหลาบและตาที่มีความแตกต่างในเรื่องของ “สี” ที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นฝักฝ่ายให้เกิดเป็นความขัดแย้ง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและค่านิยมหรือวัฒนธรรมในสังคม

จนตัวละครในเรื่องสั้นเหล่านั้นกลายเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในนามของคนดี เทพเจ้า รัฐบาล สงครามและความอยู่รอดของตัวเอง

ทุกคนจึงตกเป็นเหยื่อของคำว่ามาตรฐานทางศีลธรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมโดยไม่รู้ตัว

คนที่เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง สุดท้ายก็ถูกฆ่าตายเช่นเดียวกับไพ่ที่ไม่มีวันเป็นสีเทา โลกนี้จึงมีแต่ขาวกับดำเท่านั้น หรือกระทั่งดอกกุหลาบขาวที่อาจเปลี่ยนสีได้และต้องใช้สีย้อมตบตาตัวเองหรือผู้อื่นเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎเกณฑ์หรือจารีตมืดบอด

แต่ในโลกนี้จะมีคนกล้าคิดต่าง คิดนอกกรอบหรือกลายเป็นคนนอก (คอก) ของสังคมแบบบรรณารักษ์สาวในเรื่องสั้น ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี

หรือเซทและจูเลียนในเรื่องสั้น กุหลาบย้อมสี

หรือครูผู้ชายและแซคคารีในเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก มากน้อยแค่ไหน

เพราะความชอบธรรม ความยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัยหรือตั้งคำถาม เมื่อมนุษย์ต่างมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง แล้วคำตอบนั้นต้องอาศัยเหตุผล ความรู้หรือสิ่งใดมาชี้วัดตัดสินสิ่งผิดหรือถูก หรือสุดท้ายจะถูกจำกัดมุมมองต่อสัญญะที่ปรากฏในเรื่องสั้น เพราะต่างเคารพศรัทธากันมาแบบนี้ รัฐกำหนดมาเช่นนี้หรือคนส่วนใหญ่ยอมรับนับถือและต้องการให้เป็นอย่างนี้

ในที่สุดจึงไม่หลงเหลือความหมายใดให้กับเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมด

ทั้งนี้ อาจสรุปคำตอบของความสัมพันธ์จากเรื่องสั้นดังกล่าวว่า ได้ทำหน้าที่สะท้อนโครงสร้างทางสังคม (social instructure) ที่มีอยู่และระบบวัฒนธรรมของสังคมก็ได้สร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นตามมา

สิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นอื่นคือพหุวัฒนธรรม (multicultural-society) ซึ่งบุคคลแต่ละคนจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยมีลักษณะวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และหลายๆ กลุ่มจะรวมตัวกันเป็นสังคมใหญ่ การอยู่รอดของกลุ่มเกิดจากการเห็นคุณค่าของกระบวนการคิดและสัญลักษณ์ที่เกิดจากการสร้างของวัฒนธรรม ปัจจัยทางศาสนา เชื้อชาติ อายุ เพศ ชนชั้นทางสังคม และการศึกษาจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความเชื่อ ความรู้สึกและการกระทำของบุคคล

ส่วนการกีดกันออกจากสังคม (social exclusion) ให้ไปสู่ความเป็นอื่นจะมีความแนบเนียน แม้แต่ผู้ถูกกีดกันก็ยังยอมรับในตำแหน่งแห่งที่ที่สังคมกำหนดให้เขา เช่นเดียวกับธรรมชาติการเป็นคนนอก (คอก) ในเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ที่เกิดจากการที่สังคมไม่ยอมรับ อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจได้กำหนดความแตกต่างขึ้นมาเพื่อทำลายความเป็นตัวตนทางสังคมและถูกกำจัดออกจากสังคม ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคมและการเมืองทั้งสิ้น

ดังนั้น คนอื่น ความเป็นอื่น ถูกสร้างขึ้นมาโดยระบบสังคม (social systems) แต่ใช่ว่ามนุษย์จะยอมจำนนเพียงอย่างเดียว มีการใช้วัฒนธรรมเป็นพื้นที่ในการต่อรอง ต่อสู้อำนาจในการนิยามวาทกรรมดังกล่าว จึงอยู่ที่ชุดความรู้หรือกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งของสังคมที่แบ่งเขาแบ่งเราออกจากกันเพราะชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ

อย่างในเรื่องสั้น กุหลาบย้อมสี อาจกล่าวถึงความเป็นอื่นในแง่ของอุดมการณ์อำนาจนิยม (authorianism) ที่แสดงอำนาจผ่านวัจนภาษา (verbal language) และอวัจนภาษา (non-verbal language) ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การทำร้าย ขู่ให้กลัวหรือแม้การใช้ตำแหน่งหน้าที่จัดการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความรุนแรงนั้นเองส่งผลให้เกิดการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นคนป่าเถื่อน ไม่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น

ซึ่งการจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม พื้นฐานเบื้องต้นมนุษย์ในสังคมจะต้องเคารพสิทธิของกันและกัน รู้จักใช้สิทธิของตนโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รวมถึงยอมรับความแตกต่างของกันและกันด้วย

บรรณานุกรม

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท. (2560). สิงโตนอกคอก. กรุงเทพฯ : แพรว.

วัชรินทร์ แก่นจันทร์. (2556). อุดมการณ์ความเป็นอื่นในวรรณกรรมล้านนา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.journal.up.ac.th. [12 ตุลาคม 2560].

รุจิราพร รามศิริ. (2555). พหุวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://gotoknow.org/posts/373642. [12 ตุลาคม 2560].