เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายรูปงามองค์หนึ่งกับหญิงตัดเสื้อคนหนึ่ง เรื่องราวอาจจะเริ่มต้นคล้ายๆ แบบนี้แต่ดึงนักอ่านไปอีกเรื่องหนึ่งได้อย่างรวดเร็วด้วยไม่ใครก็ใครน่าจะมีความหลากหลายทางเพศแน่ๆ อ่านแล้วจึงรู้ว่าที่เราคิดว่าเคยรู้ยังอาจจะน้อยเกินไป

เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ หรือ The Prince and the Dressmaker เขียนเรื่องและวาดภาพโดย Jen Wang แปลโดย วลัยลักษณ์ จิตตะยโศธร

ปารีส เจ้าชายอายุ 16 ปีแล้วถึงเวลาเลือกคู่ครอง มีประกาศเชิญสาวงามและเจ้าหญิงทั้งหลายมางานเลี้ยงเต้นรำที่ปราสาท

ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไปช่างตัดเสื้อทั้งนครปารีสมีงานเต็มมือ เหลือเจ้าหญิงโซเฟียหาช่างตัดเสื้อไม่ได้จึงเป็นหน้าที่ของฟรานเซส ลูกจ้างของร้านหนึ่ง

ฟรานเซสฟังความต้องการของเจ้าหญิงโซเฟียอยากได้ชุดที่บ่งบอกบุคลิกลักษณะของตนเองซึ่งชอบโลดโผนโจนทะยานและไม่อยากอยู่ในกรอบเจ้าหญิงเท่าไรนัก เมื่อถึงวันงานทุกคนตะลึงกับชุดที่เจ้าหญิงโซเฟียสวมใส่

หลังงานฟรานเซสถูกเจ้านายเรียกตัวไปตำหนิอย่างรุนแรงว่าตัดชุดบ้าๆ แบบนั้นออกไปได้อย่างไร ชื่อเสียงของร้านป่นปี้กันก็ครานี้

“ขอโทษค่ะ” หนูแค่ทำในสิ่งที่ลูกค้าอยากได้” ฟรานเซสก้มหน้า

“ลูกค้าอยากได้!” เจ้าของร้านตาเหลือก “ลูกค้าน่ะไม่ใช่คนที่สวมชุด แต่คือคนที่จ่ายเงินต่างหาก!”

ไม่ทันที่ฟรานเซสจะถูกไล่ออก พลันปรากฏชายร่างยักษ์เชิญฟรานเซสไปเป็นช่างตัดเสื้อส่วนตัวให้แก่เจ้านายของเขา

ฟรานเซสลาออกทันที

ฟรานเซสติดตามชายร่างยักษ์ไปพบเจ้านาย เจ้านายอยู่ในผ้าม่าน กล่าวทักทายฟรานเซสอย่างสุภาพและเป็นกันเอง หนังสือการ์ตูนไม่มีเสียงแต่ตอนอ่านได้ยินเสียงผู้หญิง จะเห็นว่าเพศสภาพถูกกำหนดด้วยบริบท เป็นเนื้อเรื่องที่ทำให้เราได้ยินเสียงผู้หญิง แล้วที่แท้อะไรกันที่กำหนดเพศสภาพ ย่อมมิใช่ร่างกายกับอวัยวะเพศเท่านั้นเป็นแน่

เจ้านายปรากฏตัว ที่แท้เขาคือเจ้าชายที่พระบิดาให้จัดงานเต้นรำ เขาอยู่ในงานเลี้ยงนั้นด้วยและประทับใจชุดที่เจ้าหญิงโซเฟียสวมใส่ เขาขอให้ฟรานเซสตัดชุดกระโปรงสวยๆ ให้เขาบ้าง

วันนี้เราไม่เพียงมีหญิง ชาย และ LGBT เรามี LGBTQIA+ ท่านที่สนใจใคร่รู้ค้นหารายละเอียดได้ไม่ยากจากวิกิพีเดีย อ่านจากภาษาอังกฤษจะเข้าใจได้ง่ายกว่าถึงความแตกต่าง

เจ้าชายอยากออกนอกวังในชุดของหญิงสาว ฟรานเซสจึงตัดชุดสีส้มให้เจ้าชายไปเดินเที่ยวในตลาด พอดีมีงานประกวดเทพธิดาแยมผิวส้ม เจ้าชายเข้าประกวดแล้วชนะเลิศในชุดกระโปรงสีส้มสดสวยนั่นเอง

เธอใช้ชื่อว่า เลดี้คริสตัลเลีย

ความสุขที่ได้เป็นตนเองไม่ทันจะจางหาย พระบิดาเรียกเจ้าชายเข้าพบเพื่อบีบบังคับให้ตัดสินใจเลือกคู่ครอง เจ้าชายกลับมาปรับทุกข์กับฟรานเซส เขาเป็นบุตรชายคนเดียวของวงศ์ตระกูลและอาณาจักร เขาไม่รู้จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้อย่างไรและหากพระบิดาพระมารดารู้เข้าจะเกิดอะไรขึ้น

เจ้าชายพูดต่อไปว่าในค่ำคืนที่เป็นเลดี้คริสตัลเลียนั้น ชุดที่ฟรานเซสตัดให้ทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“เป็นครั้งแรกเลยที่เรารู้สึกมีค่า” เจ้าชายว่า “แปลกชะมัด เราไม่รู้สึกเลยว่าเจ้าชายเซบาสเตียนจะออกรบเพื่อชาติได้ แต่กลับรู้สึกว่าเลดี้คริสตัลเลียทำได้”

คนอ่านก็แปลกใจพอกันครับ “หนูไม่เคยคิดเลยว่าจะทำได้ แต่พอเปลี่ยนชุดเท่านั้นก็ทำได้” ได้ยินประโยคทำนองนี้เป็นระยะๆ จากนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

ฟรานเซสกับเจ้าชายใกล้ชิดกันมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งความรู้สึกของเจ้าชายที่มีต่อฟรานเซสก็เปลี่ยนไปอีก เอ๊ะ ยังไง

เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปจนถึงจุดที่ฟรานเซสได้พบผู้คนมากมายในแวดวงสังคมชั้นสูงและวงการแฟชั่น

เธอพบโอกาสที่จะก้าวหน้าในวงการนักออกแบบแต่กลับเป็นเจ้าชายที่ไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าความลับของเจ้าหญิงคริสตัลเลียจะแพร่งพรายออกไป นั่นทำให้ฟรานเซสเสียใจและขอลาจาก

เรื่องจะยังดำเนินไปอีกพักใหญ่เลยครับ ซับซ้อนใช้ได้เลย

 

แล้วเราก็มาถึงศตวรรษที่ 21 เร็วกว่าที่คาด ที่ว่าเร็วกว่าที่คาดเพราะเมื่อห้าสิบปีที่แล้วหลายประเทศยังมีกฎหมายทำโทษเพศสภาพหรือเพศวิถีที่มิใช่ชายหรือหญิงอยู่เลย แต่ก็ยังเร็วไม่พอด้วยมีคนตายเพราะเรื่องนี้มากเกินไป

เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้เราพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นและยอมรับได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า “ยอมรับ” มีความหมายว่าครั้งหนึ่งเคยไม่ถูกยอมรับแล้ววันนี้ก็ยังอาจจะเป็นของแปลกแยกที่ต้องมานั่งยอมรับ

ที่เราอยากให้โลกเป็นไปมากกว่าคือไม่มีคำว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับ ที่แท้แล้วความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์เหมือนที่คนเราต้องตื่นนอน กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ หรือเข้านอน ความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะตั้งชื่อใหม่ๆ ว่าอะไรมิใช่คำแปลกแยก แต่ควรกลมกลืนกับโลกเหมือนคำว่าชายและหญิง

เราสร้างความกลมกลืนนี้ได้ด้วยการบอกคนรุ่นใหม่ตั้งแต่พวกเขาเกิดว่าเพศสภาพคืออะไร เพศวิถีคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

วันนี้เราจึงพบนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กที่เล่าเรื่องราวเหล่านี้

ถัดมาจึงเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กโตซึ่งจะมีกลิ่นอายของความโรแมนติกหรือแม้กระทั่งอีโรติกเข้ามาผสม

จะดีกว่าไหมถ้าเราเล่าเรื่องราวเหล่านี้ในนิทานพื้นบ้าน เช่น ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายองค์หนึ่งและหญิงตัดเสื้อคนหนึ่ง เป็นต้น

การ์ตูนเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่าธรรมดา เล่าความธรรมดา เพื่อให้ได้สังคมธรรมดา ด้วยกลไกการเล่าที่ไม่ธรรมดา •