อ่านสภาพ “คุกโบราณ” ผ่านวรรณคดี คนคุกต้องมี ‘คา’ ค้ำคอ

ญาดา อารัมภีร
ภาพประกอบเนื้อหา : นักโทษที่มีโซ่คล้องคอติดกันเป็นพวง จิตรกรรมภายในอุโบสถวัดคงคาราม ราชบุรี

‘คนโทษ’ กับ ‘คุก’ เป็นของคู่กัน สภาพคุกโบราณต่างจากคุกปัจจุบันราวฟ้ากับเหว คุกคือนรกบนดินโดยแท้ สภาพคนคุกที่ทุกข์ทรมานชวนเวทนาเต็มสองตาของนางวันทองตอนไปเยี่ยมขุนช้างที่ต้องโทษ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

“วันทองแข็งใจเข้าในคุก แลเห็นคนทนทุกข์สยดสยอง

น่าเกลียดน่ากลัวหนังหัวพอง ผอมกร่องร่างกายคล้ายสัตว์นรก

เขาใส่คาอาหารไม่พานไส้ เห็นวันทองขึ้นไปไหว้ประหลก

เอากล้วยทิ้งชิงกันตัวสั่นงก ใครมีแรงแย่งฉกเอาไปกิน

สุดแต่มีของให้แล้วไม่เลือก จนชั้นเปลือกก็ไม่ปอกขยอกสิ้น

เป็นหิดฝีพุพองหนองไหลริน เหม็นกลิ่นราวกับศพตรลบไป

ตัวเล็นเป็นขนไต่บนกระบาล นางก้าวหลีกลนลานไม่ดูได้

อุตส่าห์ทนจนถึงก้นคุกใน ขุนช้างเห็นเมียไปร้องไห้แง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คนโทษมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ผอมกะหร่องจนเห็นโครงกระดูก อดอยาก ไม่มีอะไรกิน ทั้งยังมี ‘คา’ ค้ำคอ ดังข้อความว่า ‘เขาใส่คาอาหารไม่พานไส้’ หนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล) อธิบายว่า

“คา คือ ไม้ยาว 2 แผ่น ประสานกันตรงรอบคอ คานั้นจะหนักน้อยหรือหนักมากแล้วแต่โทษานุโทษ นอกจากหนักแล้ว ยังขัดข้องต่อการอิริยาบถอีกด้วย ข้อสำคัญทำให้ไม่ได้รับการพักผ่อนหลับนอนเลย

ไม่ต่างจากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ดังนี้

“เครื่องพันธนาการที่หนักนั้นเห็นจะได้แก่ คา ซึ่งสวมที่คอ มีรูปร่างเหมือนบันไดพาดต้นไม้ เมื่อสวมลงไปแล้วก็เก้งก้าง ป้องกันมิให้คนโทษนั้นเคลื่อนไหวได้สะดวก หรือเกือบจะเคลื่อนไหวท่อนบนตรงศีรษะไม่ได้เลย”

คนโทษกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ละคนท้องกิ่วหิวโซ โยนกล้วยให้ก็แย่งชิง กินไม่เลือก เปลือกไม่ต้องปอก ขยอกกินทั้งเปลือกไม่เสียเวลา ที่ร้ายกว่าคือร่างกายแสนโสโครก ไม่ได้อาบน้ำเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ จนเนื้อตัวเต็มไปด้วยเล็น หิด ฝีพุพองมีหนองไหล

ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งราวซากศพ

 

ความจริงที่น่าเศร้าคือ คุกเป็นแค่สถานที่คุมขังเท่านั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงที่มาของอาหารคนโทษไว้ใน “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“ข้อสำคัญนั้นก็คือ ทางราชการไม่มีอาหารเลี้ยงคนโทษแต่อย่างใดเลย คนโทษจะมีอาหารกิน ก็อยู่ที่มีญาติพี่น้องไปส่งอาหารให้” เช่น เมียคนโทษคอยส่งข้าวส่งน้ำ ดังกรณีนางวันทอง ผัวกินไม่ลงเพราะเพิ่งถอดขื่อคา นางก็ป้อนให้

“ขุนช้างฟังว่าคว้าชามข้าว เปิบใส่ปากเปล่าไม่กลืนได้

เคี้ยวข้าวเป็นแป้งคอแห้งไป เอาน้ำใส่กลั้วคอให้พอกลืน

จะกินได้แต่ละคำเอาน้ำกลั้ว คิดถึงตัววางชามข้าวเฝ้าสะอื้น

วันทองปลอบว่าอุตส่าห์กลืน ขืนใจกินเถิดพ่อพอมีแรง

เห็นผัวยังนั่งครางนางช่วยป้อน เอาช้อนตักแกงแย้แก้คอแห้ง

ทั้งเนื้อพล่าปลาไหลไก่พะแนง ขุนช้างแข็งใจกินสิ้นชามโคม”

คนโทษทั้งหลายต้องหาอาหารกินเอง ดังจะเห็นได้จากตอนขุนแผนแก้พระท้ายน้ำ ที่คุกเชียงใหม่ช่วงเช้า

พะทำมะรงหรือผู้ควบคุมนักโทษเข้ามาจ่ายคนโทษไปทำงาน ตาหลอ ตารัก บักจันดีสามคนไปเกี่ยวหญ้าที่หนองเอามาเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นความจงใจของพะทำมะรง

“ผู้คุมตามก้นมาลนลาน เดินผ่านล้วงตลาดวินาศไป

ฉวยกระชากหมากดิบหยิบใส่กระจาด เขาโขกพลาดกลับฉวยเอากล้วยไข่

เสียงฉุ่งฉิ่งวิ่งเลยไม่หลีกใคร เจออะไรไขว่คว้ามาเป็นราว

โซ่ตรวนโกร่งกร่างตามทางมา เข้าร้านไหนแม่ค้าก็ฉ่าฉาว

บ้างโกรธาด่าเปรี้ยงเสียงเกรียวกราว ข้ามสะพานย่านยาวเหย่าเหย่ามา

ครั้นถึงทุ่งมุ่งตรงลงขอบหนอง กำเริบร้องรำเคียวแล้วเกี่ยวหญ้า

ผู้คุมนั่งบังสุมทุมพุ่มพุทรา แล้วปูผ้านอนเล่นเย็นหลับไป”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ความกระจ่างว่าเมื่อไม่มีอาหารเลี้ยงคนโทษ

“ทางราชการเองก็เอื้อเฟื้อด้วยวิธีจ่ายคนโทษออกไปทำงานข้างนอก เป็นต้นว่าให้ไปตัดหญ้า แล้วผู้คุมก็จะคุมคนโทษที่จ่ายไปทำงานนั้นให้เดินผ่านตลาด แหล่งที่มีอาหารสด เป็นหน้าที่ของคนโทษที่จะฉกชิงของกินของใช้เอาเองตามที่ตนต้องการ แล้วเอากลับมากินเลี้ยงตัวในคุก”

 

เมื่อติดคุก คนโทษขาดไร้ไปทุกอย่างตั้งแต่อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ได้ดีกว่าผ้าขี้ริ้ว วันที่คนโทษอุกฉกรรจ์ 35 คนพ้นคุก พระยายมราชสั่งให้พวกทนายไปเลือกหาผ้าลายในตึกกับขนผลไม้มาแจกพวกอาสาทำศึกเชียงใหม่เป็นการใหญ่

“พวกทนายขนของมากองเกลื่อน พระยายมตักเตือนให้เลือกสรร

ขุนแผนจึงจัดแจงแล้วแบ่งปัน แจกให้ไพร่นั้นทุกตัวคน

ต่างผลัดผ้าเก่าเอาโยนเสีย ทุดกูขายหน้าเมียไม่ปิดก้น

บางคนเปลื้องกระสอบดูชอบกล มันช่างจนเหลือจนได้พ้นทุกข์”

ผ้าไม่ปิดก้น คือ นุ่งผ้าขาดกะรุ่งกะริ่งจนเห็นก้น ที่หนักกว่านั้นคือ นุ่งกระสอบ ต่างคนจึงรีบถอดของเก่าโยนทิ้ง นุ่งผ้าใหม่ทันที กินผลไม้ไปก็โมทนาสาธุขอบคุณขุนแผนที่ทูลขอสมเด็จพระพันวษาให้พวกตนได้เป็นทหารอาสา

นอกจากคนโทษพ้นคุกจะได้ผ้าใหม่ คนโทษที่ยังติดคุกอยู่ก็ได้รับช่วงข้าวของเครื่องใช้ ผ้าเก่าๆ ที่ใช้แล้วจากนางแก้วกิริยา (เมียที่ตามขุนแผนไปอยู่ที่ทับในคุก) เมื่อผัวพ้นคุกพร้อมคนโทษ 35 คน นางกำลังท้องแก่ ก่อนตามผัวกลับบ้านก็ถือโอกาสยกของทั้งหมดให้เป็นทาน

“ครั้นผัวพ้นทุกข์จากคุกได้ หม้อกละออมโอ่งไหกองไว้เกลื่อน

ผ้าขี้ริ้วผ่อนขาดกลาดทั้งเรือน เคยเป็นเพื่อนเมื่อยากจะจากกัน

พิษฐานให้ทานคนโทษแล้ว ผ่องแผ้วตามมาหาผัวขวัญ

พระหมื่นศรีดีใจบอกไปพลัน อยู่ด้วยกันอย่ากลัวผัวไปทัพ”

การติดคุกเหมือนตกนรกทั้งเป็น เครื่องจองจำทำให้กลายเป็นคนพิการ ดังที่ตาหลอบอกขุนแผนว่า

“พวกเราถูกรัดรึงไว้ตรึงตรา จนง่อยเปลี้ยเสียขาไปหลายคน”

 

นอกจากถูกจองจำ ยังถูกโบยตี เมื่อขุนแผนบุกคุกเชียงใหม่ช่วยเหลือคนโทษโดยซัดข้าวสารเสก โซ่ตรวนขื่อคาทั้งหมดจึงหลุดร่วง คนโทษได้โอกาสเอาคืน เจ้าหน้าที่คนไหนร้ายกาจตัวขาดหัวขาดไปตามๆ กัน

“อ้ายผู้คุมสามนายที่ร้ายกาจ ฟันผลัวะฉัวะฉาดขาดสะบั้น

เลือดอาบดาบมันและฟันมัน มันดุดันด่าเฆี่ยนพ่อเจียนตาย

ยังอ้ายผู้กำกับอยู่ทับนอก อ้ายขี้ครอกเฆี่ยนพ่อถึงสองหวาย

ตาหลอขึ้นทับคร่าฝาทลาย เอาดาบป่ายปุบดิ้นสิ้นชีวี

ตารักแค้นใจอ้ายตรวจเพลิง มันตรวจหวดหลังเปิงจนป่นปี้

จะเอามันไว้ไยอ้ายอัปรีย์ แกฟันทิ้งกลิ้งคี่อยู่คาเรือน

อ้ายคนโทษโกรธใครไล่พิฆาต ฟันเสียหัวขาดออกกลาดเกลื่อน”

‘คนโทษ’ กับ ‘คนพวง’ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ฉบับหน้ามีคำตอบ •