The Summit of the Gods

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

อะนิเมะจากฝรั่งเศส เล่าเรื่องตัวละครญี่ปุ่นจากมังงะญี่ปุ่น จึงได้นั่งดูคนญี่ปุ่นพูดฝรั่งเศสตลอดทั้งเรื่อง ยังหาฉบับพูดภาษาญี่ปุ่นไม่พบ หนังสนุกมาก

หนังเล่าเรื่องนักปีนเขาและเกร็ดตำนานบางตอนของการปีนเอเวอเรสต์ กลายเป็นว่าด้วยลายเส้นที่ชัดเจน ลงสีสดใส เห็นได้ชัดว่าอะไรเป็นอะไรแม้ในฉากกลางคืนหรือท่ามกลางพายุหิมะ

ทำให้เราเข้าใจกลวิธีปีนเขาหรือปีนหน้าผาที่ตั้งฉากขึ้นไปตรงๆ มากกว่าดูหนังคนแสดงจริงๆ เสียอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากหวาดเสียวหรือช่วงยากว่าจะทำกันอย่างไรก็วาดออกมาได้ชัดเจนเข้าใจง่าย

เช่น ตอนที่ปีนไปถึงใต้แท่นหินใหญ่ที่ยื่นออกมาจากหน้าผา นักปีนเขาต้องทำอย่างไรที่จะเกาะด้านล่างของแท่นหินเพื่อขยับตัวขนานกับพื้นโลกออกไปที่ขอบด้านนอกแล้วปีนขึ้นต่อไปอีก ลำพังดูการ์ตูนก็ทำขาอ่อนได้แล้ว

การไต่เพดานควรมีแต่จิ้งจก ตุ๊กแก หรือสไปเดอร์แมนที่ทำได้ มนุษย์จะทำได้อย่างไรชวนไปดูครับ

The Summit of the Gods (Le Sommet des Dieux) เป็นหนังพูดฝรั่งเศส สร้างจากมังงะญี่ปุ่นของนักเขียน Jiro Taniguchi กำกับฯ โดย Patrick Imbert ที่จริงตัวละครเป็นชาวญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดยกเว้นลูกหาบที่เนปาล มีฉายในเน็ตฟลิกซ์วันนี้

มาโคโตะ ฟุคามาจิ เป็นช่างภาพและนักปีนเขา เขาทำงานถ่ายรูปนักปีนเขาที่เนปาลซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักปีนเขาทั่วโลกที่หวังจะมาพิชิตเอเวอเรสต์ตามรอยคนสำคัญๆ ที่พิชิตสำเร็จไปก่อนแล้ว

วันหนึ่งเขาบังเอิญพบนักปีนเขาในตำนานที่หายไป ฮาบุ จิโร่ ซึ่งครอบครองกล้องถ่ายรูปของมาลลอรี่อยู่ นับจากนั้นมาโคโตะพยายามตามหาฮาบุเพื่อขอดูภาพถ่ายในกล้องนั้น

จอร์จ มาลลอรี่ (George Mallory 1886-1924) กับแอนดรูว์ เออร์วิน (Andrew Irvine 1902-1924) สองนักปีนเขาชาวอังกฤษที่หายไประหว่างพยายามไปให้ถึงยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรกเมื่อปี 1924 มีการพบศพของเขาเมื่อปี 1999 ซึ่งชวนให้สงสัยว่าพวกเขาอาจจะเป็นคนที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเป็นคนแรกจริงๆ ก็ได้ ก่อนที่การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์จะสำเร็จอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1953 โดยชาวนิวซีแลนด์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ (Edmund Hillary) กับชาวเชอร์ปาเทนซิง นอร์กีย์ (Tenzing Norgay) ความข้อนี้มีปรากฏในหนังด้วย

หนังเล่าเรื่องมาโคโตะพยายามตามาหาฮาบุอยู่ครึ่งเรื่อง สลับกับชีวิตในอดีตของฮาบุว่าเพราะอะไรเขาจึงหายตัวไป

ฮาบุเป็นคนจริงจังมาตั้งแต่หนุ่ม มีความมุ่งมั่นที่จะปีนเขามากมายเสียจนไม่ค่อยเห็นเพื่อนร่วมทีมในสายตา และบางครั้งมีวาจาทำร้ายคนอื่นทั้งที่ตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจ เพื่อนร่วมปีนเขาค่อยๆ ตีตัวออกห่าง

มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักปีนเขาและมานั่งฟังพวกผู้ใหญ่รวมทั้งฮาบุเล่าเรื่องราวน่าตื่นเต้นระหว่างการปีนเขาอยู่เสมอๆ

เขาขอติดตามฮาบุไปในคราวหนึ่งแต่ฮาบุปฏิเสธ

ฮาบุรับเด็กหนุ่มไปปีนเขาด้วยกันจนได้ เกิดอุบัติเหตุเด็กหนุ่มตกลงมาห้อยต่องแต่งหงายหลังอยู่กลางอากาศฉะนั้น ฮาบุพยายามช่วยชีวิตเด็กหนุ่ม

ฉากนี้น่าดูชม เราจะได้เห็นวิธีที่ฮาบุคลำเอาหมุดออกมาจากกระเป๋า ตอกบนหินผาเพื่อเสริมแรงให้ตนเองสามารถรับน้ำหนักของคนทั้งคนที่ห้อยอยู่กลางอากาศเบื้องล่างได้

เขาพยายามสาวเด็กหนุ่มขึ้นไปด้วยการปักหมุดเสริมใหม่อีกแต่เชือกครูดกับผาหินตลอดทางทำให้เขาจำเป็นต้องหยุด

ระหว่างที่พากันหมดหวังอยู่นั้นเอง เด็กหนุ่มตัดสินใจทำสิ่งที่จะทำให้ฮาบุหายตัวไปตลอดชีวิตที่เหลือ

มาโคโตะตามหาฮาบุทุกวิถีทางแม้ว่าจะมีร่องรอยเพียงน้อยนิดจนกระทั่งพบว่าฮาบุอยู่ที่เนปาลในหมู่บ้านสุดท้ายก่อนปีนเอเวอเรสต์

มาโคโตะตามไปจนพบและขอปีนตามฮาบุไปห่างๆ เพื่อถ่ายรูปเท่านั้น

ฮาบุไม่เต็มใจในตอนแรกแต่รับข้อเสนอในภายหลังด้วยข้อแม้ว่าปีนตามเท่านั้นไม่ยุ่งเกี่ยวกัน แม้ช่างภาพจะเกิดอันตรายเขาก็จะไม่หันหลังมาช่วยอย่างเด็ดขาด

ส่วนเรื่องกล้องของมาลลอรี่นั้นฮาบุพูดเพียงสั้นๆ ว่าไร้สาระ

ช่วงสุดท้ายเป็นไคลแมกซ์ที่สุดยอดมาก ดังที่เรียนให้ทราบว่าเพราะลายเส้นของอะนิเมะทำให้เราเห็นชัดว่าสองคนทำอะไรบ้าง ไม่ต้องเพ่งดูเหมือนหนังปีนเขาเรื่องอื่นๆ ตอนจบก็ดีมากด้วย

หลังจากปี 1953 ยังคงมีนักปีนเขาหลั่งไหลไปเอเวอเรสต์เพื่อทำสถิติต่างๆ จำนวนนักปีนเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเส้นทางแออัด

ความเป็นความตายของนักปีนเขาส่วนหนึ่งขึ้นกับความเร็วในการเดินเท้าหรือปีนให้ผ่านแต่ละช่วงด้วย จะต้องผ่านเขตนี้ไปให้ได้ในเวลากี่ชั่วโมงหรือกี่วันก่อนอากาศจะเปลี่ยนแปลง เพราะหากทำไม่ทัน อันตรายที่เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลงนั้นถึงตายได้

การปีนเขาจึงมิใช่กิจกรรมเอ้อระเหยลอยชาย ต้องคำนวณเส้นทางและความเร็ว ความผิดพลาดคือความตาย และยังคงมีนักปีนเขาเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ

ทำไมต้องปีนเขา คำอธิบายหนึ่งคือกิจกรรมปีนเขาเป็นกิจกรรมที่นักปีนเขาต้องมีสติและสมาธิดีมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง

การประเมินสถานการณ์ทุกย่างก้าว การหยิบหมุดขึ้นมาตอกบนหน้าผาแต่ละครั้ง การขึงเชือกและการวางเท้าอย่างถูกต้อง เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องไม่วอกแวกเลยแม้แต่น้อย

นั่นทำให้ “โลกรอบตัวเงียบสงัด” มากที่สุด เป็นคำให้การที่นักปีนเขาว่าไว้ในงานวิจัยหลายชิ้น

สำหรับจิตวิเคราะห์จะสนุกกว่า ยอดเขาคือองคชาต เชือกปีนเขาที่อยู่ในแนวดิ่งตลอดเวลาก็เป็นองคชาตที่แข็งตัว

การปีนเขาเป็นการผจญภัยทางเพศชนิดหนึ่ง นำมาซึ่งสภาวะต้องหยุดหอบหายใจเป็นระยะๆ เสมือนสภาวะหลังถึงจุดสุดยอดฉะนั้น – อ่านสนุกๆ นะครับ •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์