เปลี่ยนเนียนๆ / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี / ญาดา อารัมภีร

เปลี่ยนเนียนๆ

 

ใครเคยคิดว่าคนแต่ละชาติ มีวิถีชีวิตหรือแบบแผนการดำเนินชีวิตคงที่เฉพาะตัว จะเปลี่ยนใจก็ยังไม่สาย เพราะวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาษา เครื่องแต่งกาย ความคิดความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ก็ตาม

ที่ไม่เคยมีก็มีได้ ที่ไม่เคยเห็นก็เห็นได้

ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตัวละครไทยและฝรั่งรับวิถีวัฒนธรรมของกันและกัน เริ่มจากภาษาที่ใช้ ดังตอนที่พระอภัยมณีเผลอตอบนางสุวรรณมาลีพระมเหสีเป็นภาษาฝรั่ง

“พระเคลิ้มคล้ายหมายมั่นว่าวัณฬา ทรงภาษาฝรั่งตอบบังอร”

แม้พระธิดาสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดาที่เกิดจากนางสุวรรณมาลี พระอภัยมณีก็สนับสนุนโดย

“ให้บุตรีพี่น้องสองธิดา ตรัสภาษาฝรั่งทั้งพูดไทย”

ความที่หลงใหลนางละเวงวัณฬาทำให้พระอภัยมณียอมเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ตามนางด้วย เมื่อนางอ้างว่า ‘ทั้งต่างรีตกีดขวางยังไม่เคย มิรู้เลยจะคิดอ่านประการใด’ พระอภัยมณีก็แสดงความจริงใจด้วยการที่

“จึงสัญญาว่าพี่แต่นี้ไป ไม่จากไกลทรามสงวนนวลละออง

จะตามเจ้าเข้ารีตฝรั่งด้วย จนมอดม้วยมิได้คิดเป็นจิตสอง”

เรื่อง ‘เข้ารีต’ นี้ใช่จะมีแต่พระอภัยมณียังรวมไปถึงศรีสุวรรณและสินสมุทร ดังที่สุดสาครรำพันอย่างท้อแท้ว่า

“จะพึ่งบุญพี่ยาพระอาเล่า ก็มาเข้ารีตเมียไปเสียหมด”

ทั้งนี้เพราะสินสมุทรพี่ชายเข้ารีตตามนางยุพาผกา เช่นเดียวกับศรีสุวรรณผู้เป็นอาก็เข้ารีตตามนางรำภาสะหรี พรรคพวกของนางละเวงวัณฬา

 

ซึ่งไม่ต่างจากนางละเวง เป็นฝรั่งนับถือศาสนาคริสต์แท้ๆ แต่ประสูติโอรสที่เกิดจากพระอภัยมณีในวันสำคัญทางพุทธศาสนา

“อันโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช คลอดหน่อนาถเมื่อวันเข้าพรรษา

เป็นชายเฉิดเลิศลักษณ์ดวงพักตรา เหมือนบิดาประหนึ่งหล่อลออองค์

ผิวฉวีสีสังข์สำอางอ่อน เหมือนมารดรแต่พระเกศเนตรขนง

ดูคมขำอำไพวิไลทรง มาตุรงค์ให้ชื่อพระมังคลา”

สังฆราชบาทหลวงอบรมสั่งสอนมังคลาให้ศรัทธาศาสนาคริสต์

“จงสัตย์ซื่อถือพระเยวาโห เหมือนกับโมเซสังวาสพระศาสนา”

แต่ทว่าความเจ็บช้ำอับอายขายหน้าที่ถูกนางละเวงหลอกสังฆราช

“จึงบอกเหล่าชาวบ้านทหารศิษย์ เดิมกูคิดกลศึกลึกหนักหนา

แนะความในให้มันอีวัณฬา เจียนจะฆ่าพระอภัยได้หลายครั้ง

มันสับปลับกลับเอาเขาเป็นผัว ช่างชาติชั่วผิดคนแต่หนหลัง

ถึงฆ่าฟันฉันใดกูไม่ฟัง จะไปวังด่าว่าให้สาใจ”

ความโกรธแค้นทำให้สังฆราชด่านางละเวงผู้นับถือศาสนาคริสต์ด้วยคำด่าที่พุทธศาสนิกชนอ้าปากค้าง

“เพราะสับปลับลวงกูผู้มีศีล ทั้งมือตีนจะต้องถ่างบนกางเขน

น้อยหรือรุมทุ่มเถียงขึ้นเสียงเกน อีเมียเถนเทวทัตสัตว์นรก”

กางเขน เป็นเครื่องหมายแทนพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขน สังฆราชนำมาบริภาษคาดโทษนางละเวงว่าต้องมีสภาพไม่ต่างกัน ร้ายกว่านั้นด่าว่านางคือ ‘อีเมียเถนเทวทัตสัตว์นรก’ พระเทวทัตเป็นพระสงฆ์ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของพระพุทธองค์ ทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายพระพุทธองค์ให้ย่อยยับ จุดจบของพระเทวทัตคือชดใช้กรรมหนักในนรกอเวจี

สังฆราชเปรียบนางละเวงว่าเป็นเมียเทวทัต พระสงฆ์ผู้มีพฤติกรรมต่ำทราม

 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สังฆราชบาทหลวงอ้างถึงยังเกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและเทพเจ้าองค์สำคัญที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันดี

“อันร่างเหมือนเรือนโรครับโศกสุข ตายแล้วทุกข์มันจะมีมาที่ไหน

กูสัตย์ซื่อถือมั่นแม้บรรไลย จะขึ้นไปเป็นพระอินทร์กินสุรา”

นอกจากนี้ ตอนทำพิธีศพของพระบิดาและอุศเรนด้วยการฝังและบรรจุในสุสาน ยังมี ‘การกรวดน้ำ’ อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายตามธรรมเนียมชาวพุทธอีกด้วย

“ให้ลูกหลานว่านเครือแลเชื้อสาย ได้ถวายข้าวตอกดอกบุปผา

ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน

แล้วกรวดน้ำทำบุญกับบาทหลวง ตามกระทรวงส่งให้ไปสวรรค์”

นอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ธรรมเนียมปฎิบัติของคนไทยสมัยก่อนยังเข้าไปมีส่วนในชีวิตประจำวันของสาวฝรั่งตั้งแต่นางกษัตริย์ไปจนถึงนางกำนัลเมืองลังกา

นางละเวงวัณฬาพูดถึงการอยู่ไฟหลังคลอดไว้ตอนหนึ่งว่า

“โอ้แสนเข็ญเห็นไม่รอดเมื่อคลอดลูก ต้องกินหยูกกินยาน้ำตาไหล

ยังมิหนำซ้ำจะร้อนต้องนอนไฟ ยิ่งทุกข์ใจเฝ้าสะอื้นกลืนน้ำตา”

เช่นเดียวกับนางกำนัลฝรั่ง ‘ฟันขาว’ กลายเป็น ‘ฟันดำ’ โดยอัตโนมัติ ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

“แล้วปิดห้องหับให้ลับลี้ แล้วสีซี่ให้ฟันเป็นมันขลับ”

“แป้งปรัดผัดนวลถ้วนแฉล้ม ยาฟันแต้มติดฟันเป็นมันขลับ”

เก๋ไปกว่านั้นคือ ภาพการปรนนิบัติเอาอกเอาใจพระอภัยมณีของนางละเวง พระสวามีโปรดเสวยหมาก เสวยมานานจนติด นางก็อุตส่าห์จัดเตรียมให้พร้อมสรรพ

“นางแย้มยิ้มพริ้มพรายชม้ายหมอบ ให้ชื่นชอบชั้นเชิงละเลิงหลง

เจียนหมากดิบหยิบพระศรีบุหรี่ทรง ถวายองค์พระอภัยอยู่ใกล้เคียง”

เห็นไหมล่ะ วัฒนธรรมเปลี่ยนได้เสมอ จะเปลี่ยนเพราะความจำเป็นหรือเต็มใจก็แล้วแต่

เปลี่ยนเนียนๆ ทั้งนั้น