เรื่องสั้น | สถานการณ์ฉุกคิด

แสงแดดอ่อนส่องทางด้านหลังชายวัยแปดสิบแปด เขาเป็นพ่อตาผมเอง นั่งกินข้าวเช้าด้วยกันที่โต๊ะหน้าบ้าน พ่อตาป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง กระเพาะอาหารอักเสบจนถ่ายเป็นเลือด และมีลิ่มเลือดอุดหัวใจ ภรรยาผมทำข้าวต้มให้

“วันนี้ภาวะฉุกเฉินมีผลแล้ว” ผมเปรยขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เป็นต้นไป

“กระทบกับพ่อด้วยละสิ แล้วเราจะทำยังไงพี่” ภรรยาผมถาม พ่อตาผม หมอนัดเจาะเลือดในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ ในเนื้อหาของ พ.ร.ก. พ่อตาโดนกระทบ และหากมีการยกระดับหรือประกาศมาตรการเข้มข้นในวันข้างหน้าก็อาจส่งผลหนักเข้าไปอีก

“เดี๋ยวฉันจะไปติดต่อที่โรงพยาบาล…ดู จะไปวันนี้เลย”

ผมไม่ได้มามาโรงพยาบาลแห่งนี้นานเป็นสัปดาห์แล้ว มันห่างจากบ้านสามกิโลเมตร ผมประหลาดใจ มีการปิดกั้นทางเข้า-ออกอื่นหมด โดยให้มีการเข้า-ออกเพียงช่องทางเดียวคือด้านหน้า และตรงทางเข้านั้นมีเจ้าหน้าที่สองคนยืนคัดกรองคนที่มาติดต่อโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ผมไม่เคยถูกจับวัดอุณหภูมิในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่ถ้าต้องติดต่อธุระที่นี่ จะรอดการคัดกรองไปได้อย่างไร ผมไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่พวกที่ติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ไม่มีญาติมาจากสนามมวยในกรุงเทพฯ อย่างที่เป็นข่าวใหญ่ ไม่ใช่คนเที่ยวผับ-บาร์ และในหมู่บ้านผมก็ไม่มีใครมาจากต่างประเทศหรือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงโรค แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังออกจากบ้านวันเว้นวันเพื่อไปทำธุระในตัวอำเภอ แต่ด้วยสภาพของการระบาดของโรค ผมรัดกุมมาก ออกไปนอกบ้านที สวมหน้ากาก ใส่แว่นตา ใส่เสื้อคลุม กลับเข้าบ้านมาผมถอดเสื้อผ้าตากแดดหมด ล้างมือด้วยสบู่ ตามด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ ผมตระหนักดีว่าหากผมป่วยและลามไปติดภรรยากับพ่อตา ต้องลำบากแน่ โดยเฉพาะพ่อตาสูงวัยขนาดนั้น อาจตายได้ ฉะนั้น เมื่อจะถูกคัดกรอง หัวใจผมจึงเต้นถี่

ผมก้าวไปข้างหน้า เจ้าหน้าที่สาวเท้าเข้ามา ยกเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายขึ้น ผมโน้มศีรษะให้เธอนิดหนึ่ง ขณะที่หัวใจยังเต้นเร็วผิดปกติ เธอจ่อเครื่องข้างขมับผม เพียงแค่ชั่ววินาที แต่นานมากในความรู้สึก เจ้าหน้าที่ลดเครื่องลง มองที่หน้าปัด ผมลุ้นตัวเลขที่จะปรากฏออกมา

“36.5 เชิญค่ะ” เจ้าหน้าที่ขาน ผมถอนใจ โล่งอกไปที

เดินไปไม่กี่เมตรก็ต้องพบกับเคาน์เตอร์ติดต่อ มีการขีดเส้นให้ยืนรอห่างกันราว 1 เมตร ซึ่งทุกคนก็เคร่งครัด ผมแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ โดยอธิบายเรื่องราวละเอียดยิบ

“เอ้…อย่างนี้ไม่ฉุกเฉินหรอกนะ คุณต้องเสียตังค์นะครับ” เจ้าหน้าที่พูดด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจ

“ยังงั้นเลยหรือครับ” ผมยังไม่ยอมจำนน อันที่จริงแล้วผมต้องการให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยกรณี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เช่นเขา

“ผมจะพบแพทย์ได้อย่างไรครับ อยากได้ข้อมูลที่มันชัดเจนจริงๆ เผื่อผมจะได้ตัดสินใจได้ทางใดทางหนึ่ง”

“ถ้างั้น คุณไปติดต่อที่ห้องเบอร์ 2 เลยครับ” เขาแนะนำ พลางผายมือไปด้านซ้าย

ผมเดินผ่านผู้ป่วย โรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลขนาดไม่ใหญ่ แต่ละวันผู้ป่วยมากล้น และยิ่งมีการปิดกั้นหรือจัดระเบียบสถานที่ใหม่ เช่น ให้นั่งเว้นระยะห่างกันตามหลักการโซเชียลดิสแทนซิ่ง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เสียที่นั่งไปมาก ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้มาติดต่อที่สวมหน้ากากอนามัยกันเสียส่วนใหญ่ จึงนั่งกระจายอยู่เต็มพื้นที่เลย

ผมปรี่ไปยังหน้าห้องหมายเลข 2 มีนางพยาบาล 2 คนนั่งอยู่ คนแรกตัวเล็กบอบบางสวมหน้ากากอนามัย ทำหน้าที่ซักประวัติผู้ป่วยก่อนจะได้เข้าพบแพทย์ อีกคนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รับเรื่องจากผู้ป่วยหลังได้พบแพทย์แล้ว และสวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน

“ผมอยากมาปรึกษาเรื่องผู้ป่วยหน่อยครับ” ผมเอ่ยขึ้น ใช้เสียงดังมากกว่าปกติ เพราะมีหน้ากากอนามัยกั้นอยู่

“เชิญนั่ง” นางพยาบาลตัวเล็กบอบบางว่า ผมลากเก้าอี้ถอยไปอีกนิด ทำตามกฎการห่างกัน ผมนั่งลงและอธิบายว่า ที่บ้านผมมีพ่อตามาพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาลแพร่แล้ว และในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ โรงพยาบาลแพร่สั่งให้ผู้ป่วยไปทำการตรวจเลือด เพื่อจะทำการปรับและรับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดกับโรงพยาบาลอำเภอวังชิ้น แต่ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุควรอยู่แต่ในบ้าน ไม่ควรเดินทางไปไหน หากไม่จำเป็นจริงๆ ฉะนั้น การจะไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลแห่งนั้นย่อมไม่สะดวกเท่าไหร่ ผมจะนำพ่อตามาตรวจเลือดที่นี่ได้หรือไม่

“ได้ค่ะ แต่มันไม่ฉุกเฉิน ก็ต้องเสียเงิน” เธอตอบทันที แทบไม่คิดอะไรเลย ผมเข้าใจ ในกรณีการใช้สิทธิการรักษาตัวต่างโรงพยาบาล ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยต้องจ่ายเงิน แต่ในกรณีนี้ผมพยายามจะชี้ให้เธอได้ฉุกคิดว่า มันไม่ใช่กรณีปกติธรรมดา มันอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ฉุกเฉินของสภาพของประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ฉะนั้น ต้องการให้เธอตีความเรื่องนี้เสียใหม่

“ถ้าผู้ป่วยจะมาตรวจรักษาที่นี่ก็ต้องเสียตังค์ตามปกติค่ะ” เธอกล่าวยืนยันหนักแน่น ไม่สนใจประเด็นของผม ผมวิตกว่านั่งนานเกินไปแล้ว เกรงกระทบต่อคนไข้รายอื่น แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่จบธุระดี จึงอธิบายความต่อว่า หากผมเดินทางไปยังจังหวัดแพร่ ลองฉุกคิดดูสิว่า จากเชียงใหม่นี้ต้องผ่านลำพูน ลำปาง แล้วเข้าแพร่ และลองตรองดูว่า ผมต้องผ่านด่านการคัดกรองมากแค่ไหน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า หากผมย้อนกลับมาเชียงใหม่ในวันถัดมา ผมจะไม่โดนให้กักตัวเองภายในบ้าน 14 วันเชียวหรือ ผู้ใหญ่บ้านผมค่อนข้างจะกวดขันเข้มข้นในเรื่องนี้ และถ้าผมต้องโดนไม่ให้ออกไปไหนเป็นเวลา 14 วัน มันย่อมกระทบกระเทือนแน่ ซึ่งผมไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นเลย

ถึงอธิบายในข้อจำกัดต่างๆ แบบนั้นแล้ว เธอก็ยังไม่พยายามเข้าใจ ยังย้ำด้วยคำพูดเดิมว่า “กรณีคุณไม่ฉุกเฉิน หากมาที่นี่ต้องเสียตังค์ค่ะ”

ผมอ่อนใจ ยอมถอยก้าวหนึ่ง “งั้นคุณลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูว่า ผมต้องจ่ายเท่าไหร่หากต้องยอมมาที่นี่”

เธอเปล่งวาจาทันที เหมือนมีตัวเลขในหัวอยู่แล้ว “ไม่กี่บาทเอง” ผมยิ้มแห้งๆ ไอ้ไม่กี่บาท มันคือเท่าไหร่กัน มันกว้าง จนผมไม่อยากจินตนาการตัวเลขที่แท้จริง

“เอาให้มันชัดกว่านี้ได้ไหมครับ” ผมเปรยอย่างใจเย็น “ผมจะได้ตัดสินใจถูกว่า ควรกลับไปที่วังชิ้น หรือจะมาตรวจเลือดที่นี่”

นางพยาบาลร่างเล็กบอบบางนิ่งคิดชั่วครู่ จากนั้นเอ่ยด้วยน้ำเสียงเร่งรีบคล้ายๆ ให้ผมจากไปตรงนี้เสียให้ได้ “ค่าเจาะเลือด 170 ค่าหมอ 100 ค่ายาไม่เท่าไหร่”

ไม่เท่าไหร่กับไม่กี่บาท มันก็ครือกันนั่นแหละ อะไรจะคลุมเครือได้ตลอด เธอคงเดาความรู้สึกของผมออก หรือไม่อยากให้ผมนั่งแช่ตรงนี้ ซึ่งผมก็ไม่ปรารถนาอยู่แล้ว จึงพูดว่า “เบ็ดเสร็จไม่กี่ร้อย”

“เฉียดพันไหม” ผมถาม

“ไม่หรอก” เธอตอบรวดเร็ว จากนั้นก็เอ่ยปากเรียกผู้ป่วย ผมรู้ทันทีว่า หมดเวลาของผมแล้ว

ผมยังไม่กลับออกไปทันที ยืนละล้าละลังอยู่แถวนั้น นางพยาบาลที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จึงเรียกถามผม “มีเอกสารของผู้ป่วยไหมคะ”

รู้สึกมีความหวังขึ้นมาทันใด “มีครับ” ผมล้วงเอกสารทั้งหมด ซึ่งเป็นใบนัดและรายละเอียดการจ่ายยาของโรงพยาบาลแพร่ออกมาจากย่าม

เธอเอาข้อมูลอะไรบางอย่างใส่เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ พลางตรวจเอกสารที่รับไปจากมือผม “โอ้ รายการยาเยอะมากเลย” เธออุทาน ผมอธิบายว่า ยาที่พ่อตาต้องกินทั้งหมดนั้น ยกเว้นยาวอร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทางโรงพยาบาลแพร่ได้จัดให้มากถึง 3 เดือนแล้ว

“ค่ะ” เธอเอ่ยขึ้นหลังจับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่นาน “หากรับยาวอร์ฟารินเพียงอย่างเดียว เอ้…เอาสักเท่าไหร่นะ” เธอถาม

“เอาให้ผ่านวิกฤตบ้านเมืองช่วงนี้ไปก่อน ก็สักเดือนเดียวพอ หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกทีครับ” ผมยึดเอาอายุของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นที่ตั้ง

“ยานี้กินเพียงวันละเม็ด ยกเว้นวันอาทิตย์ใช่มั้ย”

ผมพยักหน้า พลางตอบครับ เธอพูดต่อ “งั้นก็จัดยาไม่ถึง 30 เม็ด อ้า…ค่ายาก็ร้อยกว่าบาท เอ่อ…รวมค่าตรวจเลือดค่าบริการแล้วก็ไม่ถึง 500 บาท”

ผมกล่าวขอบคุณและชมเธอต่อหน้า

หากผมต้องขับรถไปยังจังหวัดแพร่ ก็ต้องเสียค่าน้ำมันรถ 6-7 ร้อยบาท และอาจเจอข้อกำหนดอะไรอีกหลายข้อจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น ผมตัดสินใจได้แล้ว ก่อนออกจากโรงพยาบาล ผมกดเจลแอลกอฮอล์ที่วางให้บริการในโรงพยาบาลล้างมือ

มาถึงบ้านกดโทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาลที่ผมเพิ่งจากมา “ขอชมเชยการทำงานของนางพยาบาลได้เลยไหมครับ” ผมถามกับโอเปอเรเตอร์

“ได้ค่ะ”

ผมไม่รู้ชื่อของนางพยาบาลคนนั้น จึงอธิบายตำแหน่งที่นั่งของเธอ แล้วกล่าวชื่นชมการทำงานหรือการให้บริการของเธอไปอย่างคร่าวๆ ผมไม่อยากให้ความดีของเธอสูญเปล่า มันจะได้ส่งผลในแง่กำลังใจของผู้ปฏิบัติงานและในแง่การพิจารณาความดีความชอบ ซึ่งมีผลต่อการขึ้นเงินเดือน ส่วนนางพยาบาลร่างเล็กบอบบางผมไม่ร้องเรียน ไม่มีอะไรต้องขัดแย้งด้วยในภาวะบ้านเมืองไม่ปกติแบบนี้ เพราะถ้าทำอย่างนั้น มันรังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ที่หนักหน่วงอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ได้ตำหนิเธอต่อหน้า หลังจากนั้นผมก็บอกกับภรรยาว่า พ่อตาสามารถตรวจเลือดได้ที่นี่ โดยเสียเงินเท่าไหร่

“ก็ดีนะ ค่ารักษาพอๆ กับค่าน้ำมันรถ ดีแล้วไม่ต้องเดินทางให้เหนื่อยและยุ่งยาก” ภรรยาว่า

วันที่ 1 เมษายน ผมพาพ่อตาไปเจาะเลือด ผมเลือกไปในช่วงบ่าย เพราะว่าผู้ป่วยไม่แออัด เรามาเพียงสองคน ออกจากบ้านให้น้อยคนมากที่สุด ลดการเสี่ยงติดโรคนั่นเอง การคัดกรองผู้คนยังเป็นเช่นเดิม อุณหภูมิผมไม่เกิน ส่วนพ่อตาเกินสองครั้ง แต่สุดท้ายก็ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ได้เมื่อได้นั่งพักนานๆ ที่หน้าห้องเบอร์ 2 นางพยาบาลซักประวัติไม่ใช่คนเดิม หล่อนซักถามละเอียด ผมอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องมารับการตรวจเลือดที่นี่ ฟังแล้วหล่อนเข้าใจ ผมจึงลองพูดเล่นๆ เพราะถ้าไม่เสียเงินค่ารักษาก็ดีกว่ามาก

“เคสอย่างนี้น่าจะเข้าข่ายฉุกเฉินนะครับ ขอความกรุณาได้ไหมครับ”

หล่อนนิ่งงันครู่หนึ่ง ก่อนคว้าใบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลยามฉุกเฉินมาให้พ่อตาเซ็น แล้วกล่าวว่า “เดี๋ยวจะลองให้ฝ่ายที่เขารับผิดชอบเรื่องสิทธิ์พิจารณาดูนะคะ”

ผมรู้สึกชื่นชม หล่อนไม่รีบรับหรือปฏิเสธทันที แต่เป็นธุระให้อย่างเต็มอกเต็มใจ

“เอาเอกสารนี้ไปเจาะเลือดที่ห้องเบอร์ 12 นะคะ”

ผมเข็นพ่อตาไป การเจาะเลือดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมได้ยินเจ้าหน้าที่แจ้งผลเลือดไปที่ไหนสักแห่งทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นผมกลับมาโต๊ะเบอร์ 2 อีกครั้ง นางพยาบาลคนเดิมแจ้งกับผมว่า ผลเลือดของพ่อตาผิดปกติไปมาก ซึ่งมีความอันตรายสูง ดังนั้น เรื่องอื่นไม่ต้องคำนึงถึงแล้ว การตรวจเลือดเพื่อปรับและรับยาหนนี้จะจัดให้เป็นกรณีฉุกเฉินเลย ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งการปรับการกินยานั้น ประเดี๋ยวให้หมอเป็นคนสั่งการ

ผมกล่าวคำขอบคุณอย่างสุดซึ้ง

หลังจากเสร็จธุระแล้ว ก่อนออกมาจากโรงพยาบาล ผมไม่ลืมฝากคำชมนางพยาบาลคนนั้นไว้ที่ห้องเวชระเบียน และเมื่อมาถึงบ้าน ผมก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาฟัง