หว่อปู๋ซื่อพานจินเหลียน อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา : เรื่องสุดดันทุรังบน “ความเยอะ” ของระบบราชการ

“ฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์ว่าการหย่าครั้งนั้นเป็นการหย่าปลอมๆ แล้วแต่งงานกับไอ้สารเลวฉินอวี้เหออีกรอบ เสร็จแล้วค่อยหย่ากับมัน”

ความวุ่นวายของการหย่าปลอมๆ ที่มีใบทะเบียนหย่าถูกต้องตามกฎหมาย ยาวนานถึง 20 ปี จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา (I Didn”t Kill My Husband) แปลจากนิยายจีนสมัยใหม่ที่มีชื่อว่า ฉันไม่ใช่พานจินเหลียน (หว่อปู๋ซื่อพานจินเหลียน) ของหลิวเจิ้นอวิ๋น นักเขียนรางวัลวรรณกรรมเหมาตุ้น โดยหยิบเอาความตลกร้ายในสังคมจีนระบอบคอมมิวนิสต์ที่ “ปิตาธิปไตย” มีความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ เป็นเหมือนศูนย์กลางอำนาจแห่งทุกสรรพสิ่งของที่นี่ มาเล่าผ่านหญิงบ้านนอกตัวเล็กๆ คนหนึ่ง อย่างหลี่เสวี่ยเหลียน ผู้กล้าท้าทายกับอำนาจของผู้ชาย ตั้งแต่อดีตสามี ผู้พิพากษา ข้าราชการ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม

ที่มีความเป็นชายแทรกซึมอยู่ในก้าวย่างที่เธอกำลังตะโกนเรียกหาเสียงตอบรับของความยุติธรรม

เรื่องสุดดันทุรังของการหย่าจริงที่เป็นหย่าปลอม

ย้อนกลับไปที่คำว่า พานจินเหลียน ที่ปรากฏในชื่อนิยายต้นฉบับภาษาจีน เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนเรื่องซ้องกั๋งและจินผิงเหมย ที่มีภาพจำเป็นหญิงชั่ว คบชู้ ยั่วยวนน้องชายสามี และวางแผนฆ่าสามีตัวเอง จนสุดท้ายต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของน้องชายสามีที่เธอหวังจะได้ครอบครอง

แต่หลี่เสวี่ยเหลียนของเรื่องอย่าเรียกฉันว่านังแพศยา ไม่ได้ไปยั่วผู้ชายคนไหนหรือนอกใจสามี เพียงแต่เธอถูกฉินอวี้เหอ อดีตสามีตราหน้าหาว่าเป็นพานจินเหลียน เป็นบาดแผลรอยแรกที่หลี่เสวี่ยเหลียนต้องต่อสู้กับสายตาของคนในสังคมที่มองกลับมาที่เธอ

บาดแผลอีกรอย เริ่มต้นจากนโยบายที่กำหนดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว ในรัฐบาลจีนยุคคอมมิวนิสต์ต้องการจำกัดประชากรในประเทศ หลี่เสวี่ยนเหลียนและฉินอวี้เหอมีลูกชายกันอยู่แล้วหนึ่งคน แต่เธอดันตั้งท้องลูกคนที่สอง แล้วพวกเขาจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ เมื่อการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนนับเป็นอาชญากรรม

ในที่สุดแผนการอันเฉียบแหลมของหลี่เสวี่ยเหลียนก็ผุดขึ้นมาเหมือนเป็นแสงสว่างในความมืดบอด

การแกล้งหย่ากันเป็นทางออกเดียวที่จะรักษาชีวิตลูกคนที่สองเอาไว้ ทั้งเธอและเขาพร้อมใจกันไปจดทะเบียนหย่ากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ทั้งคู่กลายเป็นพ่อหม้ายแม่หม้ายลูกติด แล้วกลับมาแต่งงานกันใหม่อีกครั้ง ครอบครัวสุขสันต์สี่คนพ่อแม่ลูก

เรื่องราวสุขสันต์ที่ว่านี้ คงมีแต่ในนิทานเท่านั้น หลังจากหย่ากันแล้ว ฉินอวี้เหอหอบเอาใบหย่าหนีไปแต่งงานเริ่มชีวิตใหม่กับหญิงอื่น

ทิ้งความเจ็บช้ำจากการถูกหักหลังและลูกสาวคนที่สองไว้ให้กับหลี่เสวี่ยเหลียน

การฟ้องร้องให้การหย่าครั้งนั้นเป็นโมฆะเพื่อที่จะได้กลับแต่งงานกับอดีตสามีจึงเริ่มต้นขึ้น

นั่นไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากความเสน่หาแต่อย่างใด เพียงเพราะเธอต้องการจะหย่าอีกครั้งให้สาแก่ใจด้วยมือของตัวเอง

แต่การที่หลี่เสวี่ยเหลียนเตรียมตัวขึ้นศาลนานนับเดือน กลับมีค่าเพียงไม่กี่สิบนาทีที่ศาลจะพิจารณาคดีหย่าร้างไร้แก่นสาร ก่อนลงความเห็นว่าเธอแพ้คดีและเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กจุกจิกกวนใจระบบยุติธรรมอันทรงเกียรติ

สองบาดแผลที่หยั่งรากลึกลงไปในทุกลมหายใจเข้าออกของหลี่เสวี่ยเหลียนกินเวลายาวนานถึง 20 ปี นั่นถือว่าเป็นเวลาที่นานมากสำหรับชีวิตของหนึ่งคนที่ต้องพิสูจน์เรื่องราวที่แทบจะไม่มีใครใส่ใจเสียด้วยซ้ำ เมื่อศาลช่วยเธอไม่ได้ หลี่เสวี่ยเหวียนก็ไปหาให้คนอื่นช่วยต่อ และหาต่อไป ต่อไป ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นวัฏสงสารหรือวงจรชีวิตของเธอ ไม่รู้จักจบสิ้น

สิ่งที่เธอพยายามต่อสู้อาจเป็นความดันทุรัง แต่ในมุมมองกลับกัน นั่นคือ ความซื่อแต่สู้

เรื่องผัวๆ เมียๆ

ที่สะท้อน “ความเยอะ”

ของระบบราชการ

บางครั้งที่อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าตัวเองเป็นหลี่เสวี่ยเหลียนจะทำอย่างไร

อยากจะหย่า? ก็มีใบหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

อยากจะล้างมลทินกับคำครหาที่ถูกตราหน้าว่านังแพศยา? แล้วเราจะไปเปลี่ยนความคิดใครได้ล่ะ

เวลาที่เสียไปเยอะแยะขนาดนั้นมันคุ้มค่าใช่ไหม

หลากหลายคำถามประดังประเดเข้ามาไม่หยุดหย่อนในขณะที่กวาดสายตาบรรทัดแล้วบรรทัดเล่า ในหัวก็ครุ่นคิดครั้งแล้วครั้งเล่าไม่แพ้กัน แต่สิ่งหนึ่งที่พุ่งตรงออกมาจากหน้ากระดาษให้รู้สึกได้อย่างชัดเจน นั่นคือ “ความเยอะ” ของระบบราชการ เยอะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจำนวนมากมายมหาศาลในแง่ปริมาณที่จำเป็น

และบางครั้งความชอบธรรมทางกฎหมาย อาจไม่ได้เป็นความยุติธรรมสำหรับใครหลายคน หลี่เสวี่ยเหลียนก็เช่นกัน ในตอนแรกของเรื่องที่เธอแสดงเจตนารมณ์แน่วแน่ในความต้องการฟ้องร้องการหย่ากับอดีตสามีให้เป็นโมฆะ ทั้งที่มันถูกต้องตามกฎหมายแล้วเพราะมีใบหย่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ และคิดว่าเธอไม่มีทางชนะคดีได้เลย

นอกจากนี้เรามองเห็นความเยอะแบบไร้เหตุไร้ผลของระบบราชการที่ปรากฏอย่างเด่นชัดอยู่ในเนื้อเรื่องที่ดำเนินท่ามกลางการต่อสู้เพื่อฟ้องร้องอย่างหัวชนฝาของหลี่เสวี่ยเหลียน

ขั้นตอนที่เยอะแยะวุ่นวายในการติดต่อราชการแต่ละครั้ง เส้นสายภายในระบบราชการที่โยงใยดุจรังแมงมุม การประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ระบบยุติธรรมไม่สามารถมอบให้ได้ รวมไปจนถึงการกระทำมิชอบของข้าราชการผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน เช่น การคุมตัวหลี่เสวี่ยเหลียนไว้ในบ้าน ทำให้เธอไม่สามารถออกไปประท้วงได้ เพื่อไม่ให้มีเรื่องราวเดือดร้อนมาถึงตัวเอง ทั้งที่ทั้งหมดล้วนเกิดจากการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น

ทุกสิ่งล้วนเผยออกมาให้เราเห็นในเรื่องอย่าเรียกฉันว่านังแพศยา บางคนอาจอยากเดินไปบอกกับหลี่เสวี่ยเหลียนว่าพอเถอะ เธอควรหยุดได้แล้ว เธอกำลังต่อสู้กับสิ่งที่เธอไม่มีวันจะได้ชัยชนะ

แต่ที่น่าแปลกคือเมื่อเรามองเห็นคนอย่างหลี่เสวี่ยเหลียนในชีวิตจริง บางครั้งเรากลับมองว่าเขาเหล่านั้นเป็นตัวประหลาด และสมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้นไปโดยปริยาย นี่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้

นี่ยังรวมไปถึงเรื่องราวลึกลับและผลประโยชน์ปริศนาของเหล่าบุคลากรในวงการราชการ นับว่าหลิวเจิ้นอวิ๋น ผู้เขียนสะท้อนหนึ่งมุมมองและความคิดต่อความล้มเหลวของระบบราชการจีนได้อย่างแยบยลจากเรื่องผัวๆ เมียๆ ที่ใกล้ตัว

แม้จะเป็นเรื่องราวจะมีฉากหลังเป็นประเทศจีน แต่กลับรู้สึกไม่ไกลตัวเลย

อาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่รู้สึกและสัมผัสได้ และอาจเป็นเพราะพวกเราทุกคนก็อยู่ใน “ความเยอะ” แบบไม่จำเป็นด้วยความเคยชิน เช่นเดียวกับหลี่เสวี่ยเหลียนต้องพบเจอ